ส่ง 4 นักบินอวกาศเดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติ ครั้งแรกโดยภาคเอกชน ปูทางสู่การท่องเที่ยวอวกาศในอนาคต NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “เปิดฉากเที่ยวบินอวกาศเต็มรูปแบบระหว่าง #NASA และ #SpaceX กับภารกิจ “Crew-1” ส่งนักบินอวกาศ 4 คนไปยัง ISS #หนึ่งในสี่ เป็นนักบินอวกาศญี่ปุ่น #ปูทางสู่การท่องเที่ยวอวกาศในอนาคต เช้าวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2563 (ตามเวลาประเทศไทย) จรวด Crew Dragon ของ SpaceX ได้ส่งนักบินอวกาศ 4 คนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ซึ่งนับเป็นภารกิจอวกาศแบบเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ที่ถูกส่งขึ้นไปโดยบริษัทเอกชน ตั้งแต่ #NASA ได้ปลดประจำการโครงการกระสวยอวกาศไปเมื่อปี 2011 นับเป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษที่ไม่มีนักบินอวกาศคนใดได้บินออกไปสู่อวกาศจากแผ่นดินของสหรัฐอเมริกา ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นการส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาตินั้น จะทำโดยจรวด Soyuz ของรัสเซีย ที่เป็นเช่นนี้นั้นเนื่องมาจาก #NASA มีความต้องการที่จะผลักดันให้ภาคเอกชนมีบทบาทในอวกาศมากยิ่งขึ้น จึงผันบทบาทตัวเองจากผู้ที่ผลิต พัฒนา และดำเนินการบรรทุกสัมภาระและนักบินอวกาศ มาเป็นเพียงการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ผลิต พัฒนา และดำเนินการดังกล่าวแทน ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนสองบริษัทที่ชนะประมูลและได้รับรองให้พัฒนาระบบขนส่งลำเลียงนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ได้แก่ SpaceX และ Boeing อย่างไรก็ตาม โครงการ Starliner ของ Boeing นั้นจะต้องล่าช้าไปอีก เนื่องจากข้อบกพร่องทางซอฟท์แวร์ที่ตรวจพบในภารกิจทดสอบเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันจึงมีแต่เพียงโครงการ Crew Dragon ของ SpaceX ที่เป็นบริษัทเอกชนแห่งแรก และแห่งเดียวที่สามารถบรรทุกนักบินอวกาศไปยังอวกาศได้ จรวด Crew Dragon ได้เปิดฉากการเดินทางไปยังอวกาศโดยภาคเอกชนมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยการส่งนักบินอวกาศสองราย คือ Douglas Hurley และ Robert Behnken ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในภารกิจเพื่อทดสอบระบบลำเลียงและความปลอดภัยของ Crew Dragon ก่อนจะมีการรับรองให้สามารถบรรทุกนักบินอวกาศได้อย่างเป็นทางการเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ภารกิจ Crew-1 นี้ จึงนับเป็นภารกิจอย่างเป็นทางการที่บรรทุกนักบินอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มรูปแบบ ถึง 4 คน และนับเป็นภารกิจแรก ของอีกหลายๆ ภารกิจที่จะตามมาของระบบ Crew Dragon นี้ นักบินอวกาศสี่คน Michael Hopkins, Victor Glover, Shannon Walker และ Soichi Noguchi ซึ่งเป็นนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นจาก JAXA ได้นั่งขึ้นไปกับจรวด Crew Dragon ของ SpaceX และจะใช้เวลา 27 ชั่วโมงก่อนที่จะเข้าเทียบท่ากับสถานอวกาศนานาชาติในเวลา 11 โมงเช้าของวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย ภารกิจในการปล่อย Crew Dragon ในครั้งนี้ ล่าช้าไปหนึ่งวัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยจากพายุเฮอร์ริเคน Eta ทำให้จรวดนั้นคลาดตำแหน่งกับ ISS แทนที่จะใช้เวลาเพียง 8 ชั่วโมงในการเทียบท่าที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม จึงต้องเปลี่ยนมาใช้เวลาถึง 27 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ภายใน Crew Dragon นั้นมีห้องสุขา และนักบินอวกาศสามารถพักผ่อนได้ เนื่องจากระบบการนำทางที่อัตโนมัติโดยสิ้นเชิง นักบินอวกาศทั้ง 4 ที่ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้นั้น จะขึ้นไปช่วยเติมเต็มลูกเรือบน ISS ที่ปฏิบัติภารกิจการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญหลายการทดลอง ตั้งแต่ ผลกระทบของ microgravity ที่มีต่อเซลล์เนื้อเยื่อหัวใจ ไปจนถึงการทดลองปลูกหัวไชเท้าในอวกาศ เพื่อค้นหาช่องทางในการหาแหล่งอาหารอย่างยั่งยืนสำหรับภารกิจการสำรวจห้วงอวกาศไกลในอนาคต การเปลี่ยนภาระหน้าที่ในการลำเลียงมนุษย์ไปยังอวกาศสู่ภาคเอกชนนี้ นับเป็นก้าวแรกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการปลดภาระของ #NASA เพื่อให้สามารถมุ่งเน้นความสนใจไปยังส่วนอื่นของการสำรวจอวกาศได้แล้ว การที่นักบินอวกาศเป็นเพียงผู้โดยสารของยานสำรวจที่ถือครองโดยภาคเอกชน ยังเป็นการเปิดช่องทางถึงความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะส่งนักท่องเที่ยวอวกาศผ่านระบบขนส่งเดียวกันกับที่ส่งนักบินอวกาศนาซาไปในอนาคต และอาจจะนำไปสู่การท่องเที่ยวอวกาศในทางการค้าที่มนุษย์ทุกคนเข้าถึงได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนั้นราคาค่าตั๋วต่อการขนส่งนักบินอวกาศโดย SpaceX นั้นอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เรียบเรียง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม: [1] https://edition.cnn.com/.../spacex-nasa-launch.../index.html [2] https://abcnews.go.com/.../astronauts-set-launch.../story...”