นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และกรรมการและประธานที่ปรึกษาสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก กล่าวถึงนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกคำสั่งห้ามรถบรรทุก 6 – 10 ล้อ วิ่งเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 06.00 – 21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 -วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อลดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สหพันธ์ฯคัดค้านคำสั่งห้ามดังกล่าว เพราะการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เกาไม่ถูกที่คัน ผลการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่าสาเหตุหลักมาจากการเผา ทั้งการเผาซังข้าว อ้อย ขยะ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมที่สร้างเขม่าควัน ส่วนควันจากรถยนต์ยอมรับว่ามีเช่นกัน แต่มีส่วนน้อย จะเห็นว่าปัญหาใหญ่ไม่แก้แต่รัฐบาลมาแก้ปัญหาน้อย ปลายเหตุ "ปัญหาต่อมาคือ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะกระบวนการผลิต การขนส่ง การกระจายสินค้า การนำเข้า การส่งออก การก่อสร้างต่างๆ เป็นซัพพลายเชนในระบบการขนส่งที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจจะกระทบในวงกว้างมาก เพราะการสั่งไม่ให้รถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯจำนวน 15 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้มีเวลาทำงานจริงอยู่ประมาณ 8-9 ชั่วโมง ความเสียหายที่เกิดขึ้นคาดว่าน่าจะอยู่ที่เดือนละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ เพราะการขนส่งเป็นการเชื่อมของทุกห่วงโซ่ "นายทองอยู่ กล่าว นายทองอยู่ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯเป็นศูนย์ของทุกอย่าง มีอุตสาหกรรม การเงิน การศึกษา ศูนย์รวมอำนาจของภาครัฐ ประชากรมีมากกว่า10 ล้านคน และตามผังเมืองของกรุงเทพฯ เวลานี้มีเมืองบริวาร จังหวัดปริมณฑลรอบล้อม ดังนั้นเวลาเกิดปัญหากับกรุงเทพฯจะกระทบทั้งหมด เป็นวงแหวนเชื่อมหมด จะเห็นว่าเมืองบริวารก็สร้างปัญหาให้กรุงเทพฯเช่นกัน สังเกตจากช่วง 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ค่าพีเอ็ม 2.5 ปริมาณสูงสุดอยู่ที่ ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ซึ่งขณะนี้ปริมาณรถบรรทุกในระบบ ถ้าเข้ากรุงเทพฯโดยตรงจะสูงสุดประมาณ 7-8 หมื่นคันต่อวัน และรถบรรทุกที่วิ่งเชื่อมกรุงเทพฯและปริมณฑลตามเส้นทางหลักต่างๆ ทางด่วน อีกประมาณ 5-6 หมื่นคันต่อวัน รวมรถบรรทุกที่ได้รับผลกระทบกว่า 1 แสนคันต่อวัน ขณะที่ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การจราจร เพราะรถบรรทุกเข้าเมืองไม่ได้ต้องจอดรอบนถนน อาทิ ถนนเพชรเกษม บางนาตราด สุขุมวิท เมื่อถึงเวลา 21.00 น.ก็จะขับเข้าเมือง ถึงเวลาเช้า 06.00 น.ต้องออกนอกเมือง ทำให้การจราจรเข้าออกลำบาก ทั้งนี้ ทางสหพันธ์ฯ มองปัญหาฝุ่นพิษเป็นปัญหาระดับชาติ ต้องแก้แบบบูรณาการ แก้เฉพาะในประเทศอาจไม่ได้ เพราะมีการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ อินโดนีเซีย จนฝุ่นควันเข้ามาในประเทศไทย เป็นปัญหาระดับชาติ ต้องมีแผนมียุทธศาสตร์ชัดเจน ต้องกำหนดว่าระบบการเผาพืชต่างๆ ทั้งอ้อย ซังข้าว ขยะ จะแก้ยังไง อย่างอ้อยปัจจุบันเผา 50% ใน 11 ล้านไร่ ต่อไปปี 2564 ให้เผาเพียง 20% ปีต่อไปเหลือ10% จนเหลือศูนย์ ถ้าเผาอ้อยจะไม่รับซื้อ หรือจะใช้วิธีตัดอ้อยแบบไม่ใช้แรงงาน ตัดแปลงใหญ่ หรือกรณีเผาขยะควรมีโรงงานกำจัดชัดเจน ไม่ให้เผาทั่วไป เหล่านี้ต้องทำเชิงบูรณาการ เป็นแผนยุทธศาสตร์ของชาติ โดย นายทองอยู่ กล่าวว่า ทางสหพันธ์ฯ ต้องการให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว ซึ่งเวลานี้มีแนวร่วมทั้งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศ ต่างเห็นชอบคัดค้านประกาศของกทม.เช่นกัน เนื่องจากเห็นพ้องต้องกันในเรื่องผลกระทบทางภาคเศรษฐกิจ การส่งออก ซึ่งปัจจุบันสหพันธ์ฯ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปยัง 5 หน่วยงานแล้ว คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเตรียมยื่นฟ้องไปทางศาลปกครองว่า เลือกปฏิบัติเฉพาะรถบรรทุก ซึ่งจะขอคุ้มครองชั่วคราว เพราะการปล่อยควันพิษเกิดจากรถยนต์ทุกชนิด ทั้งขสมก. ขบส. รถตู้โดยสารฯลฯ ต่างปล่อยมลพิษ และอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯตลอดเวลา อย่างไรก็ตามระหว่างที่ร้องศาลฯ สหพันธ์ฯจะขอความร่วมมือสมาชิกให้นำรถบรรทุกเครื่องยนต์เอ็นจีวี ออกมาวิ่งให้มากขึ้น เพื่อลดมลภาวะ รวมทั้งจะขอให้รถบรรทุกเก่าอายุมากกว่า 30 ปี ห้ามวิ่งเข้ากรุงเทพฯ และให้สมาชิกดูแลซ่อมบำรุงรถไม่ให้มีควันดำ ใช้พลังงานที่ดีขึ้น ซึ่งสหพันธ์ฯพยายามปรับตัวเช่นกัน