กมธ.พิจารณาร่างแก้ไข รธน.ยังหวังสภาร่าง รธน.จะนำประเด็นที่อยู่ในร่างแก้ไข รธน.รายมาตราของฝ่ายค้านซึ่งถูกตีตกไป ไปเขียนไว้ใน รธน.ฉบับใหม่ งานนี้มีลากยาว แค่ผลการพิจารณา กมธ. กว่าจะเสร็จก็ต้นปีหน้า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ….. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการเสนอชื่อให้ตัวเองเป็นประธาน กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านเสนอก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ แต่ก็รู้ว่าเสียงข้างมากไม่รับ แต่อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เป็นกติกาการเมืองที่ทุกคนมีสิทธิ โดยหาก กมธ.คิดถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การให้ฝ่ายค้านขึ้นมาทำหน้าที่จะถือเป็นสิ่งที่ดี เมื่อถามว่าเนื้อหาในร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา ในร่างแก้ไขรธน.ร่างที่ 3-7 ซึ่งรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบจนตกไป จะสามารถผลักดันให้ถูกนำมาบรรจุได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า 1.ตัว กมธ.ต้องหยิบเอามาเสนอในที่ประชุม แต่ประเด็นที่หยิบขึ้นมาเสนอจะต้องอยู่ในหลักการ จะต้องไม่ขัดกับหลักการเดิม 2.สมาชิกที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมาธิการ สามารถยื่นคำแปลญัตติเข้ามายัง กมธ.ได้ 3.แต่ตั้งที่ปรึกษาที่มาจากภาคประชาชน และ 4.ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะเข้าสู่กระบวนการตั้ง ส.ส.ร. และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร.สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่จะเป็นประเด็นในการถกกันในชั้น กมธ. นพ.ชลน่านกล่าวว่า แตกต่างกันในรายละเอียดที่ต้องแก้ไขเท่านั้น เช่น ที่มาของ ส.ส.ร. ร่างของรัฐบาลให้มาจากการแต่งตั้ง แต่ร่างของฝ่ายค้านและความต้องการของภาคประชาชนต้องการให้มาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด ประเด็นต่อมาคือเรื่องประชามติ โดยรัฐบาลมองว่าเมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญแล้วส่งให้สภาพิจารณา เมื่อผ่านสภาแล้วก็นำทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วบังคับใช้ได้เลย แต่ฝ่ายค้านมองว่าเมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ส่งเรื่องไปที่ประธานสภาฯ รับทราบ จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการประชามติก่อนประกาศใช้ เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญยังสามารถเป็นทางออกให้กับประเทศได้อยู่หรือไม่ เพราะด้านนายกฯ เองก็ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตราในการเอาผิดผู้ชุมนุม นพ.ชลน่านกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญคือทางออกของประเทศทางหนึ่ง และเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แม้สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอขึ้นมาวันนี้จะแก้ไม่ได้ทั้งหมด ท่าทีของนายกฯ ที่ประกาศใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ชุมนุม เสมือนเป็นการปิดทางออกที่ทุกคนจะหันหน้าเข้ามาคุยกัน และอาจจะทำให้สถานการณ์ลุกโชนขึ้นไปเรื่อยๆ