สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท “เจ้าสำนักทางพุทธาคมอันยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” พระอาจารย์ทางพุทธาคมรูปแรกของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ วัตถุมงคลของท่านล้วนแต่เป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นที่นิยมสะสมทั้งสิ้น สำหรับ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 นับเป็นเหรียญที่มีค่านิยมสูง ด้วยพุทธลักษณะอันงดงาม พุทธคุณเป็นที่ปรากฏ และยังเป็นเหรียญเพียงรุ่นเดียวที่มีรูปเหมือนของหลวงปู่ศุข เป็นหนึ่งในห้าเหรียญยอดนิยมที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
ผู้สร้าง
พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข เป็นชาวชัยนาทโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2396 แถบวัดปากคลองมะขามเฒ่า เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เมื่ออายุครบ 22 ปี ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จาก หลวงพ่อเชย จันทสิริ อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง ผู้ทรงคุณทั้งด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคมเข้มขลังนัก ต่อมามารดาชราลงและเจ็บไข้บ่อยๆ หลวงปู่ศุขจึงเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า แล้วขยับขยายออกมาที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่าจนเสร็จสมบูรณ์
ท่านเริ่มสร้างวัตถุมงคลเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของมารดา เป็น “พระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมี” ผู้ที่ได้รับเหรียญไปบูชา เกิดปาฏิหาริย์ปรากฏด้านอยู่ยงคงกระพันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเขี้ยวงา อีกทั้งภยันตรายต่างๆ ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณโด่งดังขจรไกล หลวงพ่อศุข มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2467
เนื้อหามวลสาร
หลวงปู่ศุข มักจะใช้เนื้อตะกั่วเป็นพื้น เพราะการสร้างและหล่อหลอมตลอดจนวัสดุที่นำมาสร้าง หาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น
พุทธลักษณะ
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปไข่กลม ห่วงเชื่อม พิมพ์ด้านหน้า มีเพียงหนึ่งพิมพ์ ขอบเหรียญโดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 2 ชั้น ชั้นนอกหนา ชั้นในเรียวเล็ก ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่ศุข นั่งเต็มองค์แบบสะดุ้งกลับ ครองผ้ารัดประคด อยู่เหนืออาสนะลายผ้า รองรับด้วยรูปโบหางแซงแซว ระบุ พ.ศ.ที่สร้างไว้อย่างชัดเจนคือ “๒๔๖๖” ด้านบนโดยรอบมีอักษรภาษาไทยจารึกสมณศักดิ์และชื่อวัดอย่างชัดเจนว่า “พระครูวิมลคุณากร วัดปากคลองมะขามเฒ่า” ด้านข้างของรูปเหมือนทั้งสองข้างมีอักขระขอมตัว “อุขึ้น อุลง” พิมพ์ด้านหลัง โดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 3 เส้น ระหว่างช่องว่างประดับด้วยเม็ดไข่ปลาลักษณะเป็นตุ่มนูน ตรงกลางทำเป็น “ยันต์ 3” หมายถึง พระไตรสรณคมน์ ล้อมยันต์ด้วยหัวใจธาตุ คือ “นะ มะ อะ อุ” ด้านบนเป็นคาถาพระเจ้า 5 พระองค์คือ “นะ โม พุท ธา ยะ” ส่วนอักขระด้านล่างยันต์ คือ “อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ” โดยแบ่งแยกออกเป็น 4 พิมพ์ ได้แก่ 1) พิมพ์หลังไม่มี “อุ” เป็นพิมพ์นิยม หนึ่งในเบญจภาคีเหรียญพระสงฆ์ 2) พิมพ์หลังมี “อุ (เล็ก)” คือ จะมีอักขระขอมตัว “อุ (เล็ก)” แทรกอยู่หน้าตัว “นะ” และหลังตัว “ยะ” 3) พิมพ์หลังมี “อุ (ใหญ่)” เช่นเดียวกับพิมพ์ที่ 2 แต่ตัว “อุ” จะใหญ่กว่า และ 4) พิมพ์หลัง “อุ และมีดาว”
พุทธคุณ
ครอบจักรวาล โดยเฉพาะแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี