เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการคำนวนค่าผลิตวัคซีนของไทยที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ว่า มันมีค่าดำเนินการของกรมควบคุมโรค ค่าหลอด ค่าไซริงค์ ค่าเข็มฉีดยา ค่านำวัคซีนไปฉีด เพราะเวลาวัคซีนมาถึงเมืองไทยมันมาเป็นขวด จึงต้องมีค่าดำเนินการมากมาย หรือก็คือสรุปว่าเงินงบประมาณจำนวนกว่า 6 พันล้านบาทนั้นครอบคลุมไปหมดแล้ว ไม่ใช่แค่ค่าของอย่างเดียว เมื่อถามว่าจะพิจารณาในประเด็นการจัดหาวัคซีนประเภท mRna ด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ณ เวลานี้เข้าใจว่ามีหลายสถาบันก็ทำวัคซีนประเภท mRna อยู่ รวมไปถึงวัคซีนที่ทางสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขาได้วิจัยอยู่ แต่ที่เราได้จัดหาไปแล้วก็คือวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อถามว่าตัวแทนบริษัท ไฟเซอร์ จะร่วมคณะนักธุรกิจสหรัฐอเมริกามาพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 25 พ.ย.นี้ จะถือโอกาสนี้ คุยเรื่องวัคซีนโควิด-19 ด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ทางนายกรัฐมนตรีก็ได้เรียกเข้าไปพบเหมือนกัน แต่ตอนนี้ต้องขอชี้แจงก่อนว่า ณ เวลานี้ เราได้มีข้อตกลงร่วมกันกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในการร่วมลงทุน และพัฒนา ซึ่งสิ่งที่เราได้จากการร่วมลงทุนจัดหา และพัฒนาก็คือราคาอยู่บนหลักการ No Profit No Loss Principle หรือเป็นหลักการการไม่แสวงหาผลกำไร โดยเขาจะขายในราคาต้นทุน ในราคาต่ำ โดยอยู่ที่ราคาประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (151 บาท) ต่อหลอด ถ้าเทียบกับวัคซีนจากบริษัทอื่นๆอาทิจากไฟเซฮร์ หรือจากบริษัทซีโน่แว็กก็ปรากฎว่ามันยังมีราคาที่สูงอยู่ ซึ่งก็เข้าจได้ว่าที่มันราคาสูง เพราะเราไม่ได้ไปร่วมอะไรกับเขา “ถ้าหากเราสามารถครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงได้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปจองจากที่อื่น และก็ในเรื่องวัคซีน mRna เราก็ยังสนับสนุนอยู่ ทั้งการทำงานของคณะแพทย์ศาสตร์จุฬา เขาก็ยังดำเนินการอยู่ ซึ่งเราก็ยังคงจะมีช่องทางในการจัดหาวัคซีนตรงนี้ด้วย” นายอนุทินกล่าวและย้ำว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องไปจองวัคซีนจากบริษัทอื่นๆ เมื่อถามถึงความจำเป็นจะต้องจัดทำตู้เก็บความเย็นวัคซีนใหม่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ของแอสตร้าเซนเนก้านั้น ไม่จำเป็นต้องทำตู้เย็นอยู่ที่ -20 องศาเซลเซียส หรือที่ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งจากที่ได้รับรายงานจากทีมแพทย์มานั้นก็ได้ข้อสรุปว่าตู้เย็นธรรมดา ก็สามารถจัดเก็บวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้