"บิ๊กป้อม"ฮึ่ม! ไม่ยอมให้ขน"ม็อบชนม็อบ" ย้ำห้ามเข้าใกล้"สนง.ทรัพย์สินฯ"ในรัศมี 150 เมตร "บช.น."สั่งด่วนจัดเตรียมกำลัง 39 กองร้อย จำนวน 6,045 นาย ดูแลการชุมนุม 25 พ.ย. ด้าน"ศธ.-กรมการปกครอง"ประกาศให้ ขรก.ทำงานที่บ้าน "ม.สวนดุสิต"ประกาศหยุดเรียน "ชวน"แถลงตั้ง"21 คกก.สมานฉันท์" ดึงม็อบ 2 ฝ่ายร่วมหาทางออกประเทศ "ปธ.วิปฝ่ายค้าน"เชื่อพอมีความหวัง ขณะที่"ถาวร"งัดหลักฐานมัด"ธนาธร-ปิยบุตร"อยู่เบื้องหลังม็อบจ้องล้มสถาบัน "เอ๋-ปารีณา"ขึ้นโรงพักกลางดึก แจ้งความเอาผิดหญิงในกลุ่มนักเรียนเลว ชูป้ายโดนทำอนาจาร เมื่อวันที่ 24 พ.ย.63 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนัดชุมนุมใหญ่ของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ว่า ยังคงยืนยันห้ามไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเข้าใกล้พื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในระยะรัศมี 150 เมตร ส่วนข้อกังวลของการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เห็นต่าง ที่บางส่วนประกาศว่าจะไปเคลื่อนไหวในจุดเดียวกัน พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า ไม่มีไปเผชิญหน้ากัน ส่วนความกังวลกับมือที่สามที่อาจเข้ามาสร้างสถานการณ์ พล.อ.ประวิตร ยอมรับว่า ต้องระวัง และได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้ว ส่วนตัวได้ย้ำว่าจะไม่ยอมให้มีโอกาสขนม็อบมาชนม็อบ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุมแน่นอน ด้าน พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(โฆษก ตร.) เปิดเผยถึงกรณีการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศชุมนุมหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 พ.ย.โดยยอมรับว่า เป็นห่วงเรื่องสถานการณ์การชุมนุม เนื่องจากสถานที่ที่ผู้ชุมนมประกาศรวมตัวค่อนข้าง มีความละเอียดอ่อนและเป็นสถานที่สำคัญ แต่ยืนยันว่าตำรวจมีความพร้อมในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม และกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง ไม่ให้มีการปะทะกัน ที่ผ่านมามีบทเรียนและมีช่องว่าง ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งตำรวจต้องศึกษาและนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก ซึ่งการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่มมีอยู่ในแผน พ.ร.บ.การชุมนุมอยู่แล้ว พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวอีกว่า ส่วนหลักการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำผิดในข้อหาใด ตำรวจมีหน้าที่ดำเนินการตามกฏหมายไม่จำเป็นต้องมีนโยบายใดมาสั่งการ แต่ที่ผ่านมายังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายใดต้องถูกดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม มีรายงาน กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) มีหนังสือด่วนสั่งการให้มีการจัดเตรียมกำลัง ดูแลความสงบเรียบร้อย ในการชุมนุมวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่บริเวณหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยระดมกำลัง จากตำรวจภูธรภาค 1- 8 บช.น และ. ตชด ฯลฯ ดูแลรวม 39 กองร้อย จำนวน 6,045 นาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานที่ราชการที่อยู่ในระแวกใกล้เคียงกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ประกาศให้หยุดงาน อาทิ กรมการปกครอง วังไชยา (นางเลิ้ง) ถนนนครสวรรค์ แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กรุงเทพฯ และกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดย นายธนู ขวัญเดช ศึกษาธิการภาค 10 รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง "การทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ" มีสาระสำคัญดังนี้ จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่บริเวณสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้หารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง กระทรวงศึกษาธิการจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติงานในที่พัก/บ้าน (Work from Home) ในวันที่ 25 พ.