ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“รากฐานแห่งความยุติธรรมบนโลกนี้ อุบัติขึ้นจากเบ้าหลอมแห่งจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ ตราบใดที่ความมืดมนแห่งอคติไม่สามารถบรรลุถึงความสำเร็จในการยึดครองจิตใจมนุษย์ ความอยุติธรรมนานาย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโครงสร้างแห่งแก่นแท้ของความเป็นตัวตน
เหตุนี้..ชีวิตจึงต้องพรั่งพร้อมไปด้วยจิตพิสัยอันสงบงามและถาวร หยั่งรู้ถึงสิ่งอันควรหรือไม่ควรในทุกๆห้วงขณะ เพื่อจะปกป้องความหมายอันล้ำค่าของความดีงามเอาไว้กับนิวาสถานของความไม่ผิดบาป/..ความล้มเหลวอย่างสาหัสของความยุติธรรมอยู่ที่ภาวะของมนุษย์ที่ไม่แม่นตรง/หลงใหลติดตรึงอยู่กับอำนาจ ท่ามกลางความโสมมของสำนึกคิดที่กระจัดกระจายไปด้วยสรรพกิเลส มันจึงเป็นผลให้หลักยึดของมนุษย์ทั้งแกว่งไกวและซวดเซไกลห่างไปจากความดีงามแห่งยุติธรรมไปมากขึ้นทุกที/...นั่นอาจถือเป็นบทเรียนที่ต้องตกผลึกและเข้าใจกันให้จงได้...ในยุคสมัยที่คุณค่าของมนุษย์ต่างถูกฉาบหน้าด้วยมายาคติ...จนสิ้นหวังกันไปอย่างถึงที่สุด....”
นี่คือปฐมบททางความคิดที่ผมได้รับจากการอ่านหนังสือแห่งคุณค่าของยุคสมัยเล่มสำคัญ ความยุติธรรม/Justice:What’s the Rigth Thing to Do ซึ่งเขียนและเรียบเรียงเป็นสาระเนื้อหาที่ล้ำค่าโดย
"Michael J. Sandel/และได้รับการแปลอย่างงดงามและสร้างสรรค์โดย” สฤณี อาชวานันทกุล”
ต้นเค้าของหนังสือเล่มนี้..มาจากวิชาเรียนในห้องเรียนที่ได้รับความนิยมมากว่า 2 ทศวรรษของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และกลายเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านที่ใฝ่การศึกษาอย่างยิ่งจนได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 3 ครั้ง..
“ความยุติธรรมที่เรากล่าวอ้างและถกเถียงกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวตั้งแต่ภายในครอบครัวไปจนถึงเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ทั้งหมดมักจะจบลงด้วยเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกัน...นั่นคือการแสวงหาและนำเอาผลประโยชน์เข้าหมู่พวกของตนเอง/รวมทั้งการตีตราชี้หน้าต่อผู้อื่นว่า "ฉันถูก แกผิด/กูถูก มึงผิด” อันถือเป็นการล่ามโซ่ตีกรอบความหมายของมันไว้อย่างคับแคบ/ด้วยขบวนการสร้างวาทกรรมต่างๆนานาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ขาวหรือดำ ในภาพรวมทั่วๆไป/หรือในนัยเหลืองหรือแดง..เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นและแปดเปื้อนในสังคมแห่งประเทศชาติบ้านเมืองของเรา...สิ่งต่างๆเหล่านี้อุปมาเปรียบดั่งการล่ามโซ่ตรวนต่อกรอบความหมายของสิ่งที่สมควรจะเป็นอย่างคับแคบ/ทั้งๆที่ในโลกแห่งความเป็นจริง มีความหมายต่างๆมากมายหลากหลาย/มันซับซ้อนกว่านี้/หรืออาจจะมีความหวังมากมายกว่านี้มาก...”
