สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Social Innovation Hub: CU SiHub) โดย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ สามประการ ประกอบด้วย การพัฒนาผู้นำแห่งอนาคต (Future Leader) การสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยคุณภาพ (Impactful Research and Innovation) และ การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) การเปิดตัวศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Social Innovation Hub: CU SiHub จะส่งเสริมชาวจุฬาให้ริเริ่มหรือต่อยอดการสร้างนวตกรรมเพื่อสังคม การเสริมสร้างชาวจุฬาฯ ในเครือข่ายวิชาการทุกสาขาสร้างงานวิจัยมุ่งนวตกรรมเพื่อสังคม และ ทำให้เกิด การ spin-off วิสาหกิจเพื่อสังคม (Enterprise for Society) ของจุฬาฯ โดยระดมความร่วมมือจากภาคส่วนทางสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย กล่าวว่า CU Social Innovation Hub จะเป็นแหล่งรวมนักวิจัยและเป็นพื้นที่บ่มเพาะอาจารย์/นักวิจัยรุ่นใหม่ในการนำความรู้และนวัตกรรมไปแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับเนื้อหา (Content) และ บริบท (Context) ของสังคมไทย ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มุ่งตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลก ทั้งนี้ CU SiHub จะเป็นพื้นที่ปฏิบัติการบูรณาการสหศาสตร์ ขับเคลื่อนนวัตกรรมจากการวิจัยของชาวจุฬาฯ เพื่อตอบโจทย์สังคมที่ท้าทาย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬา กองทุนศตวรรษที่ 2 (C2F) และ สำนักบริหารการวิจัย ของจุฬาฯ เช่น การบูรณาการนวัตกรรมนโยบายสังคมสูงวัย (Aging Research Innovation) การออกแบบนวัตกรรมสถาปัตยกรรมเพื่อสังคม (Design for Society) การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Community and Creative Tourism) การสร้างแรงบันดาลใจเชิงมนุษยศาสตร์ (Art and Humanities for Sustainability) เป็นต้น โดยมี รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงานกองทุนศตวรรษที่ 2 ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
รศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านวิจัย และ ดูแล CU Social Innovation Hub กล่าวว่า “CU Social Innovation Hub มีจุดหมาย ริเริ่ม บ่มเพาะ และสร้างประโยชน์สังคม (Initiation Incubation Impact) เน้นการนำนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ช่วยสังคมโดยไม่หวังผลกำไร ผสมผสานเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหา และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะ Comprehensive University มีอาจารย์และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญในทุกสาขา โดยเฉพาะความริเริ่มและความร่วมมือจากคณาจารย์ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีศักยภาพเป็นจำนวนมาก จึงจัดตั้งศูนย์รวมเพื่อเป็นพื้นที่บูรณาการ (Multidisciplinary Research Platform) ในการรวมตัวเพื่อร่วมระดมความคิดและอำนวยความสะดวกในการสร้างนวตกรรมแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงเป็นศูนย์บ่มเพาะอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตรุ่นใหม่เป็นนวัตกรรรมทางสังคมเพื่อให้นำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือสังคมอย่างมีคุณภาพ ตอบโจทย์เป้าหมาย SDG (Sustainable Development Goals) เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”