ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “มนุษย์มีวิถีชีวิตแห่งการคิดคำนึงต่อการดำรงอยู่ที่แตกต่างกัน..นั่นหมายถึงว่า...คุณค่าแห่งการสร้างบทเรียนอันแยบยลของจิตวิญญาณนั้นจำเป็นต้องมีความตื่นรู้อยู่เสมอ...เป็นนัยสำนึกที่ยึดโยงอยู่กับความเป็นหนึ่งของกันและกัน...ระหว่างและท่ามกลางสรรพสิ่งอันเต็มไปด้วยเงื่อนงำแห่งการรับรู้ รับฟังอันสลับซับซ้อน...หลายๆขณะที่ชีวิตของมนุษย์เรามีโอกาสที่จะทบซ้อนไปด้วยภาวะต่างๆนานาของมันเอง รวมทั้งความสั่นไหวอันไม่รู้จบ รู้สิ้นของอารมณ์ความรู้สึกที่คอยคัดง้างอยู่กับแก่นแท้แห่งความมีความเป็นของโลกอันเป็นปัจเจกเฉพาะตน...ซึ่งอาจหมายถึงและกลายเป็นความแปลกต่างระหว่างท่าทีในโลกเฉพาะของแต่ละบุคคลซึ่งนำมาสู่บุคลิกลักษณะที่ถูกสถาปนาขึ้นเงียบๆ ท่ามกลางอารยธรรมสมัยใหม่ ที่ถูกชักใยด้วยกระบวนการของมิติที่แสดงถึงการเคลื่อนไหว แต่กลับไร้หัวใจที่จะสื่อสารถึงการอยู่ร่วมอันดีงาม ดูเหมือนว่า เราต่างหลงจริตอันเป็นวิกฤต...โดยพร้อมที่จะโยนตัวตนของตนเข้าใส่ข่ายใยที่รองรับไว้ด้วยความสับสนและซัดส่ายทางภาวะสำนึก...ว่ากันว่า ความไร้ระเบียบในโลกแห่งวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ณ วันนี้...คือความทันสมัยที่ลุกล้ำเข้ามาปิดดวงตาที่สาม...เข้ามาปิดกั้นดวงตาของการหยั่งรู้ที่รู้ตัวของมวลมนุษย์ร่วมสมัย จนแทบจะหมดสิ้น...ความเปราะบางบนเส้นทางของชีวิตจึงเกิดขึ้นอย่างมืดบอด เป็นความมืดมนที่ชวนให้ปฏิกิริยาของผู้คนหลับใหล จนถึงขนาดอับจนและไม่คิดถึงการตื่นฟื้นขึ้นมาสนองรับความกล้าแกร่งของความมุ่งหวังที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ได้อย่างเหมาะสมและเป็นดุลยภาพกับเนื้อแท้ของความเป็นชีวิตที่สูงค่า แห่งวิถีธรรมอันเปิดกว้างและเต็มไปด้วยโครงสร้าง...ที่เปี่ยมเต็มไปด้วยประโยชน์สุข....” บริบทแห่งการสื่อสารในประเด็นแห่งเจตจำนงเบื้องต้นคือนัยสำนึกที่เป็นบทสะท้อนสาระแห่งหนังสือเล่มสำคัญของ “ท่าน ติช นัท ฮันห์.”..พระเซ็น..ชาวเวียดนาม.หลวงปู่ที่ได้รับการยกย่องจากผู้ที่นับถือศรัทธาให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งในหลักธรรมและยิ่งใหญ่ในการประพฤติปฏิบัติด้วยพุทธิปัญญาอันสงบงามและตื่นรู้.... “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ”..(THE MIRACLE OF BEING AWAKE)...หนังสือที่มุ่งแสดงถึง..อัศจรรย์แห่งการรับรู้ที่ย้ำเตือนถึงว่า..”เวลาอันเป็นปัจจุบัน”นั้น...สำคัญที่สุด...เหตุผลสำคัญก็คือ..”เพราะอดีตได้ผ่านเลยเราไปแล้ว..และมันจะไม่ได้เป็นของของเราอีกต่อไป...ส่วนอนาคตก็ยังมาไม่ถึง จึงยังไม่ได้เป็นของเรา...ดั่งนี้มนุษย์เราทุกคน...จึงมีเพียงแค่ปัจจุบันขณะเท่านั้นที่เป็นของเรา เราจึงต้องอยู่กับปัจจุบัน...