วันนี้ ( 19 พ.ย.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งแรกเมื่อปี 2552 ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนนำ นปช. กับพวกรวม 13 คน ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, และเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการตามมาตรา 215, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ โดยศาลได้เบิกตัวนายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 3 ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีชุมนุมที่สี่เสาเทเวศร์ ปี 2550 มาศาล ส่วนพยานโจทก์ที่ต้องจึ้นเบิกความปากเเรก คือ พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สำหรับจำเลยคนอื่นๆคือ นายสิระ หรือสรวิชญ์ พิมพ์กลาง จำเลยที่ 5 นายณรงศักดิ์ มณี จำเลยที่ 6 นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท จำเลยที่ 7 นายพิพัฒน์ชัย หรือสมชาย ไพบูลย์ จำเลยที่ 8 นายพายัพ ปั้นเกตุ จำเลยที่ 9 นายพงศ์พิเชษฐ์ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 10 นายอดิศร เพียงเกษ จำเลยที่ 11 นายพีระ พริ้งกลาง จำเลยที่ 12 ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดี และนายเมธี อมรวุฒิกุล เป็นจำเลยที่ 13 ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ถูกตีตก ว่า การที่ทุกส่วนไม่ช่วยหาทางออก และปฏิเสธข้อเรียกร้อง 2 ข้อแรก เท่ากับเป็นการผลักใสให้ผู้ชุมนุม มีเป้าหมายเหลือข้อ 3 เพียงเรื่องเดียว ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าถ้ารับไปก่อนทั้ง 7 ร่างและไปพูดคุยกันในคณะกรรมาธิการในวาระที่สอง ก็ยังสามารถพูดคุยเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แต่ก็ยังมีการปั่นกระแสต่อไปว่าร่างแก้ไข ฉบับไอลอว์ จะทำให้ นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กลับบ้าน ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงใด ๆ "การพยายามไม่ได้ช่วยหาทางออกให้กับสถานการณ์ และคนของรัฐเองก็ร่วมในการสร้างสถานการณ์ ด้วยการพาคนเสื้อเหลือง ซึ่งยุติการชุมนุมกลับไปแล้วรอบหนึ่ง กลับเข้ามาอีกเพื่อให้เกิดการประทะ เพื่อหวังใช้มาตรการเช่น การประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือจะเพิ่ม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้ามา ก็จะนำไปสู่การปิดท้ายด้วยการรัฐประหารเช่นเดิม ดังนั้น นายกรัฐมนตรี ต้องสอบสวนเรื่องนี้ ว่าใครเป็นคนนำมา" นายจตุพร ยังกล่าวด้วยว่า วันนี้ไม่ต้องไปกระสุนมาจากฝั่งไหน แต่ต้องตั้งคำถามว่านักการเมืองคนไหนที่พาเสื้อเหลืองมาสร้างสถานการณ์ และขอให้จำไว้ว่า เมื่อเลือดเริ่มออกแล้ว เลือดจะไหลไม่หยุดจนกว่าจะไหลนองเต็มท้องช้าง ส่วนตัวจึงหวังว่านายกรัฐมนตรีจะไปสอบถามรัฐมนตรี ว่าใครเป็นคนนำมา นายจตุพร ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย การพักอาศัยในบ้านหลวง ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ โดยมองว่า ผลจะออกมาจะนำไปสู่สถาบันแทน ทั้งที่รัฐบาล และรัฐสภา ควรที่จะเป็นด่านหน้าในการแบกรับปัญหาทั้งหมดแทน ส่วนการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของ iLaw ที่พบว่า มี ส.ว. 3 คน โหวตรับร่าง นายจตุพร มองว่า การลงมติไม่ว่าจะรับ หรือ ไม่รับ หรือโหวตสวน ไม่ว่าจะเจตนาดี หรือเจตนาอย่างไรก็ตาม แต่ผลที่ออกมาก็ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะไม่มีผลอะไร พร้อมวิเคราะห์ว่าสุดท้าย รัฐธรรมนูญปี 60 จะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะถูกออกแบบไว้ตั้งแต่้่ต้นว่าไม่ต้องการให้แก้ไข และจะเหมือนกับรัฐธรรมนูญ ปี 40 และ ปี 50 คือถูกฉีกทิ้ง เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ ทั้งการขนกำลังให้เกิดการประทะ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกฉีก "การไม่รักษาบรรยากาศทั้ง 2 วัน ต่างก็รู้ปลายทางว่า มันต้องจบเหมือนที่เคยจบ เพียงแต่สถานการณ์ขณะนี้เปราะบาง แต่ก็อ่านออกได้ว่า ทั้งรัฐบาล และรัฐสภา ไม่ได้เป็นด่านหน้าเพื่อปกป้องสถาบันอย่างแท้จริง ถ้าทั้ง 2 ช่วยกัน สถานการณ์จะคลี่คลาย แต่นี่พิสู่จน์ชัดว่า ต่างคนต่างเอาตัวรอด ผมขอตั้งข้อกล่าวหาเอาไว้เลย และย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการรับหลักการในวาระหนึ่ง จะไม่มีวันสำเร็จ และท้ายที่สุดก็จะจบลงด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญเหมือนที่ผ่านมา"