เปิดประวัติ "ยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ" วัย 54 ปี ผู้ท้าชิงตำแหน่งนายก อบจ.แปดริ้ว จากลูกประดู่สู่ถนนสายการเมืองท้องถิ่นในสนามเล็กที่ตำบลบางผึ้ง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จบการศึกษามหาบัณฑิตสาขาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม ม.บูรพา ก่อนหาญกล้าขึ้นมาท้าชิงตำแหน่งใหญ่ที่สูงขึ้นในระดับจังหวัด ลั่นพร้อมชนแชมป์เก่าผู้มีประวัติอันโชกโชนทางการเมืองในสนามใหญ่มาอย่างยาวนาน อย่าง "กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์" อดีตนายก อบจ. 3 สมัยบวก 5 ปีในช่วงพักการเลือกตั้งสมัยล่าสุด
นายยศสิงห์ ลงเล่นการเมืองในสมัยแรกเมื่อปี 2544 หลังจากได้ลาออกจากเส้นทางสายงานราชการสรรพาวุธทหารเรือ เพื่อกลับมามุ่งมั่นพัฒนาท้องถิ่นของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง จากแรงจูงใจของชาวบ้านที่ต้องการ ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการบริหาร อบต.บางผึ้ง ระหว่างปี 2544-2546 ก่อนถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น นายก อบต.บางผึ้ง กลางคันตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยต่อเนื่องมาอีก 2 ปี และลงสนามรับใช้ประชาชนมาอย่างยาวนานจนถึงปี พ.ศ.2552 ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้งในฐานะนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางผึ้งอีกครั้ง หลังการปรับเปลี่ยนยกระดับในท้องถิ่น และยาวนานมาจนหมดวาระลงในปี 2563 รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 4 สมัยบวก 3 ปีเต็ม จากผลงานที่ผ่านมาในการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็ก จนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่ ให้ได้ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานนั้น คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พัฒนาด้านสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานให้คนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การสร้างถนน และการอุดหนุนให้มีระบบประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคโดยตรงในทุกหลังคาเรือนอย่างเต็มรูปแบบทั้ง 7 หมู่บ้าน ตลอดจนการส่งเสริมด้านการศึกษาและการเรียนรู้ในด้านต่างๆ โดยสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุด คือ การทำให้ชาวบ้านมีน้ำประปาใช้อย่างทั่วถึงในทุกชุมชนหมู่บ้าน
นอกจากนี้ยังได้ใช้เงินงบประมาณในการสนับสนุน การก่อสร้างโรงเรียนในพื้นที่ก่อนหมดวาระลงในครั้งนี้อีก 1 แห่ง จึงถือเป็นผลงานทางด้านการศึกษาที่สำคัญ จากการทำงานให้แก่ระดับท้องถิ่นในบ้านเกิดมาอย่างยาวนานถึงเกือบ 20 ปีเต็ม จึงอยากจะขอนำประสบการณ์ และกระบวนยุทธศาสตร์ที่เคยทำมา ด้านการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็ก ขยายสู่พื้นที่ขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น นั้นก็คือการมาลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับจังหวัด เพื่อให้ อปท. ทั้ง 109 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย อบจ. 1 แห่ง อบต. 74 แห่ง และเทศบาลอีก 34 แห่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เป็นการจุดประกายให้จังหวัดมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นคน จ.ฉะเชิงเทรา จึงคิดที่จะสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้แก่จังหวัดบ้านเกิดของตนเอง แต่คิดเพียงลำพังคนเดียวไม่ได้
ก่อนการเปิดรับสมัครเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 พ.ย.63 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการเปิดตัวจะเป็นผู้สมัครนายก อบจ. มาก่อนหน้านานถึงกว่า 2 ปีเต็ม ในการลงพื้นที่เข้าไปรับฟังปัญหา เสียงเรียกร้องและความต้องการจากชาวบ้าน จนทั่วทั้งจังหวัด และได้รับทราบถึงความต้องการที่แท้จริงจากประชาชนในพื้นที่มาแล้วทั้งสิ้น ก่อนนำมาใช้เป็นแผนแม่บทในการกำหนดนโยบายในการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งการศึกษาทางด้านภูมิประเทศ การศึกษาด้านทรัพยากรที่มีอยู่ภายในจังหวัด พร้อมทั้งการสำรวจความต้องการของประชาชนทั้ง 7 แสนคน ที่อาจพูดได้ว่าไปมาจนทั่วเกือบทุกตารางนิ้วของ จ.ฉะเชิงเทรา แล้วนั้น จึงทราบว่าประชาชนต้องการอะไร และอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการพัฒนามาให้ประชาชนได้เห็น ออกมาเป็น 8 นโยบายหลัก ในการนำมาใช้หาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา จ.ฉะเชิงเทรา ต่อไป
