ทั้งผักสด ผลไม้ น้ำดื่ม ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน แนะปรุงสุก ชี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ โดยจะขึ้นกับชนิดและตำแหน่งที่พยาธิอยู่ ระบุไม่ควรซื้อยาถ่ายพยาธิกินเอง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ดิบ เช่น เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่ว ลาบดิบ แหนมดิบ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย กรมฯขอให้ข้อมูลว่า การรับประทานเนื้อวัว เนื้อควาย หรือเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ มีความเสี่ยงเป็นโรคพยาธิตัวตืดได้ หากในเนื้อนั้นมีถุงพยาธิตืดลักษณะคล้ายเม็ดสาคูที่มีตัวอ่อนพยาธิอยู่ ซึ่งตัวอ่อนจะเติบโตเป็นพยาธิตัวแก่ในลำไส้เล็กของคน รวมทั้งการกินผักสด ผลไม้ หรือน้ำดื่มที่มีไข่พยาธิปนเปื้อน ไข่พยาธิจะโตเป็นตัวอ่อน สร้างถุงหุ้มตัวเป็นถุงพยาธิตืดตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายคน เช่น สมอง ตา หัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อ หากอยู่ในสมองและไขสันหลัง อาจทำให้มีอาการทางระบบประสาท ชัก อาจรุนแรงถึงตาย หรืออยู่ในตาอาจตาบอดได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวตืดในลำไส้ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ บางรายอาจมีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้ เหนื่อยล้า อ่อนแอ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว มีถุงน้ำหรือก้อนเนื้อตามร่างกาย ซึ่งอาการจะขึ้นกับชนิดพยาธิตัวตืดและตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่ หากมีอาการไม่ควรซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง โดยแพทย์จะให้ยาตามน้ำหนักตัวคนไข้และแนะนำให้กินยาก่อนนอน เพื่อลดผลข้างเคียงของยา เช่น วิงเวียนและคลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น คนที่เป็นโรคพยาธิตืดหมู ควรกินยาขณะท้องว่างและกินยาระบายด้วย เพื่อลดโอกาสเกิดการขย้อนปล้องสุกของพยาธิกลับเข้าไปในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้เป็นโรคถุงพยาธิตืดได้ ส่วนคนที่เป็นโรคถุงพยาธิตัวตืดในอวัยวะต่างๆ และไม่มีอาการ อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากเป็นที่สมองและมีอาการชัก ปวดศีรษะมาก อาจต้องให้ยารักษาหรือผ่าตัดตามความเหมาะสม ทั้งนี้ นพ.โอภาส ได้แนะนำประชาชนให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล รับประทานอาหารยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารที่ปรุงจากเนื้อวัว เนื้อควาย หรือเนื้อหมูที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ผ่านการตรวจจากโรงฆ่าสัตว์แล้วเท่านั้น ล้างผักสดและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ดื่มน้ำสะอาด ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหารและหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422