รู้จักกับสัตว์ 13 ชนิดที่เคยไปท่องอวกาศมาแล้ว และบางชีวิตที่ต้องสละชีพเพื่อความก้าวหน้าในโลกอวกาศของมนุษยชาติ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ Animals in space สัตว์อะไรบ้างที่เคยไปอวกาศ ก่อนที่มนุษย์จะขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศ ก่อนที่ ยูริ กาการิน จะโคจรรอบโลก ก่อนที่ นีล อาร์มสตรอง จะเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก ยังมีบรรดาสัตว์ต่าง ๆ เคยขึ้นไปเพื่อบุกเบิกอวกาศ เก็บข้อมูล และทดสอบความปลอดภัยสูงสุดก่อนทดสอบกับมนุษย์ ที่ผ่านมา เราอาจจะรู้จักแค่สุนัขที่ชื่อ “ไลก้า” แต่ยังมีสัตว์ชนิดอื่นอีกมากมายที่เคยเดินทางไปนอกโลก สัตว์ชนิดแรกคือ แมลงวันผลไม้ ด้วยมักจะถูกใช้ในการทดลองอยู่แล้ว เริ่มจากพาขึ้นบอลลูนในปี พ.ศ. 2489 ลอยสูงเหนือพื้นดินถึง 171 กิโลเมตร เพื่อทดสอบผลกระทบของรังสีคอสมิก และขึ้นไปอีกครั้งกับจรวด V2 ของสหรัฐฯ เพื่อทดสอบระบบช่วยชีวิตในปีถัดมา หลังจากนั้นเป็นต้นมา แมลงวันผลไม้และเหล่าแมลงชนิดอื่น ๆ ก็ได้ไปอวกาศกันอีกหลายรอบ ตามด้วย ลิง ที่บ่อยครั้งได้เป็นนักเดินทางในอวกาศเพื่อทดสอบอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ เนื่องจากกายภาพ และโครงสร้างที่คล้ายคน โดยการท่องอวกาศครั้งสำคัญของลิง คือ พี่น้อง Albert 1-8 ลิงทีมแรกที่ไปอวกาศ กับจรวด V2 ของสหรัฐฯใน 8 เที่ยวบิน ตลอดช่วงปี พ.ศ. 2491-2495 เพื่อทดสอบสรีระวิทยา อิทธิพลค่าแรงโน้มถ่วงสูงและต่ำต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยทั้ง 8 ตัว เสียชีวิต ขณะลิงตัวแรกที่มีชีวิตรอดในอวกาศ คือ Yorick ไปกับ Aerobee missile ของสหรัฐฯ เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2494 Ham ลิงชิมแพนซีตัวแรก ถูกส่งไปอวกาศ 31 มกราคม พ.ศ. 2504 ในภารกิจ Mercury ของสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบการทำงานด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด Enos ลิงชิมแพนซีในภารกิจ Mercury เป็นลิงตัวแรกที่ได้โคจรรอบโลก 2 รอบ ใช้เวลาบินมากกว่า 180 นาที ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 ลิงถือเป็นตัวเลือกที่ดีในการทดสอบระบบต่าง ๆ ของร่างกายในอวกาศ และบางครั้งก็ขึ้นไปพร้อมกันมากกว่า 1 ตัวเพื่อลดความเครียด สุนัข ซึ่งที่เรารู้จักกันคือ ไลก้า แต่ทว่าไม่ใช่ตัวแรก โดยนักวิทย์ชาวโซเวียตริเริ่มทดลองใช้สุนัขไปอวกาศ คู่แรกคือ Tsygen & Dezik เป็นสุนัขข้างถนน และเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรก ที่ไปอวกาศวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ที่ความสูง 100 กิโลเมตร และกลับมาโดยปลอดภัย ต่อด้วย ไลก้า เป็นสุนัขท่องอวกาศตัวแรก ไปกับดาวเทียมสปุตนิก 2 ที่โคจรรอบโลก เมื่อ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 และน่าเศร้าเพราะไลก้าเสียชีวิตหลังเดินทางไม่กี่ชั่วโมงจากความร้อนของดาวเทียม จากนั้น โซเวียตก็ส่งสุนัขขึ้นไปเรื่อย ๆ และจะไปเป็นคู่เพื่อลดความเครียด   หนู ที่เป็นสัตว์ทดลองตัวโปรดของนักวิทยาศาสตร์ ด้วยมีอวัยวะภายในและโครโมโซมใกล้เคียงมนุษย์ ทั้งตัวที่เล็ก จึงถูกส่งไปอวกาศหลายครั้ง โดยมีหนูหลายสายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ Mice หรือ Rat หนูตะเภา #กระต่าย ถือเป็นรุ่นพี่ของหนูทดลอง ที่โซเวียต เคยนำกระต่ายสีเทา ขึ้นไปทดลองในอวกาศกับภารกิจ Korabl Sputnik 2 เมื่อปี พ.