ค้นหาและแสวงหาสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด...มันคือวิธีการฝึกสติ..ที่ทำให้เราสามารถที่จะ รู้ตัวทั่วพร้อม...ในทุกๆการกระทำของเรา” สำนึกคิดดังกล่าวนี้...ส่งผลต่อการบังเกิดเป็น...ปรากฏการณ์ด้านการเคลื่อนไหวของชีวิตในทุกๆโมงยาม ซึ่งถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง...ที่ผู้เป็นเจ้าของชีวิตจะต้องรู้เท่าทัน...วิถีที่จะนำมาประคับประคองตัวตน ต่อการที่จะต้องปฏิบัติในทุกๆภารกิจ...อันเป็นภาวะที่สามารถนำไปสู่การหยั่งรู้ในความสุขอันบริสุทธิ์ได้... “พันธะความคิด”โดยองค์รวมทั้งหมดของ “ท่าน ติช นัท ฮันห์” บนสายทางแห่งภูมิรู้นี้...ถือเป็นการจุดประกายไม่ให้อะไรมาขัดขวาง “ดวงตะวันแห่งการรู้เท่าทันที่จะส่องสว่าง”...อันเป็นการหยั่งรู้เท่าทันความเป็นไปของชีวิต ที่จะอุบัติขึ้นกับคนผู้หนึ่ง ได้อย่างมั่นคงที่สุด โดยที่เขาจะไม่มีวันสูญเสียตัวตนของตนไป... “คนบางคนท่องบ่นชื่อของพระพุทธเจ้าดุจเครื่องจักร...แต่จิตใจฟุ้งซ่านไปหลายทิศทาง..การท่องชื่อของพระพุทธเจ้าเช่นนั้น..แย่ยิ่งกว่าการไม่ท่องบ่นอะไรเสียอีก...หากเราฝึกการเจริญสติจริงๆ ในขณะที่กำลังเดินไปตามทางเข้าหมู่บ้าน เราจะรู้สึกว่า การก้าวเท้าออกไปในแต่ละก้าวนั้น เป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง และจิตของเราก็จะเบิกบานเหมือนดอกไม้ นำเราก้าวสู่โลกของความเป็นจริง ฉันชอบเดินคนเดียว ตามทางเท้าของชนบท...มีต้นข้าวต้นหญ้าเขียวขจีทั้งสองข้างทาง ค่อยๆวางเท้าลงไปทีละก้าวๆ อย่างมีสติ รู้ตัวว่ากำลังก้าวไปบนแดนมหัศจรรย์...ในชั่วขณะจิตเช่นนั้น การดำรงอยู่ของชีวิตเป็นความจริงที่ลึกลับปาฏิหาริย์ ...คนเรามักจะคิดว่า..การเดินบนน้ำหรือบนอากาศเป็นเรื่องปาฏิหาริย์.. แต่ฉันว่าปาฏิหาริย์ที่แท้จริง มิใช่การเดินบนน้ำหรือบนอากาศหรอก หากแต่คือการเดินบนพื้นโลกนี่แหละ..เราอยู่กับความอัศจรรย์ทุกวัน...แต่เราไม่ตระหนักเอง” “ท่าน ติช นัท ฮันห์”..มุ่งเน้นในการสอนด้วยนัยความคิด..ที่ปรารถนาให้พุทธศาสนาต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน...ตลอดจนการหวังให้พุทธธรรม กลายเป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้(ENGAGE BUDDISM)...นามทางธรรมของท่าน”นัท ฮันห์”(NATH HANH)มีความหมายสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายนี้...นั่นคือ.. “การกระทำเพียงหนึ่งเดียว” (ONE ACTION)ซึ่งก็หมายถึงการเจริญสติด้วยดวงใจที่สงบงาม “ในขณะที่เธอนั่งสมาธิอยู่นั้น เมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้ว..เธอสามารถหันมาพิจารณาความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง การพิจารณานั้น ไม่ใช่เป็นการขบคิดถึงความรู้ทางปรัชญาอย่างเอาเป็นเอาตาย หากเป็นการชำแรกจิตลงไปสู่จิตอีกทีหนึ่ง..