อุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ Bio Industry คือ อุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology ในการผลิตสินค้าเช่น เคมีภัณฑ์ อาหาร ยา อาหารสัตว์บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิต และเป็นแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่หลากหลาย ทำให้อุตสาหกรรมชีวภาพมีการเติบโตมากขึ้น
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว.หน่วยงานสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ทาง วว.ได้มีการวิจัยและพัฒนางานอุตสาหกรรมชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากผลงานของนักวิจัยที่สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้แล้ว ยังมีงานบริการประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆอย่างเช่นการจัดตั้ง ศูนย์บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ ด้านอาหารฟังก์ชั่น ขึ้นมา เพื่อรองรับการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขอเอกสารได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ได้บูรณาการร่วมกันกับ อย. โดยเป็นไปตามมาตรฐานของ อย. ที่ได้กำหนดรูปแบบไว้แล้ว โดยมีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา มีเครื่องมือที่ทันสมัย และมีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการวิจัย บริการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ ด้านอาหารฟังก์ชั่นอย่างครบวงจร ครอบคลุม 13 สาขาวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานสากล เพื่อรองรับการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ของผู้ประกอบการ ที่จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุมตามหลักมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ยังมี ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นศูนย์ วิจัยพัฒนา การผลิต และบริการจุลินทรีย์ โพรไบโอติกอย่างครบวงจร จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทาง วว.ได้ให้บริการสายพันธุ์จุลินทรีย์ โพรไบโอติก ตลอดจนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางด้านการเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ รวมถึงโครงการวิจัยกับหน่วยงานต่างๆอีกด้วย และให้ความสำคัญด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกในบทบาทของการป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆของมนุษย์ เช่นความสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร การลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรังอย่างเบาหวาน ไขมัน หลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง การป้องกันและลดอาการของโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร การปรับสมดุลระบบกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การป้องกันโรคที่เกิดจากความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร การป้องกันฟันผุ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อมนุษย์ที่ทาง วว.ได้ศึกษาและวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง
“ทาง วว.ยังมีผลงานอุตสาหกรรมชีวภาพที่น่าสนใจคือ นวัตกรรมน้ำตาลสุขภาพ GI ต่ำ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากอ้อยธรรมชาติ สู่กระบวนการแปรรูปทางชีวภาพ มีผลทำให้ระบบการย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างช้าๆและต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าสม่ำเสมอและคงที่ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือด และยังมีงานวิจัยและพัฒนาใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ มาผลิตเป็นน้ำหอมจากขนแพะ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ก่อให้เกิดรายได้และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชนให้มากขึ้น และยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำพุร้อนเค็ม จากจังหวัดกระบี่ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในรูปแบบของ สเปรย์น้ำแร่ ซีรั่มบำรุงผิว ครีมกันแดด และผลิตภัณฑ์เพื่อผิวกาย เป็นการสร้างเอกลักษณ์ สร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี”นายสายันต์ กล่าว