เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: มองกายภาพของกรุงเทพมหานคร ต้องถือว่ามีการพัฒนาด้านความเจริญของเมืองเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นมหานครแถวหน้าติดอันดับของโลก กระนั้น ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะมีความศิวิไลซ์ที่เห็นในปัจจุบัน ต้องย้อนภาพกรุงเทพฯ ไปเมื่อราว 150 ปีที่แล้ว ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่ากรุงเทพฯ มีหน้าตาและลักษณะกายภาพอย่างไร ในที่นี้ขอคัดงานเขียนในหนังสือ ตำนานงานโยธา (พ.ศ.2325 – 2556) มหานครแห่งการเรียนรู้ บางช่วงตอนมานำเสนอ และภาพจากนิทรรศการ “ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองบางกอก” สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ จัดแสดงผนังโค้งหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ปี 2555 ถ่ายเก็บไว้เพื่อการค้นคว้าและศึกษา บางภาพอาจจะไม่ตรงในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้เพื่อนำมาประกอบเนื้อเรื่องเท่านั้น หากกรุงเทพมหานครในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แสดงออกซึ่งความทันสมัย ด้วยภาพของพระราชวัง อาคาร บ้านเรือน ถนน ห้างร้านสมัยใหม่ ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบชาติตะวันตก เมื่อล่วงสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งนับเป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี (ครองราชย์ พ.ศ.2411 – 2453) ความศิวิไลซ์ของกรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่จะยิ่งเจริญก้าวไกลจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 เท่านั้น หากแต่เพิ่มเป็นเท่าทวี ทั้งยังมีสิ่งใหม่ที่ทำให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างสิ้นเชิง ในช่วงแรกของรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงสานต่อพระราชวิสัยทัศน์ที่พระบรมชนกนาถทรงริเริ่มไว้ ในการปรับปรุงประเทศไปสู่ความทันสมัย ด้วยการพัฒนาลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ ให้เท่าทันกับความเจริญของชาติตะวันตก เห็นได้จากการที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างสถานที่ราชการ อาคาร ห้างร้าน บ้านเรือนสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการตัดถนนสายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับความเจริญทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของพระนคร ในเวลาเดียวกันคุณภาพชีวิตของราษฎรก็ได้รับการพัฒนาด้วยกำเนิดของสาธารณูปโภคต่างๆ งานช่างในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 จึงเป็นงานช่างที่สรรสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต้องการสร้างพระนครให้ศิวิไลซ์ เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ชาติตะวันตกเข้ารุมเร้ารอบด้าน ในหนังสือตำนานงานโยธาได้บอกเล่าเขตเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงเวลานั้นมิอาจกำหนดกำหนดได้ด้วยแนวกำแพง คู คลอง เช่นในอดีต หากแต่กำหนดโดยความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และการประกอบอาชีพ ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนแนวแบ่งเขตเมืองให้เป็นสัดส่วน เป็นระเบียบแบบแผน โดยอาจแบ่งได้เป็น 8 บริเวณสำคัญ ได้แก่ บริเวณที่ 1 ศูนย์กลางการบริหารและการปกครอง ได้แก่ บริเวณรายรอบพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่ตั้งของสถานที่ราชการและสถานที่สำคัญ ศูนย์กลางการบริหารและการปกครองประเทศ บริเวณที่ 2 ย่านชุมชนเดิม ได้แก่ พื้นที่ระหว่างแนวคลองคูเมืองเดิมและคลองรอบกรุง เป็นที่ตั้งของชุมชนเดิมที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และชุมชนหลากหลายวัฒนธรรมกลุ่มใหม่ ที่เข้ามาพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ บริเวณที่ 3 ย่านชุมชนใหม่ ได้แก่ บริเวณพื้นที่นอกกำแพงพระนครเหนือคลองรอบกรุงไปจนจรดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นที่ตั้งชุมชนที่อยู่อาศัยของขุนนางและข้าราชบริพารที่ได้เข้าไปตั้งรกรากอยู่บริเวณรายรอบพระราชวังดุสิตและวังเจ้านายซึ่งสร้างขึ้นใหม่ บริเวณที่ 4 ย่านชุมชนการค้าของชาวจีน ได้แก่ บริเวณพื้นที่ตำบลสำเพ็ง ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกกำแพงพระนคร เป็นที่ตั้งชุมชนชาวจีน ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญที่สุดของพระนครในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณที่ 5 ย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของชาวตะวันตก ได้แก่ พื้นที่ตำบลบางรักด้านทิศใต้นอกกำแพงพระนคร เป็นที่ตั้งของสถานกงสุล ศาสนาสถาน ห้างร้าน และที่อยู่อาศัยของชาวตะวันตก บริเวณที่ 6 พื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ พื้นที่เขตชานเมืองด้านตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล บริเวณพื้นที่ 7 พื้นที่อุตสาหกรรมและการส่งออก ได้แก่ บริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ของพระนครไปจนจรดปากแม่น้ำบางกะเจ้า เป็นที่ตั้งของย่านอุตสาหกรรมและท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ บริเวณที่ 8 ย่านการผลิตเพื่อการบริโภคภายในพระนคร ได้แก่ พื้นที่ชานเมืองฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี เป็นที่ตั้งของย่านการผลิตสินค้าบริโภคของพระนคร กาลเวลาล่วงมากว่า 150 ปี กรุงเทพมหานครมีความศิวิไลซ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน