รมช.มนัญญา ลงพื้นที่จกำแพงเพชร มอบเงินชดเชยเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยตามมติครม. อัตราไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ พร้อมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่พัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปและใช้เทคโนโลยียกระดับภาคการเกษตร
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ โดยมีนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมมอบเงินชดเชยเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย แก่ตัวแทนจาก 11 อำเภอ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้เกิดปัญหาด้านราคาและตลาดรองรับ ซึ่งเกษตรกรบางส่วนประสบปัญหาขาดทุน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยฤดูกาลผลิต 2563 ให้กับเกษตกรชาวสวนลำไยกว่า 200,000 ครัวเรือน ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ เพื่อช่วยเหลือบรรเทา ความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งจังหวัดกำแพงเพชรมีเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ได้รับการเยียวยาดังกล่าว จำนวน 1,176 ราย
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ซึ่งรมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์ผลักดันให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประกอบอาชีพการเกษตรและกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อให้มีความใกล้ชิดกับครอบครัว ซึ่งจังหวัดกำแพงเพชรมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 85 ราย มีสหกรณ์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวน 9 แห่ง ในปี 2563 ได้มีการจัดอบรมตามโครงการสร้างเครือข่ายลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน กิจกรรมพบปะสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ องค์ความรู้ด้านการเกษตร ลงพื้นที่เรียนรู้ในแปลงเกษตรของลูกหลานเกษตรกรต้นแบบ การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ ด้านการผลิตและการตลาด โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่การเกษตรของตนเอง
โอกาสนี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวมอบนโยบาย พร้อมพบปะเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ ที่เข้าร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ว่า เป็นกิจกรรมที่ดีที่ได้ถ่ายทอดความรู้การผลิตลำไยคุณภาพตามหลักวิชาการและมีระบบการปฏิบัติทางการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ แก่เกษตรกร เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาองค์ความรู้ให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติ สามารถปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้ดีขึ้นเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป และเน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานควรมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์ ซึ่งตนเองได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน เช่น โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ที่พร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่คืนสู่ภาคเกษตร ส่งเสริมให้พัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปและการใช้เทคโนโลยี ส่งเสริมด้านธุรกิจ นอกจากจะรองรับภาวะตกงานแล้ว ยังกระตุ้นเกิดการจ้างงานตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย รวมทั้งการยกระดับภาคการเกษตรจะสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินธุรกิจสหกรณ์ ใช้หลักการตลาดนำการผลิต และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ขึ้นในสหกรณ์ต่างๆ และเชื่อมโยง การทำการเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ มุ่งเน้นออร์แกนิค และสร้างช่องทางการตลาดให้กับลูกหลานเกษตรกร ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ให้ครอบคลุมทุกชุมชนทั่วประเทศ เป็นการสร้างรายได้ ที่มั่นคงให้กับสมาชิก มีความมั่นคงในอาชีพ สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาภาคเกษตร และส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรอยู่อย่างผาสุก ประเทศชาติมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป
จากนั้น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะผู้แทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งนางสาวนันทพร สุขสำราญ อายุ 33 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ ในพื้นที่อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ตนเองจบการศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิชากายวิภาคศาสตร์ เคยทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ลาออกจากงานกลับบ้านมาปรับเปลี่ยนจากการทำไร่อ้อยอุตสาหกรรมมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 100 ไร่ ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม และที่โดดเด่น ได้แก่ ข้าวโพดหวานสีแดงราชินีทับทิมสยาม โดยจำหน่ายภายใต้ชื่อ “ไร่สุขสำราญ” โดยภายในพื้นที่ทำเกษตรผสมผสานของตนเองได้วางระบบการจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการใช้น้ำตลอดทั้งปี ปรับเปลี่ยนชนิดพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ มีสระน้ำสำหรับกักเก็บน้ำ เลี้ยงปลาและกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ปรับพื้นที่ลุ่มให้เป็นแปลงนาเกษตรอินทรีย์ มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานผลผลิตโดยการสร้างเครือข่ายเกษตรกรใช้ตลาดนำการผลิต จำหน่ายผลผลิตทางช่องทางออนไลน์ สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 2,000–3,000 บาท
ด้านนายณพรรษ สาวะหะ อายุ 33 ปี กล่าวว่า ตนเองจบปริญญาตรี สาขาไฟฟ้า ได้ลาออกจากงานประจำ กลับมาอยู่บ้านในอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ใช้พื้นที่ 2 งาน เพาะเห็ดนางฟ้า และเห็ดขอน ผลิตก้อนเชื้อเห็ด โดยมีกำลังการผลิตก้อนเชื้อเห็ด ประมาณ 4,000–5,000 ก้อน ต่อเดือน จำหน่ายให้กับเกษตรกรหรือประชนทั่วไปที่สนใจ ก้อนละ 10 บาท สามารถสร้างรายได้ประมาณ 40,000–50,000 บาทต่อเดือน ในอนาคตได้วางแผนขยายพื้นที่การเพาะเห็ดเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และมีความสนใจด้านเทคโนโลยีการเกษตร และการเลี้ยงปลา รวมทั้งมุ่งมั่นจะพัฒนาตนเองให้เป็น Smart Farmer ภายในปี 2565
ทั้งนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร ได้จัดแสดงผลการดำเนินงานต่างๆ อาทิ โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ของสหกรณ์นิคมคลองสวนหมาก จำกัด ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้เข้าร่วมโครงการฯ ปี 2563 เป็นศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ที่เชื่อมโยงตลาดระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าจากจังหวัดต่างๆ ได้นำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพของแต่ละสหกรณ์มาจำหน่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังได้ผลักดันให้สหกรณ์แปรรูปมันสำปะหลังทอดกรอบแคสซี่ (CASSY) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่และมีคุณภาพ ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ของสมาชิกสหกรณ์ด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของสหกรณ์ในจังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากสื่อกก ของกลุ่มอาชีพทอเสื่อกกบ้านใหม่วงก์เขาทอง สังกัดสหกรณ์การเกษตรคลองขลุง จำกัด ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 1 แสนบาท เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิม พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกเป็นกระเป๋า และกล่องกระดาษชำระเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการตลาด และกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสมาชิก ผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อสุขภาพ ของสหกรณ์การเกษตรไทรงาม จำกัด ข้าว กข 43 ของสหกรณ์การเกษตรพรานกระต่าย จำกัด และผลผลิตกลุ่มแปลงใหญ่ยางพารา ของสหกรณ์กองทุนสวนยางนครไตรตรึงษ์กำแพงเพชร จำกัด เป็นการขับเคลื่อนนโยบายโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ มีการบริหารจัดการแปลงด้วยวิธีการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน การยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราและเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่ หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา ตุ๊กตายางพารา เบาะรองนั่งยางพารา ตลาดส่วนใหญ่ ทางหสกรณ์ได้จำหน่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์ฯ ชาวบ้านในชุมชน ร้านค้าต่างๆ ที่สนใจ ปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีการจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ขายผ่านตัวแทน และช่องทางออนไลน์ด้วย