ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ความรู้สึกที่ได้ทำงานการข่าวเป็นอะไรที่ทั้งสนุกและหวาดเสียว งานการข่าวมี 2 ส่วนที่สำคัญ คือ การจัดทำข่าวกรอง (Intelligence) และการต่อต้านข่าวกรอง (Counter Intelligence) ส่วนแรกคือการหาข่าว หรือการจัดทำข้อมูลที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ ที่เรียกว่า “ข่าวกรอง” หมายถึงข้อมูลที่ได้รวบรวมและวิเคราะห์ไว้เป็นอย่างดีแล้ว พร้อมที่จะให้ผู้ใช้ประโยชน์ได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการต่อไป ส่วนการต่อต้านข่าวกรองก็คือการป้องกันการคุกคามจากการเข้ามาหาข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม เช่น ผู้ก่อการร้าย หรือหน่วยข่าวของต่างชาติ ที่จ้องจะเข้ามาหาข้อมูลที่พวกเขาต้องการ แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในการกลับมาบ่อนทำลาย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของเรา ผมกับบรรเจิดแม้จะอยู่ในงานด้านต่อต้านข่าวกรอง แต่ก็ต้องทำงานด้านการหาข่าวเป็นหลักเช่นกัน เริ่มต้นตอนที่เราทำงานชิ้นแรก ๆ หัวหน้างานของเราจะมอบ “หัวข้อข่าวสาร” ให้เราไปค้นคว้า แล้วจัดทำเป็นข้อวิเคราะห์พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะหรือข้อมูลที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างในตอนนั้นมีการก่อการร้ายของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในตะวันออกกลางที่ชื่อว่า “กลุ่มฮิสบัลเลาะห์” เราก็ต้องเริ่มจากหาข้อมูลว่ากลุ่มคนพวกนี้คือใคร มีอยู่ที่ไหน มีกำเนิดอย่างไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร เป้าหมายที่กลุ่มนี้คุกคาม ลักษณะการคุกคาม ฯลฯ โดยจะมี “ต้นเรื่อง” คือข้อมูลที่หน่วยข่าวของประเทศพันธมิตรต่าง ๆ ส่งมาให้ จากนั้นเราก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น การเข้าออกประเทศไทยของคนพวกนี้ ซึ่งเราต้องไปคอย “เฝ้าดู” แบบที่คนทั่วไปเรียกว่า “การสะกดรอย” หรือภาษาการข่าวของพวกเราเรียกว่า “Surveillant” คนพวกนี้เราเรียกว่า “เป้าหมาย” ซึ่งเราก็ต้องทำการ “อำพรางตัว” (ศัพท์การข่าวเรียกว่า Camouflage หรือ Covered) เช่น ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวเพื่อติดตามคนเหล่านี้ หรือไปอาศัยอยู่ใกล้ ๆ เพื่อให้เหมือนเป็นคนในพื้นที่ เพื่อจะได้สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เราจะต้องจัดทำแผนที่บริเวณที่พักของคนเหล่านี้อย่างละเอียด ทั้งเส้นทางที่สามารถจะเข้าถึง ระยะเวลาที่เดินทางโดยรถยนต์หรือโดยการเดินเท้า จุดเสี่ยงและข้อควรระมัดระวัง แน่นอนว่าเราต้อง “แอบถ่ายรูป” เป้าหมายเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงสถานที่ที่คนเหล่านี้เดินทางไปหรือพักอาศัย ตลอดจนบุคคลที่คนเหล่านี้ไปพบหรือพูดคุย และถ้าเป็นไปได้ก็ต้องเข้าไป “แอบฟัง” การสนทนาของเป้าหมายกับบุคคลต่าง ๆ หรือให้รู้ให้ได้ว่าเขาคุยกันเรื่องอะไร พูดถึงเรื่องของการถ่ายรูปและการสะกดรอย ตอนที่เราถูกอบรมให้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ “ขัดเขิน” เป็นอย่างมาก อย่างหนึ่งก็คือความไม่เคยที่ต้องทำอะไรลับ ๆ ล่อ ๆ และอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องทำให้ได้ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมหรือค่อนข้างจะเสี่ยงภัยนั้นด้วย ใน พ.