จากผลงานเฝ้าระวัง-ป้องกันโควิดชายแดนไทย-เมียนมา และการพัฒนาแก้ปัญหากำลังคนระดับประเทศ ดร.ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล ผอ.กองการต่างประเทศ และผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ก.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมพันธมิตรกำลังคนด้านสุขภาพภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 11 เมื่อเร็วๆ นี้ เรื่อง “การจัดการปัญหาและความท้าทายของบุคลากรสาธารณสุขในการตอบสนองโควิด 19” ซึ่งเป็นการประชุมรูปแบบออนไลน์ จัดโดยองค์การอนามัยโลก ร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ธนาคารพัฒนาเอเชีย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ โดยมีประเด็นหลัก คือ การระดมสรรพกำลังสาธารณสุขเพื่อตอบสนองการระบาดของโรคโควิด-19 การปกป้องบุคลากรสาธารณสุขจากความเสี่ยงในการทำงาน และการศึกษาของบุคลากรสาธารณสุขในช่วงการระบาดโควิด-19 ได้มีการมอบรางวัลระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (AAAH Award) สำหรับแพทย์และพยาบาลที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเทให้กับวงการสาธารณสุข 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลแพทย์ (Medical Award) รางวัลพยาบาล (Nursing Award) และรางวัลผดุงครรภ์ (Midwifery Award) ซึ่งเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ประกาศให้ปี 2563 เป็นปีพยาบาลและผดุงครรภ์ ดร.ภญ.วลัยพร กล่าวว่า หลักเกณฑ์การเสนอรายชื่อผู้แทนเข้าชิงรางวัล จะต้องมีประสบการณ์การทำงานด้านกำลังคนด้านสุขภาพในประเทศของตนอย่างน้อย 5 ปี ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ผลักดันเรื่องกำลังคนในชุมชนหรือประเทศนั้นๆ รวมถึงมีศักยภาพองค์รวมในการผลักดันนโยบายในระดับชาติได้ แสดงศักยภาพของตนในเรื่องของความเป็นผู้นำและการมีทักษะเรื่องความคิดใหม่ๆ ให้กับชุมชน โดยมีคณะกรรมการนานาชาติพิจารณาตัดสิน ซึ่งปีนี้มีผู้แทนจากภูมิภาคต่างๆ เสนอรายชื่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเป็นที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่ได้รับถึง 2 รางวัล ได้แก่ ดร.กฤษดา แสวงดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงด้านแผนยุทธศาสตร์สาธารณสุขและกรรมการที่ปรึกษาสภาการพยาบาล ได้รับรางวัลพยาบาลดีเด่น เนื่องจากมีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนานโยบายและการแก้ปัญหากำลังคนในระดับประเทศ ส่วน นพ.ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่น จากผลงานการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ด้วยการจัดระบบบริการสุขภาพเชิงรุกให้ชาวต่างชาติเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐานที่จำเป็น อนามัยแม่และเด็ก และการให้วัคซีนป้องกันโรค ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคติดต่อชายแดน ทั้งวัณโรค หัด ไข้เลือดออก และชิคุนกุนยา และการควบคุมโรคโควิด 19 ตามแนวชายแดน ทำให้ไม่เกิดการระบาด ทั้งนี้ โครงการพันธมิตรกำลังคนด้านสุขภาพภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก (The Asia Pacific Action Alliance on Human Resources for Health, AAAH) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก จำนวน 18 ประเทศ โดยมีหน้าที่หลัก 5 ด้าน คือ 1.การสนับสนุนงานด้านกำลังคนด้านสุขภาพ 2.การติดตามข้อมูลด้านกำลังคน 3.การสร้างเสริมศักยภาพด้านกำลังคน 4.การผลิตความรู้ด้านกำลังคน และ 5.การประสานงานเรื่องข้อมูลทางวิชาการ