นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กระบุว่า...จากการฟังการอภิปรายของทุกฝ่าย เรื่องร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกฉบับที่สภามีการนำเสนอผมมานั่งวิเคราะห์ข้อเท็จจริง โดยไม่ได้ดูเพียงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่เราควรพิจารณาที่มาที่ไป ในเหตุและผลกัน ช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมา ในเวลานั้นประเทศชาติมีวิกฤติทางการเมือง คาดว่าเจตนาผู้ร่างชุดนั้น ต้องการทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้ได้มากที่สุด ประเด็นเรื่องสว.มีสิทธิ์เลือกนายก ก็มาจากปัญหาส่วนหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันทุกคะแนนมีความหมาย สส หลายท่าน พรรคการเมืองเล็กๆก็มีโอกาสส่งตัวแทนมาคานหรือถ่วงดุลอำนาจในการบริหารผ่านสภา และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีมาตราในโอกาสที่จะลดการทุจริตและป้องกันการเมืองที่มุ่งเข้ามาหาผลประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้องออกจากระบบการเมือง อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านประชามติของประชาชนจำนวน 16.8 ล้านคน ซึ่งเรียกได้ว่าผ่านกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ รวมกับสถานการณ์ของประเทศ เศรษฐกิจช่วงนี้ การบริหารจัดการงบประมาณที่มีจำกัด เป็นเรื่องที่สำคัญ “เราต้องเสียงบประมาณแผ่นดินอีกเท่าไหร่ เพื่อยกร่างและผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่.... น่าจะไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ เรานำไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชนในประเทศ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า” ผมขอยืนยันว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับบางมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ผมคิดว่า เวลานี้การใช้งบประมาณที่มีจำกัดไปในเรื่องที่เร่งด่วน จัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสม เป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่า และในช่วงเวลาที่ประเทศเราผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจเราถึงมาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อประเทศมีความพร้อมในด้านภาระงบประมาณ รัฐธรรมนูญไม่ได้สมบูรณ์ 100% และอาจจะไม่มีวันสมบูรณ์ได้เต็มร้อย เราจะฉีกทั้งฉบับร่างใหม่เสียทั้งเงินและเวลาโดยไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าปัญหาที่รุมเร้าอยู่หรือเสียงเรียกร้องมันจะหมดไป ทุกการตัดสินใจของผมอยู่บนพื้นฐานที่ยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง การตัดสินใจหลายๆ เรื่อง เป็นเรื่องยากมากๆ แต่ผมตัดสินใจในจุดยืนที่ผมเชื่อมั่นครับ