เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน สืบเนื่องกรณีร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง บุตรชายพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง – Earth Pongsakorn Kwanmuang เชิญชวนให้เข้าชมความสวยงามของสวนสาธารณะหลังป้อมมหากาฬ โดยระบุ ข้อความ ว่า ความสวยงามหลัง #ป้อมมหากาฬ ใครจะรู้ว่า ด้านในป้อมมหากาฬ มี#สวนดอกไม้สีสวยสดใส ซ่อนอยู่ เป็นสวนอุทยานกลางโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สำหรับคนกรุงแห่งใหม่ ไม่ต้องไปไกลถึงภาคเหนือ ก็สามารถชมทุ่งดอกไม้หลากสีที่บานสะพรั่งพร้อมกัน เพื่อชวนให้คนเดินเข้ามาชมและถ่ายภาพยังมีจุดถ่ายรูปที่เอาใจสายแชะด้วย #ประตูทะลุมิติลายดอกไม้ที่มีเฉพาะที่นี่ และ #บันไดสวรรค์ ที่สามารถเดินขึ้นไปถ่ายรูปในมุมสูงได้ เป็นพร็อพที่เพิ่มลูกเล่นแบบเอาใจคนชอบถ่ายรูปกันแบบเต็มๆ งานนี้ อย่าลืม ชาร์จแบตกล้อง หรือแบตมือถือมาให้เต็มด้วยนะครับ สุดท้าย..หากไม่พูดถึงสถานที่ตั้งของทุ่งดอกไม้กับวิวโดยรอบแล้ว ก็จะไม่ครบรสครับ เพราะทุ่งดอกไม้แห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองในป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญ ทางประวัติศาสตร์ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ วิวโดยรอบที่สวยแบบ 360 องศา ไม่ว่าจะเก็บภาพดอกไม้คู่กับภูเขาทองในช่วงเช้าพระอาทิตย์ขึ้น หรือจะเป็นตอนเย็นที่ถ่ายรูปฝั่งโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม วรวิหาร ที่เป็นภาพพระอาทิตย์กำลังจะตกก็เป็น #ภาพที่สุดประทับใจ ที่ไม่แพ้กันทั้งคู่ครับ อีกทั้งยังติดแฮชแท็ก #กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า หลังภาพชุดดังกล่าว พร้อมข้อความได้เผยแพร่ออกไป มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมาก เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยต่อการสร้างสวนสาธารณะจากการไล่รื้อคน และชุมชนเก่าแก่ อาทิ ทำสวนดอกไม้ด้วยการไล่คนในชุมชนออก ถามจริงนั่นคือความภูมิใจหรือ ป้อมมหากาฬมีค่าแค่ความสวยงาม กับการพักผ่อนใจ โดยข้ามหัวคนในชุมชนเก่าแก่หรือ ไม่สวยทั้งรสนิยมและที่มา น่าเศร้า ความสวยงามชั่วคราว ที่มีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวได้มาเซลฟี่ ที่ต้องแลกมาด้วย วิถีชีวิตชุมชนของผู้คน คนจริงๆ ที่กลายเป็นความอัปลักษณ์ของเมือง และถูกแทนที่ด้วยดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งต่อมา ร้อยตำรวจเอก พงศกร ได้ชี้แจงผ่านช่องแสดงความคิดเห็นว่า การปรับปรุงพื้นที่ป้อมมหากาฬ เป็นประเด็นที่หลายคนมีความเห็นต่าง กลุ่มหนึ่งเห็นว่าควรให้ชุมชนเดิมอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เห็นควร ขอคืนพื้นที่นี้ ให้กลับมาเป็นแหล่งโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ของชาติ และพัฒนาปรับปรุงให้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับบริเวณป้อมพระสุเมรุและสวนสันติชัยปราการ กทม. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทำตามขั้นตอน โดยเริ่มจากรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนและประชาชนทั่วไป ความเห็นส่วนใหญ่ เห็นควรขอคืนพื้นที่ดังกล่าว และ กทม. ได้ทำความเข้าใจกับชุมชนก่อนล่วงหน้า พร้อมทั้งช่วยเหลือ เยียวยา และจ่ายค่าเวนคืนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน พ.ศ.2535
ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจากเพจเฟซบุ๊ก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang