24 พ.ย.นี้ จีนเตรียมปล่อยยานไปดวงจันทร์ กำหนดลงจอด 27 พ.ย. ปฏิบัติการเก็บตัวอย่างดินและหินกลับโลก หากทำสำเร็จ จะเป็นประเทศที่ 3 รองจากสหรัฐฯ และรัสเซีย NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “จีนเตรียมส่ง "ฉางเอ๋อ 5" ปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์ และเก็บตัวอย่างหินกลับโลก หลังจากจีนสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการดาราศาสตร์และอวกาศ ด้วยการส่ง “ฉางเอ๋อ 4” (Chang’E-4) ยานสำรวจดวงจันทร์สัญชาติจีนลงจอดบนหลุมอุกกาบาต “ฟอน การ์มาน (Von Kármán)” เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นยานลำแรกที่สามารถลงจอดบน “ด้านไกลของดวงจันทร์” ได้สำเร็จ ในปีนี้ จีนมีแผนจะส่งยานไปยังดวงจันทร์อีกครั้งภายใต้ชื่อว่า “ฉางเอ๋อ 5” (Chang’E-5) ความพิเศษของภารกิจนี้ก็คือ จะเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์และนำตัวอย่างดิน และหินบนดวงจันทร์กลับมายังโลก ทั้งนี้ องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) กำหนดปล่อย “ฉางเอ๋อ 5” ขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวดเหวินชาง บนเกาะไหหลำ ทางตอนใต้ของจีน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีกำหนดลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน และวางแผนให้แคปซูลเก็บตัวอย่างกลับลงสู่พื้นผิวโลกบริเวณเขตปกครองตนเองมองโกเลียทางภาคเหนือของประเทศจีน ประมาณวันที่ 16-17 ธันวาคม จีนได้เลือก “มหาสมุทรแห่งพายุ” (Oceanus Procellarum) แอ่งที่ราบสีคล้ำที่กว้างใหญ่ที่สุดบนดวงจันทร์ เป็นพื้นที่ลงจอดของยานฉางเอ๋อ 5 พื้นที่แห่งนี้เป็นบริเวณที่มีหินอายุเพียง 1.21 พันล้านปี ถือว่ามีอายุน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างหินดวงจันทร์จากโครงการอะพอลโลที่มีอายุในช่วง 3.1 - 4.4 พันล้านปี ยานฉางเอ๋อ 5 (Chang’e 5) เป็นยานลำแรกของจีน ที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้เก็บตัวอย่างดินและหินบนดวงจันทร์กลับโลก และมีเป้าหมายนำกลับมาให้ได้อย่างน้อย 2 กิโลกรัม หากยานฉางเอ๋อประสบความสำเร็จ จะทำให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่ 3 ที่สามารถนำตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมายังโลกได้ (ถัดจากสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียต) ครั้งล่าสุดที่นำหินดวงจันทร์กลับมายังโลกคือ ภารกิจจากยานลูนา 24 ของอดีตสหภาพโซเวียต ในปี พ.ศ.2519 ตัวยานฉางเอ๋อ 5 ประกอบด้วยส่วนต่างๆ 4 ส่วน ได้แก่ - ยานลงจอด (Lander) เพื่อเก็บและศึกษาตัวอย่างดินและหินบนดวงจันทร์ - ส่วนนำตัวอย่างจากดวงจันทร์ขึ้นสู่อวกาศ (Attached ascent vehicle) - ยานโคจรรอบดาว (Orbiter) - แคปซูลเพื่อเก็บตัวอย่างส่งกลับมายังโลก (Sample-return capsule) แปลและเรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง - https://en.wikipedia.org/wiki/Chang'e_5 - https://nssdc.gsfc.nasa.gov/nmc/spacecraft/display.action... - https://spacenews.com/china-rolls-out-long-march-5.../ - https://www.youtube.com/watch?v=v7FiaHwv-BI - https://spacenews.com/long-march-5-failure-to-postpone.../