ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเวลานี้ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงง่ายๆ ตัวเลขของผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงขึ้นในหลายพื้นที่ หลายหน่วยงาน รวมถึงประชาชน ต่างให้ความสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ เพราะล้วนแต่เพิ่มความเสียหายให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจในการเกิด “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” ในครั้งที่ผ่านมา พบว่า “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ได้ระบุว่า หากวิกฤติฝุ่น PM2.5 มีมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 8,000-40,000 ล้านบาท จากภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัย , ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และโรคระบบทางเดินหายใจ , การสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าหน้ากากรุ่น N95 , การสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และการสูญเสียงบประมาณของรัฐ แต่ล่าสุดข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องที่หลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” ที่ก่อนหน้านี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาลในช่วงปีที่ผ่านมา ได้กลับมาอีกครั้ง! ทั้งนี้ “รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงว่า ฝุ่นพิษ PM 10 อาจสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ให้กับประเทศไทย โดยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Witsanu Attavanich"แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาของฝุ่นพิษ หรือ PM10 ว่าอาจจะสร้างความเสียหายในด้านเศรษฐศาสตร์ได้ โดยได้ระบุข้อความอธิบายว่า “มูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์จากฝุ่นพิษทุบสถิติใหม่! โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM 10 ของประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ ? และจังหวัดไหนบ้างที่มีมูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์จากฝุ่นพิษในระดับสูง?” เมื่อวิเคราะห์ระดับจังหวัดจะพบว่ากรุงเทพฯ ยังครองแชมป์มูลค่าความเสียหายจากฝุ่นพิษ โดยมีมูลค่าสูงถึง 4.51 แสนล้านบาท ทิ้งห่างอันดับ 2 ขาดลอยเช่นเคย แต่มูลค่าความเสียหายได้ปรับลดลงจากปี 2561 ที่มีมูลค่าสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท จากความเข้มข้นของฝุ่นพิษที่ลดลงและรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในปี 2562 ที่ลดลงจากปี 2561 โดยจังหวัดชลบุรีขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แทนนนทบุรีที่ตกลงไปอยู่อันดับ 4 โดยมีมูลค่าความเสียหาย 9.4 หมื่นล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ นครราชสีมายังคงรั้งอันดับไว้เหนียวแน่น โดยมีมูลค่าความเสียหาย 9.3 หมื่นล้านบาท ส่วนอันดับ 5 ได้แก่ สระบุรี มีมูลค่าความเสียหาย 7.4 หมื่นล้านบาท ถัดมาคือ เชียงใหม่ที่ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6 มีมูลค่าความเสียหาย 7.0 หมื่นล้านบาท และปทุมธานีอยู่อันดับที่ 7 ขยับขึ้นมาถึง 8 อันดับ มีมูลค่าความเสียหาย 6.7 หมื่นล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนี้หน่วยงานที่ส่วนในการสร้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของภาคคมนาคมขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นั้น ให้ดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปล่อยละอองน้ำดักฝุ่น โดยขอให้ทุกหน่วยงานที่กำกับดูแลเข้มงวดผู้รับเหมาฉีดน้ำ และรักษาความสะอาด ช่วงสถานการณ์วิกฤตในเดือนธันวาคม 2563 - เมษายน 2564 ส่วนมาตรการระยะสั้น ในปี 2563 – 2564 บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถของหน่วยงานทุกเดือน ,มาตรการระยะกลาง ในปี 2565 – 2569 เปลี่ยนเครื่องยนต์รถของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เป็นพลังงานสะอาด และ มาตรการระยะยาว ในปี 2570 – 2575 เปลี่ยนเครื่องยนต์รถโดยสารสาธารณะเป็นพลังงานสะอาด หรือ EV ทั้งหมด ในส่วนของการดำเนินงานแก้ปัญหาระบบโดยสารสาธารณะ ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการ 1.บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถของหน่วยงานทุกเดือน หรือเป็นประจำ 2. ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันของรถ เรือ และรถไฟสาธารณะ 3. แก้ปัญหาการจราจรติดขัด 4. ลดปริมาณฝุ่นละออง และ 5.แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของภาคคมนาคม ขณะที่ “ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร” “ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง” โฆษกของกทม. ระบุว่า กทม.ได้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี64 เริ่มดำเนินการ ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 63-28 ก.พ.64 แบ่งเป็น 3 ระยะตามสถานการณ์คือ 1.หากฝุ่นไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. มาตรการคือห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่ชั้นใน กทม. ในช่วงเวลาที่กำหนด กำกับดูแลสถานที่ก่อสร้าง บริการตรวจเช็กควันดำเครื่องยนต์ฟรี ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมในการปล่อยควันดำ การล้างถนน กวดขันตรวจตราไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง งดกิจกรรมกลางแจ้งในเด็กเล็ก และประชาสัมพันธ์ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น 50 สำนักงานเขตและสวนสาธารณะ 20 แห่งทั่วกรุง เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศใน รพ. สังกัด กทม. ฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารสูง เปิดสายด่วน 1584 เพื่อแจ้งเบาะแสรถควันดำ 2.หากค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 50-75 มคก./ลบ.ม. มาตรการคือปิดการเรียนการสอนโรงเรียนสังกัด กทม. ครั้งละไม่เกิน 3 วัน การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดในการเผา งดกิจกรรมก่อสร้างทุกประเภทที่เกิดฝุ่น ห้ามจอดรถริมถนนทั้งสายหลัก สายรอง จัดให้มี Safe Zone ในทุกโรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก การออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยบริการเคลื่อนที่ กทม. และ 3.หากค่าฝุ่นเกิน 76 มคก./ลบ.ม. มาตรการคือสั่งหยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นเวลา 5-7 วัน ปิดการเรียนการสอนครั้งละไม่เกิน 15 วัน ให้บุคลากรของกทม.เหลื่อมเวลาการทำงาน และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้มาตรการจับปรับจอดรถไม่ดับเครื่อง และประสานให้หน่วยงานราชการใช้ระบบขนส่งมวลชน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิดในการเผา การตรวจวัดควันดำรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคัน อย่างไรก็ตาม กทม.ยังคงการฉีดพ่นน้ำล้างต้นไม้ การล้างถนน และการฉีดพ่นละอองจากอาคารสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะจะช่วยให้ฝุ่นไม่ฟุ้งกระจาย ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เดินสัญจรไปมา อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะใช้ค่าฝุ่นพิษ PM 10 เป็นข้อมูลในการคำนวณ แต่ต้นทุนทางสังคมที่คำนวณก็น่าจะเป็นตัวแทนของฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นส่วนหนึ่งใน PM10 ซึ่งจะสะท้อนถึงมูลค่าความเสียหายจากฝุ่นพิษในปี 2563 กับฤดูฝุ่นพิษที่กำลังเริ่มขึ้นด้วยค่าฝุ่นพิษที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง!!!