มโนศาสตร์การเมืองไทย มองข้ามช็อตไปสู่วันชี้ชะตา 2 ธันวาคม 2563ว่าจะเป็นฉากจบของวิกฤตการณ์ทางการเมือง เป็นทางออกให้กับประเทศไทย และเป็นทางลงให้กับ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของเขาว่าจะสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามคำร้องของพรรคเพื่อไทย กรณีการอาศัยบ้านพักหลวงภายใน กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1ทม.รอ.) ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 3 คือ ขัดกันของผลประโยชน์ ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ
ด้วยไทม์ไลน์ของคดี เหมาะเจาะพอดีมาเกิดขึ้นในห้วงบรรยากาศอึมครึมทางการเมือง ที่หลายฝ่ายมีคำถามกันเซ็งแซ่ว่า สถานการณ์การชุมนุมที่ยืดเยื้อจะจบลงเมื่อไหร่ และอย่างไร?! เมื่อ “บิ๊กตู่” ยืนกรานไม่ลาออกจากตำแหน่ง
โดยเฉพาะบรรยากาศที่เขม็งกลียว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา เกิดภาพเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามบุกเข้าไปบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง เจ้าหน้าที่ต้องฉีดน้ำสกัด จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย
แม้รายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. ที่แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 จะระบุว่า จะพบสัญญาณดีที่ว่า มวลชนของกลุ่มคณะราษฎร 2563 อ่อนแรงลงมาก เห็นได้จากจำนวนของผู้มาร่วมชุมนุมที่ลดลงเยอะ เมื่อเปรียบเทียบกับการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ตำรวจจะฉีดน้ำสลายการชุมนุม
สมช.ยังประเมินการจัดม็อบดาวกระจายไปต่างจังหวัดว่า มีผู้มาร่วมเพียงหลักร้อยถึงหลักพัน ขณะที่ใน กรุงเทพมหานครยอดสูงสุดอยู่ที่ 1.5 หมื่นคน เมื่อรวมจำนวนผู้ชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทั้งประเทศ ยอดมวลชนสูงสุดไม่เกิน 2 หมื่นคน ทางสมช.จึงเสนอให้ปล่อยให้มีการชุมนุม แล้วใช้กฎหมายดำเนินการในภายหลัง ซึ่งการใช้วิธีนี้เชื่อว่าผู้ชุมนุมจะอ่อนแรงลงไปเอง
กระนั้น เซียนการเมือง มีการตั้งข้อสังเกตว่า ม็อบวันที่ 8 พฤศจิกายน มีกระบวนการจัดการม็อบที่มีความพร้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของซุ้มอาหารจากพ่อยก และแม่ยกต่างๆ เตรียมอุปกรณ์ในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และพลุควัน ส่งสัญญาณว่า มี “ท่อน้ำเลี้ยง” เข้ามาสนับสนุน โดยมีลักษณะเทียบเคียงกับที่กลุ่ม นปช.ได้รับการสนับสนุนในการเคลื่อนไหวในการชุมนุมในวิกฤติปี 2553 ขณะที่ท่าทีของแกนนำ ยังคงยืนกรานที่จะนัดชุมนุมเคลื่อนไหว จนกว่า “บิ๊กตู่”จะลาออกเท่านั้น
และเมื่อหันมาดูสถานการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีชนวนระเบิดเกิดขึ้นใหม่อีก เมื่อปรากฏการณ์รวมตัวกันของส.ว และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 72 รายลงชื่อกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ฉบับ ทั้งร่างของวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และ ไอลอว์
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล มองว่า ไม่ใช่การเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นว่าเป็นการยุติไม่อนุญาตให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่ฉบับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. อย่างเด็ดขาด เปรียบเป็นการปิดประตูที่เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เคยมีประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์มาแล้วครั้งหนึ่งที่อยู่ดีๆ กำลังจะลงมติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีการเสนอให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ ทำให้การลงมติต้องเลื่อนออกมาอีกเกือบ 2 เดือน การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็อาจทำให้เวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกลากยาวออกไปอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ทำลายบรรยากาศของการหาทางออกให้ประเทศ
เมื่อนอกสภาฯก็วุ่น ในสภาฯก็เดือด เหมือนต่างฝ่ายต่างกำลังชักเย่อกันสุดกำลัง ทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่วันพิพากษา 2ธันวา! ว่า “บิ๊กตู่”อาจจะเดินย่ำซ้ำรอย 3 อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยเฉพาะมีการนำกรณีนี้ ไปเทียบเคียงกับ กรณีของ สมัคร สุนทรเวช ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการจัดรายการทำอาหาร “ชิมไปบ่นไป” ที่เป็นการกระทำขัดแย้งผลประโยชน์เหมือนกัน
อีกทั้งเมื่อ 12 ปีก่อน ในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ที่ส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯนอกทำเนียบฯ ขาดคุณสมบัติและตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เข้ายึดพื้นที่ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลไว้ตั้งแต่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช
ยังมีอีกกรณี คือในช่วงของการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกปปส. ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง กรณีย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผ็จการแห่งชาติ หรือนปช. ออกมาฟันธงว่า ไม่รอด!