ใช้กำลังสมาธิของตนทำให้วัตถุที่เราพิจารณาได้เปิดเผยความจริงแท้ออกมา..ดั่งนี้คำว่าวิญญาณหรือสำนึกรู้(CONCIOUSNESS) จึงหมายถึงจิตที่รับรู้หรือวัตถุที่ถูกรับรู้...นั่นคือ จิตที่รู้ไม่สามารถแยกออกจากวัตถุที่ถูกรู้ได้..การมองเห็นจะต้องมองเห็นวัตถุอะไรบางอย่าง...การได้ยินก็ต้องได้ยินอะไรบางอย่าง การหวังก็ต้องหวังอะไรบางอย่าง การโกรธก็ต้องโกรธใส่อะไรบางอย่าง การคิดก็ต้องคิดเกี่ยวกับอะไรบางอย่าง...นี่เองจึงเป็นข้อพิจารณาได้ว่า..ถ้าหากวัตถุที่ถูกรับรู้หรืออะไรบางอย่างนั้นไม่มีอยู่...จิตของผู้ทำการรับรู้ก็จะไม่มีอยู่ด้วย...หากมีการพิจารณาจิต ผู้พิจารณาก็จะได้เรียนรู้ถึงความเกี่ยวเนื่องกัน ระหว่างจิตผู้รับรู้กับวัตถุที่ถูกจิตรับรู้...” แน่นอนว่า...เมื่อเป็นเช่นนี้ตามครรลองการสอนของ “ท่าน ติช นัท ฮันห์”...การเจริญสติในเรื่องกาย ความสำนึกรู้ถึงกายก็คือจิต ครั้นถ้าเราพิจารณาวัตถุข้างนอกตัวเรา ความสำนึกรู้ถึงวัตถุเหล่านั้นก็คือจิต เมื่อเราเจริญสติในเรื่องกาย ความสำนึกรู้ถึงกายก็คือจิต นั่นเอง...เหตุนี้ การเพ่งพิจารณาธรรมชาติของความเป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันของวัตถุทั้งมวล..จึงถือเป็นการเพ่งพิจารณาจิตด้วย... “จิตที่แท้ตามธรรมชาติ ก็คือตัวเราที่แท้ตามธรรมชาติ คือ...พุทธะ ..คือสภาวะหนึ่งเดียวที่อยู่เหนือมายาทั้งปวง ที่เกิดขึ้นด้วยความคิดและภาษา...” กล่าวโดยสรุปก็คือว่า..วัตถุของจิตทุกชนิดก็คือจิตนั่นเอง..และในพุทธศาสนา..วัตถุของจิตนี้คือธรรม ธรรมมักจะแบ่งออกเป็น5กลุ่มคือ... รูป อันหมายถึง ร่างกายและวัตถุที่เป็นรูปธรรมทั้งหมด(BODILY AND PHYSICAL FORM) เวทนา อันหมาย ถึงความรู้สึกต่างๆ(FEELING) สัญญา อันหมายถึง ความรับรู้ต่อโลก หรือความจำได้หมายรู้ว่าอะไรเป็นอะไร(PERCEPTION) สังขาร อันหมายถึง ความนึกคิดต่างๆ(MENTAL FUNCTIONING) วิญญาณ อันหมายถึง สำนึกรู้(CONCIOUSNESS) ทั้ง 5 กลุ่มนี้ เราเรียกว่า ขันธ์5 ...ขันธ์ที่ห้าอันได้แก่วิญญาณนั้น ได้รวม ขันธ์ 4 อย่างข้างต้นไว้หมด และเป็นรากฐานของการดำรงอยู่ของขันธ์ทั้ง4 ขันธ์ข้างต้น... “ท่าน ติช นัท ฮันห์” ได้ให้คำอธิบายในเชิงขยายว่า...”การเพ่งพิจารณาความสุขเป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน..เป็นการมองลึกเข้าไปในธรรมทั้งปวง...เพื่อที่จะเข้าถึงธรรมชาติอันจริงแท้...ของมัน เป็นการมองให้เห็นสิ่งๆหนึ่ง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงทั้งหมด และมองให้เห็นว่า ความจริงทั้งหมด ไม่สามารถจะแบ่งแยกออกไปได้ ไม่สามารถจะตัดออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วให้แต่ละชิ้นมีความเป็นอยู่ของมันเองต่างหากได้...” ประเด็นของคำอธิบายนี้....