ศ. 2503 และรอดชีวิตกลับมาได้ แมวเหมียว ก็เคยไปอวกาศมาแล้ว เป็นแมวจากปารีส ชื่อ Felicette ถูกส่งขึ้นไปกับ Veronique AGI sounding 47 ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2506 เพื่อสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิขณะเดินทาง รวมทั้ง เต่า ที่แซงกระต่ายได้ไปไกลถึงดวงจันทร์ ในภารกิจ Zond 5 โดยโซเวียตเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2511 ในภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์และเดินทางกลับมายังโลกได้โดยปลอดภัย ปลา คือ ปลามัมมิช็อก ซึ่งเป็นปลาที่อึดมาก สามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความผันผวนของอุณหภูมิสูงและทนการปนเปื้อนของรังสีได้ ปลาทั้ง 2 ตัวได้ขึ้นไปอยู่กับสถานีอวกาศ Skylab ของสหรัฐฯวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516  แมงมุมเพื่อนรัก Anita & Arabellar ถูกส่งไปพร้อมกับปลามัมมิช็อก เพื่อทดสอบว่าแมงมุมสามารถสร้างใยนอกโลกในสภาพความโน้มถ่วงต่ำได้หรือไม่ เพราะแมงมุมต้องการแรงโน้มถ่วงในการกำหนดทิศทางเส้นใย แต่สุดท้ายก็สามารถปรับตัวและสร้างใยได้ และอยู่บนสถานีอวกาศได้เกือบ 2 เดือนก่อนที่จะจบชีวิต กบ ภารกิจ OFO-A (Orbiting Frog Otolith spacecraft) ของสหรัฐฯ ได้นำกบขนาดใหญ่ 2 ตัวขึ้นไปบนอวกาศ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 เป็นเวลา 5 วัน เพื่อตรวจสอบอิทธิพลของสภาพไร้น้ำหนักต่อโครงสร้างของหูกบ นิวต์ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำพวกซาลาแมนเดอร์ โดยนิวต์ ทั้ง 10 ตัวได้ขึ้นไปกับยาน Bion 7 ของโซเวียต เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อศึกษาการซ่อมแซมตัวเองของร่างกาย #แมงกะพรุน ก็ได้ไปอวกาศมาแล้วและไปกันเป็นฝูงใหญ่ ในกระสวยอวกาศโคลัมเบียเที่ยว STS-40 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยแมงกะพรุนพระจันทร์กว่า 2,500 ตัว ว่ายเบียดเสียดกันอยู่ในกระสวยอวกาศ เพื่อศึกษาเรื่องระบบประสาท เนื่องจากแมงกะพรุนมีชุดตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงที่ละเอียดในการรักษาสมดุลการว่ายในทิศทางต่างๆ ปิดท้ายด้วย หมีน้ำ ซึ่งองค์การอวกาศยุโรป ได้ส่งสัตว์ที่อึดที่สุดในโลกไปกับยาน Foton M3 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2550 หมีน้ำสามารถทนต่อรังสีได้นานถึง 10 วันในสภาพจำศีล และคืนชีพเมื่อกลับสู่สภาวะที่เหมาะสม ทั้งนี้ เป็นเวลากว่า 74 ปีที่วิทยาศาสตร์อวกาศได้ประโยชน์จากสัตว์ทดลองในการทดสอบต่าง ๆ ทั้งระบบภายในร่างกายและสภาพจิตใจ ถึงแม้จะสูญเสียสัตว์เหล่านี้ไปบ้าง แต่ได้สร้างองค์ความรู้ให้กับนักวิทยาศาสตร์อย่างมหาศาล รวมถึงการปูทางสู่เทคโนโลยีในอนาคตต่าง ๆ อีกด้วย หากไม่มีสัตว์เหล่านี้ อาจจะพบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ก็เป็นได้ เรียบเรียง : อนันต์พล สุดทรัพย์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. -------------------------------------- อ้างอิง [1] https://history.nasa.gov/animals.html [2] https://www.nasa.gov/.../fea.../F_Animals_in_Space_9-12.html [3] https://history.nasa.gov/History%20of%20Space%20Life... [4] http://www.esa.int/.../Tiny_animals_survive_exposure_to... [5] https://blogs.scientificamerican.com/.../the-first-fish.../