“ถ้าเป็นไปตามความเชื่อผม ว่าวันที่ 2 ธ.ค.เป็นวันประหาร ถ้าเชื่อควรต้องลุกออกไปก่อน”
ขณะที่ “บิ๊กตู่” ตอบผู้สื่อข่าวว่า ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไร ก็อยู่ที่ศาลตัดสิน
ตัดกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 “บิ๊กตู่”เคยให้เหตุผลของการยังอาศัยอยู่บ้านพักทหารว่า ตนทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิต ถึงกฎระเบียบจะว่าอย่างไรก็ตาม วันนี้ยังทำงานอยู่ ปัญหาคือตนเป็นนายกฯ จึงต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมในการรักษาความปลอดภัย ในฐานะผู้นำประเทศ ซึ่งตนก็เตรียมไปอยู่บ้านตนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายมองว่า โอกาสที่ “บิ๊กตู่” จะเดินซ้ำรอยอดีตนายกฯทั้ง 3 รายนั้นเป็นไปได้น้อยมาก โดยเฉพาะกรณีของ “สมัคร” นั้น นำมาเทียบเคียงไม่ได้ เนื่องจากกรณีของ “สมัคร”นั้นได้รับเงินค่าจ้าง ถือเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่ห้ามรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างบริษัทที่แสวงหากำไร เพื่อให้ทำหน้าที่โดยชอบ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ และขาดจริยธรรมระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับสาธารณะ
อีกทั้งในสมัยที่พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ “บิ๊กแดง”เป็นผบ.ทบ.นั้น แนวคิดจัดระบบบ้านพักสวัสดิการทหาร ให้นายทหารเกษียณราชการย้ายออกจากบ้านหลวง เว้นแต่ผู้เกษียณราชการแล้ว แต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกติ เพราะถือว่าทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ซึ่งเทียบเคียงกับกรณีของ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่พักอาศัยบ้านสี่เสาเทเวศร์
ที่สำคัญคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร การพิจารณาคดีจึงต้องระมัดระวัง ไม่ให้กระทบต่อวงกว้าง ต้องใช้หลักรัฐสาสตร์ในการพิจารณาคดี จะใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้
บวกลบคูณหารแล้ว โอกาสที่ “บิ๊กตู่”จะรอดคมดาบของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีสูง!!
กระนั้น ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าว สำหรับ “บิ๊กตู่”แล้ว ไม่ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย ก็มีแต่ได้กับได้ ที่หากศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พ้นสภาพรัฐมนตรี ก็มีทางลงไม่ต้องลาออกตามแรงกดดันของกลุ่มผู้ชุมนุม ในทางกลับกันหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี “บิ๊กตู่”ก็จะมีสภาพไม่ต่างจากพยัคฆ์ติดปีก
ส่วนผลกระทบต่อสงครามการเมือง โดยเฉพาะม็อบจะฝ่อไปเอง หรือยิ่งยั่วยุให้ลุกเป็นไฟ คงต้องติดตามตอนต่อไปด้วยใจระทึก!!