ในโลกแห่งปัจจุบัน...ด้วยสภาวะแห่งเงื่อนไขที่เป็นจริงเบื้องต้น/จึงส่งผลให้กระบวนการของความยุติธรรมทั้งระบบถูกตั้งคำถามอย่างมากมายในหลากหลายประเด็น ความขัดแย้งทั้งในระดับโลกหรือแม้แต่ในประเทศของเราล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและยากจะคลี่คลาย..ส่งผลให้การหวังที่จะคว้าจับถึงความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ยากแสนยากและเหมือนว่าจะถอยห่างออกไปจนไกลเกินเอื้อมมากขึ้นทุกที..
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้จึงคือว่า.. “ความยุติธธรรมจะบังเกิดขึ้นได้อย่างไร...ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจมัน...!” “ไมเคิล” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด...ได้ใช้ปรัชญาทางการเมืองจากหลายสำนักทั้งอดีตและปัจจุบัน ส่องประเด็น สาธารณะร่วมสมัยที่ผู้คนให้ความสนใจ...เช่นความรักและการแต่งงานในเพศเดียวกัน การโก่งราคาในภาวะฉุกเฉิน การเกณฑ์ทหาร การอุ้มบุญ การการุณยฆาต โบนัสมหาศาลของผู้บริหารธนาคาร การเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน รวมทั้งสิทธิส่วนบุคคลต่อประโยชน์สาธารณะ..ทั้งหมดคือโครงสร้างแห่งปัญหาเรื่องราวที่ถูกแกะรอยและตีความอย่างรัดกุมโดยผู้เขียนที่ถือเป็นตราประทับแห่งคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ กอปรกับ “สฤณี” ..ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ยังเคยนั่งเรียนวิชาความยุติธรรมกับอาจารย์ “ไมเคิล”...นั่นจึงส่งผลให้ได้ประจักษ์ว่า วิชานี้มีผู้เรียนกว่าหนึ่งพันคนทุกภาคเรียนมากว่าสองทศวรรษแล้ว/แต่ถึงจะมีผู้เรียนมากมาย “ไมเคิล” ก็สามารถสอนผู้เรียนจนแตกฉานและก่อเกิดความคิดอันแหลมคมมารุ่นต่อรุ่น ด้วยความมีชีวิตชีวาและทายท้าความคิดอย่างถึงที่สุด...การสอนของเขาถูกสรุปว่า..เป็นการถ่ายทอดบทสนทนาและการถกเถียงในชั้นเรียน ราวกับยกวิชานี้ทั้งหมดในตำนานมาไว้ยังหน้ากระดาษ ซึ่งนอกเหนือจากผู้เรียนจะได้ความรู้ในทางประวัติศาสตร์ทางด้านความคิดและสาระเนื้อหาของปรัชญาการเมืองตะวันตกแล้ว/...หนังสือเล่มนี้ยังถือเป็นแบบอย่างของปัญญาปฏิบัติ ซึ่งก็คือการใช้เหตุผลในเชิงสาธารณะ เพื่อถกมิติทางประเด็นศีลธรรมในนัยของสาธารณะ ทั้งนี้ก็เพื่อจะก่อเกื้อชีวิตและประโยชน์ในทางสาธารณะที่สมควรจะเป็นอย่างสูงสุดและเป็นที่ยอมรับกันต่อไป...
โดยบรรทัดฐาน...ไมเคิลได้ฉายภาพแห่งแก่นสารของหนังสือเล่มนี้...ผ่านเหตุการณ์ต่างๆที่มีการถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันโดยแบ่งปันแนวคิดแห่งอรรถประโยชน์นิยม และแนวคิดในสิทธิของการเคารพบุคคล...ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจอย่างไรแต่สิ่งที่ไมเคิลพยายามชูประเด็นขึ้นมาก็คือเรื่องความยุติธรรมกับศีลธรรมและจริยธรรม...ในตรงบทสุดท้ายไมเคิลได้สรุปแนวคิดของเขาว่า...ความหมายของความยุติธรรมที่เขาต้องการคือ...ความยุติธรรมที่ปลูกฝังคุณธรรมและใช้เหตุผลว่าด้วยความดีสาธารณะ...ซึ่งแนวคิดจากเนื้อหาทั้งหมดมี 3 วิธีด้วยกันคือ..
1.ความยุติธรรม หมายถึง การสร้างอรรถประโยชน์หรือสวัสดิการสูงสุด หรือความสุขที่ให้กับคนจำนวนมากอย่าง..กรณีของชาวคริสต์ที่ถูกจับให้สิงโตกินนั้นถูกต้องเหมาะสมแล้วเพราะประชาชนชาวโรมัน ต่างก็พอใจสนุกกับการได้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดของเหยื่อชาวคริสต์ที่นำมาแสดงในโคลอสเซียม..และนำมาซึ่งความสุขของพวกเขา หรือเรื่องกะลาสีเรือที่รอดชีวิตกลับมาได้ด้วยการดื่มน้ำทะเลก็ถือว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว พวกเขาสามคนรอดกลับมาได้โดยไม่สนใจการทัดทานไม่ให้ดื่มน้ำทะเลแต่อย่างใด พวกเขาถือเป็นความสุขที่กลับมาได้ เหตุนี้อาการเจ็บป่วยของพวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะยื้อชีวิตไปจนถึงวันอื่นที่คนอื่นจะมาพบได้หรือไม่..เหตุนี้การยังชีพของคนสามคนด้วยการ “ฆ่า” เพื่อเอาเลือดเนื้อมาดื่มกินนั้นจึงเป็นการสมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลย เมื่อขณะอยู่ต่อหน้าผู้พิพากษาในศาล
2.ความยุติธรรมหมายถึงการเคารพต่อเสรีภาพในการตัดสินใจ...ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจของผู้คนใดในตลาดเสรี หรือการตัดสินใจแบบสมมติ ที่คนจะเลือกในจุดตั้งต้นของความเท่าเทียม เช่นกรณีศึกษาในเรื่องการเกณฑ์ทหาร กับการจ้างคนไปเกณฑ์ทหารซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ..หากใครไม่ปรารถนาเป็นทหารก็สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวน300เหรียญให้รัฐ ซึ่งเทียบได้กับค่าจ้างของคนงานไร้ฝีมือทั้งปี หรือหาคนแทนที่โดยเสนอค่าจ้างในปริมาณที่สูง..ซึ่งคนจนที่ต้องการเงินก็อาจยินยอมเสี่ยงตาย..
3.ความยุติธรรมหมายถึงการปลูกฝังคุณธรรมและใช้เหตุผลว่าด้วยความดีสาธารณะ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไมเคิล ปรารถนา โดยเขาให้เหตุผลว่า....วิถีของอรรถประโยชน์มีข้อบกพร่องสองข้อ..อันประกอบด้วย..ข้อแรก มันทำให้ความยุติธรรมและสิทธิเป็นเรื่องของการคิดคำนวณไม่ใช่เรื่องของหลักการ...ส่วนข้อสองก็คือการพยายามที่จะแปลงความดีงามทั้งหมดของมนุษย์เป็นมาตรวัดการบอกอีกว่า..สังคมที่ยุติธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงจากการสร้างอรรถประโยชน์สูงสุดหรือการรับประกันว่าทุกคนมีเสรีภาพในการตัดสินใจ...การสังคมที่ยุติธรรมจึงแปลว่า..เราต้องใช้เหตุผลร่วมกันถึงความหมายแห่งชีวิตที่ดี และสร้างวัฒนธรรมสาธารณะเพื่อโอบอุ้มความเห็นต่าง...ซึ่งหนีไม่พ้นว่าจะต้องเกิดขึ้น
