วันที่ 23 พ.ย. 63 ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส สถาบันพระปกเกล้าเวทีสัมมนา “พลเมืองตื่นรู้ (สมาชิก) รัฐสภาตื่นตัว : เสียงประชาชนกับการเป็นตัวแทนของรัฐสภา” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ตนมองว่าปัญหาที่ทำให้นักศึกษา ประชาชนออกมาชุมนุมและขยายไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องใหญ่ที่สุดคือของการสืบทอดอำนาจของนายกรัฐมนตรี ถ้าหากเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 การตัดสินว่าใครจะเป็นนายกฯ บริหารบ้านเมืองจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง โดยไม่มี สว. ที่ท่านเลือกไว้เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะไม่มีการประท้วงแบบนี้ ข้อต่อมาคือในเรื่องหลักการของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ The king can do no wrong คือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ท่านทรงโปรดเกล้าฯตามที่นายกฯ เป็นผู้ทูลเกล้าฯ เพราะฉะนั้นคนทำผิดทั้งหลายคือนายกฯ และในเรื่องของการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ป.ป.ช. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต. องค์กรอิสระ ก็มาจาก สว.ซึ่ง สว.ก็มาจากการเลือกของหัวหน้า คสช. เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่พอใจ สว. องค์กรอิสระทั้งหลาย คนรับผิดชอบก็ต้องเป็นนายกฯ "ผมไม่เข้าใจว่าท่านเข้าใจหลัก The King can do no wrong มากน้อยแค่ไหน แต่เป็นห่วงว่าท่านอาจจะไม่ได้ยึดหลักการในข้อนี้ หลักการของนายกฯ ในระบอบประชาธิปไตย คือต้องรับผิดชอบและออกหน้า ไม่ใช่ไปอยู่ข้างหลัง การไปอยู่ข้างหลังทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ อันนี้ก็ต้องแก้ ถ้าไม่มีการสืบทอดอำนาจก็ไม่มีการประท้วงในวันนี้ นายกฯ คนก่อนหน้านี้ล้วนแล้วแต่เคยถูกประท้วงมาแล้วไม่ว่าจะเป็นคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ คุณสมัคร สุนทรเวช คุณทักษิณ ชินวัตร แต่การประท้วงไม่เคยมาถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางกลับกันผู้ชุมนุมอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 และคราว กปปส.เมื่อปี 2557 มีการถวายฎีกาถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้มาก้าวก่ายทางการเมืองด้วยซ้ำไป ดังนั้นคิดว่าหากเป็นการปกครองกันเองของประชาชนจะไม่กระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นนายกฯ ที่สืบทอดอำนาจต้องรับผิดชอบ" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว ดังนั้น ต้องแก้เรื่องของการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะเรื่อง สว.ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ที่ต้องดำเนินการ และตัวรัฐธรรมนูญ 2560 วันนี้มีคนประท้วงมากกว่าฉบับ 2534 แล้ว ที่เอามาเทียบกับฉบับนี้เพราะมีความคล้ายคลึงกัน โดยฉบับปี 2534 สุดท้ายจบลงด้วยการนองเลือด ในเดือน พ.ค. 2535 และสุดท้ายก็ต้องมาร่างใหม่ทั้งฉบับ เป็นฉบับปี 2540 เพราะฉะนั้นเรารู้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์จะนำไปสู่อะไร ทำไมต้องรอให้เกิดการนองเลือดก่อน ถึงจะมาแก้ปัญหา ทำไมไม่แก้ปัญหาก่อนที่จะเกิดการนองเลือด ทั้งนี้ เชื่อว่า เรายังมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อถามว่าหากมีกระบวนการที่สมาชิกไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายหรือไม่ ท่ามกลางการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในขณะนี้ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า กระบวนการต่างๆ ก็ว่ากันไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ถ้าแก้ได้สถานการณ์ก็คลี่คลาย เราขัดแย้งกันเป็นเรื่องธรรมดา การประท้วงนายกฯ ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่คราวนี้ที่ไม่ธรรมดาคือเรื่องของการสืบทอดอำนาจ เมื่อเดือน พ.ค. 2557 ท่านบอกว่าขอเวลาไม่นานแล้วความสุขจะคืนกลับมา ตอนนี้ 6 ปีเข้าไปแล้วความสุขก็ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน คนขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน พ่อ แม่ ลูกเห็นต่างกัน คิดว่านี่ไม่ใช่ความสุข ดังนั้น นายกฯ ต้องแก้ปัญหา เมื่อถามว่าทางออกเร่งด่วนจะต้องเป็นอย่างไร การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์จะเป็นทางออกได้หรือไม่ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า เรามีคณะกรรมการปรองดองมากเกินไปแล้ว การมีคณะกรรมการปรองดองก็เป็นเรื่องดี แต่การเอาแต่คุยกันอย่างเดียวจะถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลา ถ่วงเวลา เรามีข้อเสนอหมดแล้วจากคณะกรรมการต่างๆ ที่เคยทำเอาไว้ ย้ำว่าที่ต้องแก้คือการสืบทอดอำนาจ และอำนาจของสว.ในการเลือกนายกฯ ที่ผ่านมา ไม่เคยมี สว.ชุดใดมาก่อนที่คณะปฏิวัติแต่งตั้งแล้วมีอำนาจในการเลือกนายกฯ นี่ก็ผิดแล้วตั้งแต่แรก ถ้าหากว่า 1 คน 1 เสียง จบที่หีบบัตรเลือกตั้งว่าใครจะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ก็จะไม่มีการประท้วงแบบนี้ สว.ชุดนี้จะหมดอายุในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่เมื่อมีปัญหามากก็แก้ไขเรื่องนี้ก่อน แล้วเรื่องที่ 2 คือท่านนายกฯ ต้องออกหน้าไม่ใช่อยู่ข้างหลัง ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าล่าสุดนายกฯ ได้ออกแถลงการณ์จะมีการใช้กฎหมายทุกฉบับรวมถึงมาตรา 112 ในการเอาผิด ผู้ชุมนุม ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ตนได้ชี้ไปแล้ว ว่าการแก้ปัญหาจะต้องแก้ที้ต้นเหตุของปัญหาที่คนออกมาชุมนุม จะไปแก้ด้วยการไม่ให้ชุมนุม แก้ด้วยการไปจับกุม แน่นอนว่าการชุมนุมต้องอยู่ในขอบเขต อะไรที่ทำผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตาม กระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งสำคัญคือการแก้ที่ต้นเหตุไม่ใช่แก้ที่การชุมนุม แก้ที่ต้นเหตุคือการสืบทอดอำนาจ ที่จริงสื่อมวลชนจะต้องไปถามท่านนายกฯ ว่าต้นเหตุคือการสืบทอดอำนาจของท่านแล้วท่านไม่แก้หรือ เมื่อถามว่า การใช้กฎหมายทุกฉบับและแรงขึ้นนั้นจะทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นหรือไม่ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เรารู้อยู่แล้วว่าข้างหน้าคืออะไร ท่านนายกฯ ก็มองเห็นอยู่แล้วว่าข้างหน้าจะนำไปสู่อะไร คือเรื่องที่เคยเกิดมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังไม่สายเกินไป อย่ารอให้ถึงทางตันแล้วค่อยมาหาทางออก