จากกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่ากรมประมงเตรียมเปลี่ยนชื่อ ปลาสวาย เป็น "ปลาโอเมก้า 3" นั้น ทางกรมประมงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า กรมประมงไม่มีนโยบายจะเปลี่ยนชื่อปลาสวายเป็นชื่อปลาโอเมก้า 3 เรื่องดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพียงต้องการเผยแพร่ข้อมูลด้านโภชนาการของปลาสวายเท่านั้น
นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย ปลาสวาย ไม่เป็นที่นิยมนำมาบริโภคมากเท่าที่ควร เนื่องจากผู้บริโภคคิดว่าเป็นปลาที่มีกลิ่นคาว กลิ่นโคลน และมันเยอะ ทำให้ปลาสวายไม่ได้เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคจะเลือกรับประทาน ทั้งที่จริงปัจจุบันกรมประมงได้ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและวิธีการเลี้ยงปลาสวายตามระบบการเลี้ยงแบบบริหารจัดการที่ดี (GAP) มาให้เกษตรกรปรับใช้ไม่ว่าจะเป็นวิธีการพักปลาในบ่อน้ำที่สะอาดและน้ำสามารถถ่ายเทได้สะดวกประมาณ 7-10 วัน ก่อนที่จะจับขึ้นมาใช้ประโยชน์จะสามารถช่วยในเรื่องของกลิ่นโคลน กลิ่นคาวของปลาสวาย ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบประปา ไฟฟ้า การคมนาคมที่สะดวกเพื่อความสดและคงสภาพสารอาหารที่มีอยู่ในตัวปลาให้ได้มากที่สุด
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้เล็งเห็นว่าปลาสวายมีสารอาหารไม่แตกต่างกับปลาทะเล แต่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคมักจะนิยมทานปลาทะเลมากกว่าปลาน้ำจืด เพราะคิดว่าคิดว่ากรดมันโอเมก้า 3 จะมีเฉพาะปลาทะเลเท่านั้น แต่ความจริงแล้วปลาน้ำจืดบ้านเราก็มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สำคัญคือมีสาร DHA ที่จะมียู่ในกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งจะช่วยในการบำรุงสมอง สายตา และช่วยลดคลอเรสเตอรอลและสารไตรกลีเซอไรด์ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณสูงจะก่อให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ระบบประสาททำงานผิดปกติ ฯลฯ สำหรับปลาน้ำจืดของไทยที่มีโอเมก้า 3 จะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด
ซึ่ง “ปลาสวาย” จัดเป็นปลาน้ำจืดอีกหนึ่งชนิดที่มีคุณภาพสารอาหารสูงพอๆกับปลาทะเล และราคาเป็นกันเองถูกใจ
คนไทยแน่นอน
"ส่วนกรณีที่ว่าที่ร้อยโทสมพร กุลบุญ ประมงจังหวัดสกลนคร ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อเรียกของปลาสวายนั้น เป็นเพียงต้องการเผยแพร่ข้อมูลด้านโภชนาการของปลาสวายให้คนไทยหันมานิยมบริโภคเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และขณะนี้ทางกรมประมงได้มีนโยบายในการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาบริโภคปลาน้ำจืดมากขึ้น" นายมีศักดิ์ กล่าว