ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: ช่วงหลายปีมานี่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ตั้งตามอยู่ภูมิภาค มีการปรับปรุงห้องจัดแสดงนิทรรศการให้ดูทันสมัย อีกทั้งนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ไม่เคยนำออกมาจัดแสดงมาก่อน ยกมาจัดแสดงให้ชมกันอย่างจุใจ อย่างเช่นที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งแห่งได้มีการปรับปรุงนิทรรศการ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ที่ผู้เข้าชมได้เพลิดเพลินเรียนรู้ร่วมไปกับเรื่องราวโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นนั้นๆ ที่จัดแสดง เรื่องนี้ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง เป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้สำคัญบนพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งที่ผ่านมากรมศิลปากรได้ดำเนินการทางโบราณคดีบนพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก มีข้อมูลวิชาการตลอดจนโบราณวัตถุที่ค้นพบใหม่จำนวนมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของนิทรรศการถาวรชุดเดิมที่ไม่สามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างครบถ้วนเพียงพอ ประกอบกับอาคารสถานที่ของพิพิธภัณฑ์มีอายุการใช้งานมานานกว่า 30 ปี สมควรได้รับการซ่อมแซม ทั้งได้จัดทำแผนปรับปรุงเนื้อหาและพัฒนารูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการถาวรให้มีความสวยงามทันสมัยยิ่งขึ้น นิทรรศการ เน้นการจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ ที่พบในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งยังไม่เคยจัดแสดงมาก่อน อาทิ กลุ่มเทวรูปวิษณุมัธยโยคสถานกะมูรติ จากแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ จังหวัดพังงา เป็นเทวรูปพระวิษณุ หนึ่งในสองชิ้นที่พบในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ศิลปะอินเดียแบบหลังปัลลวะ อายุกว่า 1,000 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยช่างชาวอินเดียใต้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ พระพิมพ์ดินดิบศิลปะศรีวิชัย จากแหล่งโบราณคดีเขานุ้ย จังหวัดตรัง กลุ่มลูกปัดโรมันจากแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด จังหวัดกระบี่ ภาชนะดินเผานำเข้าจากอินเดีย แหล่งโบราณคดีถ้ำเสือ จังหวัดระนอง รวมถึงหลักฐานการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา เช่น แหล่งเรือจมปากคลองกล้วย จังหวัดระนอง ที่เป็นร่องรอยเรือที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 5 – 6 ข้อมูลแหล่งภาพเขียนสีที่สำรวจพบใหม่ในพื้นที่จังหวัดพังงาและกระบี่ เป็นต้น อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวการปรับปรุงนิทรรศการว่า ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 64 จากพื้นที่ทั้งหมด สามารถเปิดให้เข้าชมนิทรรศการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในอาคารจัดแสดง 1 และ 2 ขณะนี้อยู่ในช่วงของการดำเนินงานระยะสุดท้าย แผนระหว่างปีงบประมาณ 2564 – 2565 โดยปีงบประมาณ 2564 ได้รับงบประมาณ 10,350,000 ล้านบาท ในการปรับปรุงอาคารและนิทรรศการถาวรภายในอาคารนิทรรศการ 4 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในเดือนธันวาคม 2563 สำหรับในปีงบประมาณ 2565 มีแผนปรับปรุงอาคารนิทรรศการ 3 อาคารโถงต้อนรับ และส่วนบริการนักท่องเที่ยว ในวงเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งได้จัดทำรูปแบบรายการแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 70 “จากการเปิดให้เข้าชมนิทรรศการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในอาคารนิทรรศการ 1 และ 2 ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าชมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ และยังได้รับความสนใจจากชุมชนท้องถิ่น ที่มีแผนจะบรรจุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง เข้าเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน นับเป็นสัญญาณที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าการปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ได้สร้างคุณประโยชน์ ทั้งในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ตลอดจนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวให้กับท้องถิ่นได้ในอนาคตอีกด้วย” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว ลุคใหม่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ถลาง แหล่งเรียนรู้โบราณคดีอันดามันที่ต้องชม