สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว Chula UltimateX Library ห้องสมุดที่ให้บริการในรูปแบบ Unmanned Library แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ บริเวณชั้น 2 และชั้น M2 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธาน รองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ กล่าวต้อนรับและแนะนำ “สู่ Library วิถีใหม่ ... Unmanned Library” นอกจากนี้ภายในงานยังมีพิธีมอบรางวัลให้แก่นิสิตที่ชนะการคัดเลือกเป็น “Chula Library Brand Ambassador 2020” ได้แก่ นาย ธนพัต ลาคำ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนางสาว ณัฐฎ์ธิดา ขำเจริญ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงผู้ชนะการประกวดตั้งชื่อห้องสมุดแห่งนี้ ได้แก่ นางสาว สมิตานัน ชัยนิลพันธุ์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
Chula UltimateX Library ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย ภายใต้โครงการ CU NEX เป็นห้องสมุดที่ผสมผสานนวัตกรรมการบริหารจัดการห้องสมุดผ่านเครื่องบริการอัตโนมัติ และการบริหารจัดการอาคารด้วยเทคโนโลยีทางไกลแห่งแรกของประเทศไทย ให้บริการแบบ Unmanned Library โดยผู้รับบริการสามารถ รับบริการด้านต่าง ๆ ของห้องสมุดได้ด้วยตนเองผ่านเครื่องให้บริการอัตโนมัติ สามารถสอบถามข้อมูลต่างๆ ผ่านเทคโนโลยี โปรแกรมการสื่อสารและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ห้องสมุดจัดไว้ให้ในรูปแบบการให้คำปรึกษาทางไกล นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมการเปิด – ปิด ห้องสมุด การเปิด – ปิดระบบไฟส่องสว่าง เครื่องปรับอากาศ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านระบบปฏิบัติการบนคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือด้วยเครือข่าย internet ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ เพื่อขยายเวลาให้กับการเรียนรู้ที่ไม่มีขีดจำกัด
“ห้องสมุดแห่งนี้เกิดจากแนวคิดว่าในการให้บริการห้องสมุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากในอนาคตเราอาจจะมีปัญหาในเรื่องของกำลังคน การบริหารจัดการห้องสมุดที่ไม่ต้องมีบุคลากรจำนวนมากมาดูแลน่าจะคล่องตัวและ เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่บางครั้งเขาไม่อยากให้ใครมาคอยสอดส่อง” รศ.ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ เผยถึงที่มาของห้องสมุด Unmanned Library
รศ.ดร.อมร กล่าวต่อไปว่า Chula UltimateX Library เป็นห้องสมุดที่รวบรวมทรัพยากรจากคณะจิตวิทยา คณะสหเวชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพยาบาลศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งมีที่ตั้งอยู่รอบๆ ห้องสมุดนี้เข้ามาไว้รวมกันในที่เดียว ไม่ว่านิสิตคณะไหนก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบริหารจัดการห้องสมุดแบบแยกออกจากกันได้ ในส่วนของระยะเวลาที่เปิดให้บริการ เราต้องการให้เกิดความยืดหยุ่นตามความต้องการของนิสิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดและช่วงสอบ ซึ่งการเปิดนอกเวลานั้น โดยปกติเราจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับบุคลากรที่มาดูแล แต่เมื่อพัฒนามาเป็น Unmanned Library ซึ่งใช้ระบบสั่งการจากระยะไกล ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้เช่นกัน โดยมีทั้งระบบการดูแลความปลอดภัย มีระบบ WiFi มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เพียงพอต่อความต้องการ
“ขอเชิญชวนนิสิตและผู้สนใจเข้ามาใช้บริการ สำหรับบุคคลภายนอกก็สามารถมาใช้บริการได้ เพียงใช้บัตรประชาชน และสแกนบาร์โค้ดเช่นเดียวกับการใช้บริการที่หอสมุดกลาง จุฬาฯ เรามีแนวคิดที่จะพัฒนาห้องสมุดในลักษณะที่เป็น Unmanned library ที่สามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่มาประจำ มีความยืดหยุ่นในการให้บริการ และยังคงรักษามาตรฐานการให้บริการของห้องสมุด ตลอดจนดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการในระดับเดียวกับห้องสมุดทั่วไป ผมเชื่อว่าห้องสมุดแห่งนี้ จะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาห้องสมุดอื่นๆ ต่อไป” รศ.ดร.อมร กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ ไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาห้องสมุดแห่งนี้ให้เป็นห้องสมุดต้นแบบที่ทันสมัย ด้วยโครงการพัฒนาบริการในอนาคต อาทิ การเปิดให้บริการแบบ 24/7 เปิดให้บริการโดยไม่มีวันหยุด การพัฒนาให้เป็น พื้นที่อเนกประสงค์ที่พร้อมเป็นแหล่งจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการบริการ เพื่อให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่รองรับ lifestyle ในปัจจุบันและอนาคต