เมื่อเร็วๆ นี้ กรมศิลปากรจัดอบรมนักโบราณคดีและภัณฑารักษ์ทั่วประเทศ เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรม ให้บริการประชาชนได้อย่างถูกต้องและทันสมัย นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน โบราณสถานทั่วประเทศแล้ว 2,094 แห่ง อีกทั้งยังดูแลโบราณวัตถุ 299,266 รายการ และมีรายการโบราณวัตถุในครอบครองของวัดและเอกชนที่ประกาศขึ้นทะเบียนแล้วทั่วประเทศ 6,357 รายการ ทั้งนี้ จึงให้ความสำคัญกับเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม โดยได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้และแนวทางในการดูแลรักษาโบราณสถาน แด่พระสังฆาธิการ ฆราวาส ผู้สนับสนุนวัด อาสาสมัครท้องถิ่น และประชาชน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการดำเนินงานเพื่อจัดทำข้อมูลและนำเข้าข้อมูลด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในระบบฐานข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรมจัดอบรมนักโบราณคดีและภัณฑารักษ์ทั่วประเทศ จำนวน 120 คน ให้สามารถปฏิบัติงานดังกล่าวอย่างเป็นเอกภาพ ทันสถานการณ์ ไม่ตกยุค ไม่เชยล้าหลัง เพื่อพัฒนา ปรับปรุงฐานข้อมูลด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมให้มีความถูกต้อง ทันสมัย เป็นปัจจุบัน เพื่อบริการข้อมูลแก่ประชาชน และรองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล และให้ผู้ที่สนใจนำไปต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มทางวิชาการและทางเศรษฐกิจได้ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผ่านช่องทางสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ผ่านฐานข้อมูลในระบบออนไลน์ www.virtualmuseum.finearts.go.th และ www.qrcode.finearts.go.th ได้เช่นกัน ในส่วนของการดำเนินงานโบราณสถาน นักโบราณคดีต้องสามารถจัดทำรายงานทางวิชาการในการขุดค้นแหล่งโบราณคดี ทั้งรูปแบบ แนวทางการดำเนินงาน มีการแสดงข้อมูลโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน และเพิ่มข้อมูลการขุดค้นโบราณสถานแหล่งใหม่ๆ ให้เป็นปัจจุบัน เช่นเดียวกับภัณฑารักษ์ ที่ดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ จะต้องมีการนำเสนอรายละเอียดการจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ให้ครบถ้วน พร้อมทั้งนำองค์ความรู้ของโบราณวัตถุมานำเสนอ ทั้งยุคสมัย รูปแบบ รูปทรง ลายเส้น สถานที่ค้นพบ เป็นต้น ปัจจุบันกรมศิลปากรได้พัฒนาระบบการให้บริการแหล่งเรียนรู้ด้วย QR/AR CODE ไปแล้ว ดังนี้ QR CODE อุทยานประวัติศาสตร์ 9 แห่ง 263 รายการ โบราณสถาน 20 รายการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 41 แห่ง 936 รายการ ส่วน AR Code พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 3 แห่ง พระนคร, พระนครคีรี และอู่ทอง QR ปราสาทหินพิมาย ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทปลายบัด ตำหนักทองวัดไทร ส่วน Virtual Reality นำชมแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรม วัดมหาธาตุ วัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดราชบูรณะ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊กธม ส่วน AR รูปบบสันนิษฐาน ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา “ในปี 2564 จะดำเนินการเพิ่มเติมในลักษณะ AR และ VR เพื่อนำเสนอแหล่งมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบ 3D Model ให้ประชาชนได้ศึกษา และเข้าถึงข้อมูลได้อย่างน่าสนใจมากยิ่งขึ้น” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว