“พระนาคปรก” ถือเป็นปางพระพุทธรูปที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในฐานะ ‘พระประจำวันเกิด วันเสาร์’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปในพระอริยาบถประทับขัดสมาธิ บนบัลลังก์พญานาคแผ่พังพานปกเหนือพระเศียร แต่นอกจากจะเป็น พระประจำวันเกิด วันเสาร์ ยังเป็นพระที่ผู้คนสักการะบูชาเพื่อปลดเปลื้องความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมานทางกายของมนุษย์ ให้หลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงเป็นอีกหนึ่งวัตถุมงคลสำคัญที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจพุทธศาสนิกชนคนไทยได้เป็นอย่างดี และนิยมปลุกเสกกันมาตั้งแต่ในอดีต อาทิ พระนาคปรก หลวงพ่อแฉ่ง ศีลปัญญา วัดบางพัง จ.นนทบุรี ปี พ.ศ. 2484 เหรียญพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ (พระพุทธโอสถ) ปี พ.ศ. 2558 และ พระไภษัษคุรุพุทธเจ้า องค์สีขาว หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน ปี พ.ศ. 2560 แต่ทั้งนี้ น้อยคนนักที่จะทราบถึงพุทธประวัติ และพุทธคุณของพระนาคปรก ดังนั้น จึงขอพาทุกท่านไปสัมผัส 5 เรื่องราวของพระนาคปรก ดังต่อไปนี้ - ที่มาของคำว่า “นาคปรก” มาจากพุทธประวัติในช่วงที่พระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ใต้ต้นมุจลินท์ หลังจากตรัสรู้แล้ว มีฝนและลมหนาวตกพรำตลอด 7 วันไม่ขาดสาย พญานาคราชมุจลินท์จึงได้ขึ้นจากนาคพิภพ เข้าไปวงขนดรอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้า เพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย - พระพุทธรูปนาคปรก มีเค้ามูลรากฐานมาจากคัมภีร์ของพระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาท ที่แพร่หลายในอินเดีย เอเชียกลาง และจีน อีกทั้งยังปรากฏในคัมภีร์ของพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งในพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรเขมรมีการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามหายานเป็นศาสนาหลัก และมีการสร้างพระพุทธรูปนาคปรกเป็นพระประธานประดิษฐาน ณ อโรคยาศาลทุกแห่ง ทั่วอาณาจักร ครอบคลุมถึงพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศไทย ทำให้ชาวไทยได้รับอิทธิพลและเคารพนับถือพระพุทธรูปนาคปรกแห่งการแพทย์จากวัฒนธรรมเขมรโบราณ - ลักษณะของพระพุทธรูปนาคปรกแห่งการแพทย์ จะมีข้อแตกต่างจาก พระนาคปรกประจำวันเสาร์ 1 จุด คือ “เครื่องทรง” โดยพระนาคปรกแห่งการแพทย์ ไม่ได้ครองจีวรแบบนักบวช แต่ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ อีกทั้ง พระองค์แสดงธยานมุทรา และมีตลับหรือหม้อโอสถวางบนพระหัตถ์ซ้าย ซึ่งใช้ในการเสกน้ำมนต์แก้พิบัติภัยจากโรคระบาดและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ - ผู้บูชาพระนาคปรก เชื่อว่าสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บทางกายและทางใจได้ หากบูชาอย่างถูกต้อง หรือเพียงสัมผัสรูปองค์พระ และในกรณีที่ผู้บูชาเจ็บป่วยร่างกายในบริเวณไหน ให้นำมือไปสัมผัสรูปของพระองค์ที่บริเวณนั้น ก็จะหายจากอาการเจ็บป่วย - พระปางนาคปรก นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาค แต่หากจะรักษาพุทธลักษณะตามพุทธประวัติจะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขภายในวงขนดของพญานาคที่สูงจนบังพระวรกายมิดชิด เพื่อป้องกันฝนและลม โดยจะเห็นได้ก็เพียงพระเศียร พระศอ และพระอังสา ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร รัชกาลที่ 6 ซึ่งประดิษฐาน ณ หอพระ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง โดยล่าสุด มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร โดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ดำเนินการออกแบบ “เหรียญและพระนาคปรกใบมะขาม พระพุทธสัตตนาคเภสัชคุรุมุณี” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก พระปางนาคปรก ที่มีพุทธคุณทรงคุณค่าด้านการแพทย์ ผสมผสานกับเงาพระพักตร์ของรัชกาลที่ 4 และ รูปมงกุฎ ตราสัญลักษณ์ของ สจล. เพื่อถ่ายทอดความหมายของกษัตริย์ ในฐานะพุทธราชาผสมเทวราช ในลักษณะ “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” ที่แสดงพุทธภาวะอยู่เหนือเทพเทวะ มนุษย์ สัตว์ อสูรและภูตผี ปีศาจต่างๆ ประทับขัดสมาธิโดยมีฐานบัว 1 ชั้น รองรับพระวรกายบนบัลลังก์พญานาคมุจลินท์ 7 เศียร ขนดกาย 3 ชั้น และฝ่าพระหัตถ์ถือหม้อน้ำมนต์ อันแสดงถึงอำนาจแห่งพุทธคุณเยียวยารักษา โรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจ นอกจากนี้ ยังได้จัดพิธีพุทธาภิเษก “เหรียญและพระนาคปรกใบมะขาม พระพุทธสัตตนาคเภสัชคุรุมุณี” โดยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาในพระนาคปรก สั่งจอง/เช่าบูชา อันจะเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ในการสมทบทุนจัดสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMC Hospital) โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ ตลอดจนรักษาผู้สูงอายุ ในอนาคต สอบถามข้อมูลการสั่งจอง หรือบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนจัดสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร โทร. 092-454-8160, 092-548-2640