ย. เว้นแต่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการให้บริการประชาชนโดยตรง ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมอบหมายให้ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดมาปฏิบัติงานที่กระทรวงศึกษาธิการได้ไม่เกิน 25% ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ออกประกาศเรื่อง ปิดมหาวิทยาลัยและงดการเรียนการสอนทุกระดับชั้นของมหาวิทยาลัย และโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 พ.ย.63 นี้ ส่วนวิทยาเขตสุพรรณบุรี และศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งทุกแห่งยังเปิดการเรียการสอนปกติ ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พร้อมด้วย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล แถลงภายหลังการหารือร่วม 3 ฝ่าย ในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบองค์ประกอบของกรรมการให้มีกรรมการทั้งสิ้น 21 คน ดังนี้ 1.ผู้แทนฝ่ายผู้ชุมนุม 2 คน ( กลุ่มเรียกร้องเห็นต่างกับรัฐบาล ) 2.ผู้แทนรัฐบาล 2 คน 3.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน 4.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน 5.ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภา 2 คน 6.ผู้แทนฝ่ายที่มีความเห็นอื่น 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นด้วยกับรัฐบาล) 7.ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย 7.1.บุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเสนอชื่อ 3 คน โดยคำนึงถึงตัวแทนให้ครอบคลุมถึงภูมิภาคต่างๆ 7.2.บุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเสนอ 1 คน 7.3.บุคคลซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเสนอ 1 คน 7.4.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4 คน 7.5.รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเลขานุการ และ7.6.เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 4 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ นายชวน กล่าวว่า สำหรับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ศึกษารูปแบบการสร้างความปรองดอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบองค์ประกอบทั้งหมด 21 คน หลังจากนี้จะให้ฝ่ายเลขาแจ้งให้แต่ละฝ่ายได้รับทราบ เพื่อส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมกรรมการสมานฉันท์เพื่อเริ่มเดินหน้าทำงานได้ทันที ส่วนประธานกรรมการสมานฉันท์ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกรรมการสมานฉันท์พิจารณาจากกรรมการสมานฉันท์ด้วยกันเอง ส่วนจะมีภาระหน้าที่และรูปแบบการพิจาณาแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้น ให้กรรมการมีการประชุมปรึกษาหารือกันก่อน และจากการลงพื้นที่พบปะรับฟังความเห็นประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ประชาชนต่างก็เห็นด้วยหากกรรมการสมานฉันท์หากสามารถทำให้บ้านเมืองเป็นไปอย่างสงบ เมื่อถามว่า หากผู้ร่วมชุมนุมไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการ นายชวน กล่าวยืนยันว่า ไม่มีปัญหา แต่รัฐสภายังต้องทำหน้าที่ไปตามภารกิจต่อไป หากไม่เข้าร่วมก็ทำหน้าที่ไปเท่าที่มีอยู่ไปก่อน แต่พยายามจะให้มีทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และต้องให้เวลาแต่ละฝ่ายในการตัดสินใจ นายชวน กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามกรรมการชุดนี้เป็นกรรมการชุดแรกจากทั้งหมด 2 ชุด ซึ่งชุดที่ 2 เป็นกรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด โดยมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าพิจารณา ซึ่งในรูปแบบที่ 2 นี้ได้มีการหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ทุกฝ่ายให้ความเห็นในทางที่เป็นบวก และสนับสนุนให้เดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปเชิญแต่ท่านมาร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งสัดส่วนกรรมการหลังจากนี้จะเป็นใครนั้นจะมีการหารือกันอีกครั้งกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ ด้าน นายสุทิน กล่าวว่า กรรมการสมานฉันท์ชุดนี้พอมีความหวังอยู่บ้าง ที่จะแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการเชิญตัวแทนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะฝ่ายผู้ชุมนุม และคนที่คิดต่างกับฝ่ายผู้ชุมนุม ซึ่งในอดีตโครงสร้างกรรมการปรองดองจะไม่มีส่วนนี้ ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าผู้ชุมนุมคงจะได้มีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ แต่ก็อยากให้ฟังดูก่อน เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่หลังจากนี้จะมีการหารือกันว่าจะส่งตัวแทนเข้าร่วมหรือไม่ แต่อย่างน้อยๆวันนี้ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ได้ร่วมวางกรอบ สำหรับหน้าที่ของกรรมการชุดนี้จะเน้นไปที่การศึกษาในปัญหาต่างๆเพื่อเสนอแนะเป็นแนวทางให้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหมดไปพิจารณาแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และส.สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม โดยใช้เด็กเป็นเครื่องมือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมีเป้าหมายล้มสถาบัน แต่เลี่ยงไปใช้คำว่าปฏิรูป เพราะปรากฏความสอดคล้องระหว่างหลักคิดของคนบงการส่งถูกนำไปปฏิบัติในการชุมนุม และเป็นหลักคิดจะเดียวกันผ่านวิธีการ Hate speech ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ม.ย.59 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าได้ไปพูดที่มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวหาพาดพิงสถาบันว่ามีอำนาจอิทธิพลเหนือผู้พิพากษา ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งเข้าลักษณะทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งสถาบันไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ หรือดำเนินตามใจชอบ นอกเหนือที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งสิ่งที่นายปิยบุตรกล่าวหาเป็นสิ่งที่บิดเบือนไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง นายถาวร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมสมคบคิดด้วย โดยนายธนาธรที่เคยตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ Portrait ธนาธรเมื่อเดือน พ.ย.61 รวมถึงการไปพูดในงานวิชาการตามสถานที่ต่างๆตอกย้ำเรื่องการปฏิรูปสถาบัน และพบว่ามีการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่สุดท้ายพรรคก็ถูกยุบเพราะทำผิดกฏหมาย จากนั้นก็มีการจัดแฟลชม็อบ และหัวข้อการชุมนุมก็เกี่ยวกับการล้มล้างสถาบัน แล้วมีความพยายามเปลี่ยนชื่อ สถานที่สำคัญๆหลายแห่ง เช่นสนามหลวง เปลี่ยนเป็นสนามราษฎร นายถาวร กล่าวอีกว่า นายปิยบุตร และนายธนาธรใช้ระยะเวลาประมาณ 10 เดือนในการปลุกปั้นให้เยาวชนเกลียดชังสถาบันผ่าน Hate Speech และโซเชียลมีเดีย และในวันที่ 25 พ.ย.นี้ผู้ชุมนุมก็มีการนัดชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งที่เพื่อเป็นการตอบโต้การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 โดยประกาศแผนการเข้าบุกล้อมเพื่อยึดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 4 กลุ่มบุกเข้าโจมตีทั้ง 4 ด้าน ซึ่งผู้ก่อการเตรียมยกระดับสถานการณ์ให้ไปสู่ความรุนแรงโดยเปลี่ยนการ์ดอาชีวะมาเป็นการ์ดรบพิเศษ เพื่อรับสถานการณ์ไปสู่ความรุนแรงให้ได้ตามยุทธศาสตร์สงครามประชาชน จึงเสนอไปยังผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบว่า ให้ดำเนินคดีกับผู้บงการทุกระดับชั้นตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมและยกเว้นโทษสำหรับผู้ชุมนุมที่ตกเป็นเหยื่อ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 00.51 น. ของวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เดินทางพบพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันเพื่อแจ้งความเอาผิดน้องหมวย หนึ่งในผู้ชุมนุมที่สวมชุดนักเรียน พร้อมถือป้ายระบุเคยโดนกระทำอนาจารในโรงเรียน ในการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว "บ๊ายบายไดโนเสาร์" ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนนำมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แจ้งความเรียบร้อย เลิกงานแล้วมาแจ้งความค่ะ มากล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีน้องหมวย "น้องหมวยได้แต่งกายเลียนแบบเครื่องแบบนักเรียน และได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักเรียน ที่ถูกครูทำอนาจารภายในโรงเรียน ต่อหน้าสื่อต่างชาติ ในที่สาธารณะ จนทำให้สถาบันครูและสถาบันโรงเรียนไทย เสียหาย ไปทั่วโลก" น.ส.ปารีณา ระบุ