ศ. นั้น (2529) งานมอเตอร์โชว์ยังจัดกันอยู่ที่สวนอัมพรใกล้ ๆ วังปารุสกวันที่พวกเราทำงานอยู่ พวกเราได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายรูป “พริตตี้” ให้สวยและชัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยได้รับกล้องฟิล์มระบบอัตโนมัติขนาดเท่าฝ่ามือ(ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นยี่ห้อ Yachica แบบที่มีขายอยู่ทั่วไปในตลาดในตอนนั้น)แอบซ่อนอยู่ในกระเป๋าถือแบบผู้ชาย ช่องเลนส์ถูกเจาะไว้ตรงหัวหมุดที่ปิดฝากระเป๋า เวลาถ่ายต้องถือกระเป๋าให้กระชับพอดีแล้วกดปุ่มชัตเตอร์ที่ด้านบนของซิป ก่อนออกไปเราก็ฝึกกดชัตเตอร์นี้ให้คล่องแคล่วเสียก่อน แต่ยังไม่ใส่ฟิล์มเพราะมีราคาแพง ทั้งนี้ฟิล์มที่ให้ไปก็เป็นฟิล์มขาวดำ ทั้งยังต้องคอยกดในจังหวะที่มีเสียงดังเกิดขึ้นแถว ๆ นั้นด้วย เพราะเวลาที่กล้องหมุนฟิล์มและคลิกชัตเตอร์จะมีเสียงดังออกมา เพื่อไม่ให้เป้าหมายหรือพริตตี้ที่เราจะไปถ่ายรูปนั้นได้ยินและสังเกตเห็น ผมกับบรรเจิดและเพื่อนร่วมรุ่นอีก 4-5 คนออกไปถ่ายเป็นกลุ่มแรก เขาให้เวลา 1 ชั่วโมงแล้วก็รีบเอากล้องมาคืนเพื่อให้กลุ่มอื่นได้ออกไปถ่ายอีก จากนั้นในอีก 2 วันต่อมาหลังจากล้างอัดรูปที่ทุกคนถ่ายเสร็จ ก็เอาออกมาติดที่ป้ายประกาศหน้าห้องฝึกอบรม พร้อมกับประกาศผลว่ารูปของใครได้รางวัลหรือผ่านเข้ารอบบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ “สอบตก” เพราะถ่ายไม่ชัดบ้าง ถ่ายแต่มุมด้านล่างบ้าง (ถ้าเป็นภาพทั่วไปน่าจะเรียกว่าเป็นภาพอนาจารเสียมากกว่า) จึงถูกมอบหมายให้ไปถ่ายใหม่ ซึ่งครั้งนี้ให้ไปถ่ายตามถนนและตลาด ซึ่งทุกคนก็ทำได้ดีขึ้น (ทว่าเรื่องการถ่ายรูปนี้พอเวลาที่เราทำงานกับเป้าหมายจริง ๆ ก็ยังมีข้อผิดพลาด แต่หน่วยงานด้านการข่าวเขาก็มีอีกหน่วยหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการแอบถ่ายโดยเฉพาะ โดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ดีกว่า ยิ่งในสมัยนี้อุปกรณ์ถ่ายภาพและเทคโนโลยีดีกว่าแต่ก่อนมาก งานด้านนี้ก็น่าจะง่ายขึ้นมาก) อีกเรื่องหนึ่งก็คือการสะกดรอยติดตามเป้าหมาย ตอนที่ฝึกอบรมผมกับบรรเจิดที่ถูกจับคู่กันนั้นต้องติดตามเป้าหมายที่ในการฝึกเรียกว่า “กระต่าย” คนเดียวกัน โดยในคำสั่งมอบหมายงานจะบอกแต่เพียงว่า “กระต่าย” ของเราจะไปขึ้นรถเมล์ที่ไหน เวลาเท่าใด เพศวัยอะไร และการแต่งกายอย่างไรเท่านั้น ดังนั้นเราทั้งสองจึงต้องไปรออยู่ที่ป้ายรถเมล์ตั้งแต่ก่อนเวลาสักครึ่งชั่วโมง ผมกับบรรเจิดแบ่งงานกันว่าเราจะคุมกันอยู่คนละด้านของป้ายรถเมล์ พร้อมกับทบทวนรหัสสื่อสารทั้งการใช้มือและเสียงถ้าจำเป็น เพื่อไม่ให้กระต่ายหลุดรอดสายตาเราไปได้ ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดการติดตามแล้วเราจะต้องกลับไปรายงานในตอนบ่ายว่า “กระต่าย” ของเราไปทำอะไร ที่ไหน เจอกับ พูดกับใครบ้าง พูดว่าอย่างไร จนถึงสิ่งที่พอสังเกตเห็นได้ที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น การทิ้งกระดาษหรือถุงลงในถัง หรือวางสิ่งของไว้ในที่ต่าง ๆ ผมกับบรรเจิดไปรอกระต่ายอยู่ที่ป้ายรถเมล์หน้าโรงหนังบางกอกรามา ถนนราชปรารภ ใกล้ ๆสามเหลี่ยมดินแดง พอเราเห็นกระต่ายขึ้นรถเราก็ขึ้นตามไป กระต่ายลงรถที่ห้างไดมารูถนนราชดำริ เดินดูของและคุยกับคนขาย 2-3 คน ไปแอบฟังดูใกล้ ๆ ก็เป็นเรื่องของการถามไถ่ราคากันธรรมดา จากนั้นกระต่ายของเราขึ้นรถเมล์ไปลงที่สวนลุม ไปคุยกับผู้ชายอีก 2 คน แต่เราเข้าไปใกล้ไม่ได้เพราะเป็นที่โล่ง จากนั้นกระต่ายก็เดินออกมาข้ามถนนไปที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แล้วเราก็พลาดกับกระต่ายตรงนี้ คือหากระต่ายไม่เจอ ไม่รู้ว่าไปที่ไหนอีก จนเที่ยงก็หมดเวลาติดตาม บ่ายเราก็กลับมารายงานที่ห้องอบรม เราก็พบกระต่ายนั่งคอยเยาะเย้ยเราอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแกก็คือเจ้าหน้าที่รุ่นพี่ที่มาช่วยอบรมคอย “ล่อหลอก” เรานั่นเอง งานการข่าวสอนให้รู้ว่า ทุกย่างก้าวคือความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ถ้าอยากอยู่รอดปลอดภัย