วางเป้าหมายภายในปี 65 คนไทยลดน้ำตาล-โซเดียม ชี้ปี 57 ไทยป่วยเบาหวานเกือบ 5 ล้าน ความดันฯอีกกว่า 13 ล้าน ขณะยังมีคนที่ไม่รู้ว่าเป็นเบาหวานอีกกว่า 43% ไม่รู้เป็นความดันกว่า 44% นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดก.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ให้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปี (พ.ศ.2560 – 2564) ครั้งที่ 1/ 2563 เมื่อวันที่ 25 พ.ย.63 โดยคณะกรรมการ ฯ ได้เห็นชอบการขับเคลื่อนนโยบายเร่งรัดการป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน (Together Fight NCDs) โดยมีเป้าหมายภายในปี 65 ให้คนไทยลดบริโภคน้ำตาลและโซเดียมลงร้อยละ 30 หรือลดอาหารหวานมันเค็มลง เพิ่มการออกกำลังกายและมีกิจกรรมทางกาย ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ รับทราบตัวเลขที่บ่งชี้สุขภาพและระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ ภาวะอ้วน โดยค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ควรเกิน 23, ความดันโลหิตสูง ไม่เกิน 120/80 mmHg ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 100 mg/dl โดยสามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Thai CV Risk Score นอกจากนี้ จะลดผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นลงร้อยละ 50 และผู้ที่ป่วยที่เข้ารับการรักษาสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันโลหิตได้เกินครึ่ง นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับองค์กร โดยให้มีแกนนำด้านสุขภาพ (Chief Health Officer) เพื่อจัดมาตรการสร้างเสริมสุขภาพระดับองค์กรในทุกหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับกรม โดยบุคลากรสังกัดก.สาธารณสุข ต้องตรวจสุขภาพประจำปี, จัดโรงอาหารทุกกรมเป็น Healthy Canteen จัดอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ, จัดสถานที่และสร้างบรรยากาศให้บุคลากรในสังกัด เพิ่มกิจกรรมทางกายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ส่งเสริมสนับสนุนบุคลากร ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ และเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ข้อมูลกรมควบคุมโรคล่าสุดปี 57 คนไทยป่วยโรคเบาหวานร้อยละ 8.9 หรือ 4.8 ล้านคน โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 24.7 หรือ 13.3 ล้านคน ข โดยข้อมูลปี 62 มีผู้ที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวานร้อยละ 43.1 ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รักษาร้อยละ 2.7, ผู้ป่วยที่รักษาแต่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ร้อยละ 30.6 ส่วนผู้ที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นความดันโลหิตสูงร้อยละ 44.7 ผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาร้อยละ 6.1, รักษาแต่ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้ร้อยละ 19.5