บ่งชี้ให้เห็นถึง..นัยสำคัญที่ว่า..วัตถุของการเพ่งพิจารณาอันแรกก็คือตัวเรา..การประกอบขึ้นของ ขันธ์ทั้ง 5 ในตัวเรานั้น...ผู้ปฏิบัติธรรม ย่อมสำนึกรู้ถึงกายของตนว่า...เป็นปรากฏการณ์ของรูป เวทนา สังขาร และวิญญาณ โดยสังเกต พิจารณาองค์ประกอบของชีวิตเหล่านี้...จนกระทั่งเห็นว่าสิ่งนี้มีความหมาย...มีความเกี่ยวเนื่องอยู่อย่างใกล้ชิดกับโลกภายนอกตัวเรา...ถ้าโลกไม่มี การประกอบกันขึ้นของขันธ์ 5 ก็ไม่มี ..บางทีเราอาจจะพูดได้ว่า...เรามีชีวิตอยู่จริง..มิใช่อยู่อย่างตายซาก ก็ต่อเมื่อเราอยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและโลก...ดังนั้น จงร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับมนุษย์เพื่อนร่วมโลก...ในศรัทธาที่ว่า “จงร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมโลก...ความทุกข์ของคนอื่นก็คือความทุกข์ของเรา ความสุขของคนอื่นก็คือความสุขของเรา”...ไม่ใช่เพียงเฉพาะชีวิตของเราเท่านั้น...ที่เราจะตระหนักว่ามีคุณค่าสูงสุด หากแต่รวมทั้งชีวิตของเพื่อนมนุษย์ทุกคน..สรรพสัตว์ และความเป็นจริงทุกชนิด... ด้วยข้อตระหนักนี้...จะทำให้เราไม่หลงต่อไปอีกว่า...การทำลายชีวิตผู้อื่น เพื่อความอยู่รอดของชีวิตเรานั้น...เป็นสิ่งจำเป็น... “ท่าน ติช นัท ฮันห์”...ได้ให้ข้อปฎิบัติอันสำคัญต่อการเกื้อกูลในการดำรงชีวิตอยู่เพื่อคุณค่าตรงส่วนนี้ว่า... “เราจำเป็นต้องมองเห็นในสภาวะระหว่างความเป็นและความตายว่าเป็นด้านสองด้าน...ของชีวิต จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้..ถ้าขาดชีวิตก็ไม่มีอยู่..เหมือนเหรียญที่ต้องมีสองด้าน ...มนุษย์เราต้องมาถึงจุดนี้เท่านั้น จึงจะอยู่เหนือความเป็นและความตายได้...เมื่อเราสามารถทำลายทัศนคติที่คับแคบลง.ก็สามารถที่จะท่องเที่ยวไปในความเกิดและความตาย เสมือนบุคคลผู้แล่นเรือไปบนกระแสคลื่นของความเกิดและความตาย...โดยที่เรือไม่สามารถถูกคลื่นซัดให้จมลงได้เลย...” และนี่คือปาฏิหาริย์ของการตื่นรู้และตระหนักรู้ที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ..มันคือนัยแห่งความเป็นหนึ่งที่นำมาสู่ความสำคัญของปัจจุบันขณะ...ปัจจุบันขณะ...ที่สอนให้เราต้องฝึกสมาธิในทุกขณะจิต...ที่ เดิน นอน ยืน หรือ นั่ง...รวมทั้งในเวลาที่ทำงาน... “ท่าน ติช นัท อันห์”...ได้สอนให้ผู้ปฏิบัติงานได้ ฝึกสติ ในเวลาล้างมือ เวลาล้างจาน เวลากวาดพื้นหรือเวลาขณะที่คุยกับเพื่อน...ท่านได้ย้ำให้เห็นถึงว่า...ทุกหนทุกแห่งสามารถ ฝึกสติได้ทั้งนั้น... “ขณะที่เธอล้างถ้วยชาม เธออาจจะคิดไปถึงการดื่มน้ำชา หลังจากล้างถ้วยชามเสร็จแล้ว...จึงทำให้เธอสักแต่ว่าล้างถ้วยชามไปให้เสร็จๆ อย่างขอไปทีเท่านั้น..