“หรือกรณีตัวอย่างอื่น..ที่ชวนคิด เช่นการซ้อมทรมานนั้นเป็นความชอบธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะการซ้อมผู้ต้องสงสัยว่าวางระเบิด ในขณะที่เขาปฏิเสธถามว่าถูกต้องหรือไม่ที่จะต้องทรมานบุคคลผู้นี้ ซึ่งถ้าคิดบนพื้นฐานของอรรถประโยชน์ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะ หากผู้นี้สารภาพข้อเท็จจริงก็อาจจะช่วยผู้บริสุทธิ์ที่จะตกเป็นเหยื่อหลายพันคน/คนเจ็บปวดแค่คนเดียวแต่จะสร้างความสุขให้คนหมู่มาก/สำหรับกรณีเช่นนี้ไมเคิลมองว่า ความจริงแล้วนักอรรถประโยชน์ทุกคนก็ไม่ได้เห็นด้วยไปเสียทุกคนเพราะรู้ดีว่า ข้อมูลที่ได้จากผู้ต้องสงสัยอาจเชื่อถือไม่ได้ พวกเขาต่างมองบนพื้นฐานว่า...ผู้ต้องหาเจ็บปวดแต่ชุมชนกลับไม่ได้ปลอดภัยไปกว่าเดิม หรือพวกเขาอาจจะมองต่อว่า หากมีการซ้อมทรมานมาก ทหารแห่งประเทศของเขาก็อาจถูกปฏิบัติอย่างรุนแรงกว่าเดิม เพราะฉะนั้นฐานคิดนี้ นักสิทธิมนุษยชนอาจมองว่า...เป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์”
ในท้ายที่สุดของหนังสือไมเคิลได้มีข้อเสนอแนะผ่านวาทกรรมทางด้านการเมืองผ่านเหตุผลร่วมกันที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรมเอาไว้ในหลายประเด็นนับแต่..ความเป็นพลเมือง การเสียสละและการบริการสังคม อันหมายถึงการให้พลเมืองไม่ต้องเสียสละ แต่พลเมืองต้องใช้จ่ายออกไป โดยรัฐจะเป็นผู้ออกเงินอุดหนุนซึ่งแนวนโยบายนี้ก็เหมือนจะสร้างความยุติธรรมแต่ก็มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ โดยเฉพาะการใช้อำนาจควบคุมให้พอเหมาะพอดีซึ่งเป็นไปได้ยาก/นอกจากนี้ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในขีดจำกัดทางศีลธรรม กลไกการตลาด ความสามัคคี และคุณธรรมอันยอกย้อนสำหรับพลเมือง/กระทั่งดุลยภาพในวิถีของความยุติธรรม..ในข้อจำกัดของการมีส่วนร่วมในทางการเมือง..อันชอบธรรมต้องสูญสิ้นไป
จุดเด่นของ “ความยุติธธรรม” คือเป็นหนังสือแห่งการประกอบสร้างด้วยภาพแสดงแห่งการกระทำและความคิดอันหลากหลาย/ด้วยภูมิรู้ของผู้เขียนที่สามารถตีแผ่และวิเคราะห์โลกผ่านประเด็นแห่งปริศนาอันยากจะตีความนี้อย่างเข้าใจ//..ยังมีส่วนของการอรรถาธิบายอยู่อีกหลายส่วน ซึ่งเว้นช่องว่างไว้ให้ผู้อ่านได้ตีความกันต่อ..
ผ่านหนังสือแห่งสำนึกคิดที่มีชีวิตชีวาเล่มนี้นับแต่บทเริ่มต้นมาจนถึงถ้อยคำท้ายสุด ที่หยั่งเห็นถึงอำนาจชองความ “ยุติธรรม” ได้อย่างกระจ่างชัด/ทั้งเข้าใจ ย้อนแย้ง รวมทั้งสร้างทางขวางทางความคิดขึ้นมาใหม่เพื่อพิสูจน์แก่นแท้แห่งความเป็นโลกและสังคมของเรา โดยปราศจากทั้งความคลุมเครือและอำพรางใดๆ...อีกต่อไป
“หนังสือเล่มนี้เหมาะกับนักการเมืองทั้งหลาย เพราะจะทำให้พวกเขาและผู้อ่านโดยทั่วไป ได้ไตร่ตรองแนวคิดต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก...ที่บางครั้งมนุษย์เองก็ไม่ได้ตั้งคำถาม แต่กลับปฏิบัติจนเคยชิน....!”