สศค.ประเดิมของบครม. 800 ล้าน ซื้อประกันพีเอพ่วงเงินชดเชยรายวันแพ็กเกจแรกแจกคนจนลงทะเบียน 8 ล้านราย ขณะที่บอร์ดคปภ.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเลและขนส่งฉบับแรกเป็นประวัติศาสตร์ของไทย แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้เตรียมนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งสศค.ได้จัดทำเป็นแพ็กเกจแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา อาทิเช่น การตั้งหน่วยงานพิเศษของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ซึ่ง จะมีหน้าที่ดูแลลูกค้า โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนอกเหนือจากมาตรการนาโนไฟแนนซ์แล้ว ยังมีสินเชื่อพิโค ไฟแนนซ์ (Pico Finance) ขณะเดียวกัน สศค.ยังได้เตรียมเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบงบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท ในการจัดซื้อประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล(พีเอ) เพื่อแจกฟรีให้กับผู้ลงทะเบียนคนจนตามที่รัฐบาลได้เปิดให้มีการลงทะเบียนคนจนมานับตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 59 และได้ปิดการลงทะเบียนลงเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 8 ล้านรายด้วยกัน โดยรูปแบบประกันพีเอดังกล่าวจะคิดเบี้ยประกันตกเฉลี่ยอยู่ที่หัวละ 100 บาท และคุ้มครองกรณีเสียชีวิตวงเงิน 1 แสนบาท โดยจะมีเงินชดเชยรายวันให้กรณีเข้ารับรักษาพยาบาลอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัยธุรกิจประกันภัย เมื่อวันที่26 สิงหาคม 2559 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. ... และให้สำนักงาน คปภ. เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อกระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากการประกันภัยทางทะเลเป็นธุรกรรมที่สำคัญประเภทหนึ่งในระบบการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้า การเดินเรือในประเทศ และระหว่างประเทศ แต่ประเทศไทยกลับไม่มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นของตนเองไว้ใช้ เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยทางทะเล ศาลฎีกาได้นำกฎหมายประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษมาปรับใช้ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ซึ่งสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายของต่างประเทศ จึงมีความยุ่งยากในการนำสืบหลักกฎหมาย และมีบางส่วนที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับประเทศไทย ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้การประกันภัยทางทะเลอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเฉพาะ แยกจากกฎหมายประกันภัยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การยกร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลนี้จะที่ทำให้ประเทศไทยได้มีกฎหมายประกันภัยทางทะเล ของตนเองเป็นครั้งแรก อันถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญ ที่จะเป็นกลไกในการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเลและขนส่งให้แข่งขันในเวทีโลกได้ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทของศาล เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานในการใช้การตีความกฎหมายประกันภัยทางทะเลของไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความในคดี ที่ไม่ต้องนำสืบหลักกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนในผลแห่งคดี