และนั่นหมายความว่าเธอไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในขณะที่เธอล้างจาน...แท้จริงแล้วขณะที่เธอล้างจาน...การล้างจานต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ...เช่นเดียวกับเวลาดื่มน้ำชา...การดื่มน้ำชาก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ...เวลาเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องน้ำก็ต้องเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ...ผู้ปฏิบัติในธรรมจะต้องมีสติ ตลอด 24 ชั่วโมง...การกระทำทุกอย่างต้องทำไปอย่างมีสติ..มันเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ที่กระตุ้นให้ความเป็นมนุษย์ได้ตระหนักชัดว่า...การดำรงสติให้ได้นั้นเป็นปัญหาสำคัญ ขนาดเป็นความเป็นความตายเลยทีเดียว..” เหมือนเช่นการหาความสงบ จากชิ้นของส้ม...ขณะที่เรากินอาหาร เรากลับไพล่ไปคิดถึงสิ่งที่เราจะทำหลังกินอาหารเสร็จ..หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งถือเป็นภาวะที่น่าเสียดายยิ่ง...เพราะมันทำให้ เราพลาดความรู้สึกมหัศจรรย์ในรสชาติของอาหาร...ขาดการอิ่มเอมดื่มด่ำในการลิ้มรส...ไม่ว่าจะเป็นรสชาติอย่างไร... ที่สุดแล้ว...“ท่าน ติช นัท ฮันห์”..ก็ได้สรุปเน้นย้ำให้ได้ประจักษ์ว่า... “ปาฏิหาริย์ เกิดขึ้นได้ในทุกวัน และในทุกเวลานาที...แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ...การรู้เท่าทันตัวเองในทุกๆสถานการณ์...เมื่อโกรธก็ต้องรู้ว่า...ตัวเองโกรธอย่าเสแสร้งว่าไม่โกรธ...แต่ให้ใช้การพินิจพิเคราะห์ต่ออารมณ์ที่ขุ่นมัวข้องขัดของตัวเองอย่างถ่องแท้ อารมณ์นั้นๆก็จะหายไปเอง..” “พระประชา ปสนฺนธมโม”(ท่านอาจารย์ ประชา หุตานุวัตร)...แปลหนังสือเล่มนี้ให้กลายเป็นคุณค่าในใจอันลึกล้ำของผู้อ่าน อย่างดิ่งลึกและเป็นความยั่งยืนต่อการรับรู้ในทางจิตวิญญาณไปแล้ว...ผมถือว่านี่คือความหมายในทางศรัทธาที่กลายเป็นความผูกพันรักใคร่อันล้ำลึก ผ่านบุคคล ผ่านหัวใจ และผ่าน...ความมีความเป็นในบริบทของการใคร่ครวญอันจริงแท้...ทุกสิ่งคือความอัศจรรย์ คือปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆชีวิตเสมอ ตราบใดที่เราต่างมีสำนึกรับรู้ในข้อตระหนักของความเป็นหนึ่งแห่ง...บันทึกของลมหายใจที่เป็นสะพานเชื่อมชีวิตของกันและกันเอาไว้..อย่างยึดโยงและมั่นคง... “ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างร่างกายและจิตใจ กายและจิตของเราปรองดองกัน ทำให้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ลมหายใจเป็นพันธมิตรกับทั้งจิตใจและร่างกาย ..มีเพียงลมหายใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นสื่อนำให้สิ่งทั้งสองเข้าหากันได้...ฉายแสงสว่างให้สิ่งทั้งสอง และนำสิ่งทั้งสองไปสู่ภาวะแห่งความเป็นสันติและสงบได้..ในที่สุด”