นโยบายแรก คือ การสร้างเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำบางปะกง เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า และการเดินทางสัญจรทางน้ำแบบสาธารณะ ตลอดจนเป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด ลดความแออัดด้านการจราจรบนท้องถนน ในเส้นทางการขนส่งทางบก อย่างที่ยังไม่เคยมีใครคิดทำขึ้นมาก่อน ทั้งที่ภูมิประเทศของ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น มีทรัพยากรอยู่แล้ว คือ การใช้แม่น้ำบางปะกงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่หน่วยงานราชการ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญส่วนใหญ่นั้น ล้วนตั้งอยู่ริมลำน้ำทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวเป็นตลาดน้ำจำนวนมาก หรืออาจมีมากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้
ส่วนนโยบายที่ 2 นั้น คือ การเร่งพัฒนาระบบประปาในทุกพื้นที่ทั่วทั้ง จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรน้ำเป็นของตนเอง และมีเป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนทั้ง 4 แสนครัวเรือนยังมีน้ำประปาใช้ไม่ทั่วถึง และมีใช้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจังหวัด ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ข้างเคียงกลับมานำน้ำจากเราไปใช้ ฉะนั้นในระยะ 4 ปีข้างหน้า เราต้องทำได้ ด้วยการใช้งบประมาณจาก อบจ. มาสนับสนุนระบบประปาให้เกิดขึ้น ทั้งน้ำประปาจากผิวดิน ใต้ดิน และประปาส่วนภูมิภาค
นโยบายที่ 3 คือ การสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินให้แก่ทุก รพ.สต. ทั้ง 118 แห่ง ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยเหลือชีวิตคนได้มากถึงกว่าร้อยละ 80 สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
นโยบายที่ 4 คือ การจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยต้องเริ่มต้นจากที่บ้านด้วยการปลูกฝังให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านทาง อปท. ทั้ง 108 แห่ง ให้เกิดการคัดแยกขยะออกจากกันตั้งแต่ต้นทางในครัวเรือน นับตั้งแต่ขยะที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ ก่อนมาถึงยังศูนย์กำจัดขยะ เพื่อจะช่วยทำให้ปริมาณขยะที่จะต้องถูกกำจัดทิ้งจริงๆ ลดลง พร้อมทั้งจะนำเทคโนโลยีการกำจัดขยะที่ทันสมัยมาดำเนินการกำจัดอย่างถูกวิธี
นโยบายที่ 5 คือ การพัฒนาการศึกษาและกีฬา ซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญที่ต้องการส่งเสริมให้ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเมืองกีฬา ที่ต้องการสนับสนุนกีฬาเฉพาะทางให้เป็นอาชีพให้ได้ ส่วนการพัฒนาการศึกษานั้นจะต้องหาเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย พร้อมบุคคลากรที่รู้จริงมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือเฉพาะทางในสาขาวิชานั้นๆ มาทำการสอนในโรงเรียนสังกัด อบจ. ทั้ง 2 แห่งด้วย เช่น ครูต่างชาติ ครูเฉพาะทาง ทุกสายการสอน เพื่อให้ผู้จบการศึกษาออกไปแล้วมีคุณภาพ มีความรู้จริง สามารถนำไปใช้ในการแข่งขันและประสบความสำเร็จในอนาคตได้
นโยบายที่ 6 จะมีการส่งเสริมการใช้โดรนเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกร เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรให้ทันสมัย เพื่อประหยัดทั้งทรัพยากร เวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งยังเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดในการพ่นเมล็ดพันธุ์พืช ให้ปุ๋ย ให้ยากำจัดศัตรูพืช ลดความเสี่ยงจากสารเคมีเข้าสู่ร่างกายของเกษตรกรเอง เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง รวมทั้งยังอาจนำไปใช้ในการดับเพลิงหากเกิดอัคคีภัยได้อีกด้วย จึงต้องมีการเรียนรู้แบบใหม่ๆ เกิดขึ้น ต้องมีการส่งเสริมบุคคลากร มีศูนย์การบิน มีการอบรมให้เกิดความเชี่ยวชาญและอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย
นโยบายที่ 7 คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสถานที่ออกกำลังกายให้แก่ชุมชน ให้เกิดการกระจายออกไปโดยทั่วในทุกอำเภอ และทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่รองรับ
ส่วนนโยบายข้อสุดท้าย คือ การจัดการปัญหาช้างป่าในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก รวม 3-4 อำเภอ คือ อ.สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ แปลงยาว และพนมสารคาม บางส่วน ซึ่งยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่มีใครเข้ามาแก้ไขปัญหา หรือจัดการได้อย่างตรงจุดและสัมฤทธิ์ผล จึงต้องทำให้ช้างและมนุษย์อยู่ร่วมกันให้ได้ จำเป็นต้องมีการศึกษาแผนแม่บท ในการเป็นเจ้าภาพจัดการปัญหาและสนับสนุนงบประมาณในการจัดการปัญหา พร้อมหาบุคลากรมาทำการศึกษา โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ สปก. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันคิดหาแผนแม่บทในการจัดการต่อปัญหา เพื่อทำให้ช้างป่าควรที่จะอยู่ในป่า หรือที่ที่ควรอยู่ หรืออาจมีการทำในเชิงของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวชมช้างป่า การปลูกพืชโตเร็วไว้เป็นอาหารช้าง การขยายสระน้ำขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เพื่อไม่ให้ช้างออกมาจากป่า จึงต้องมีการศึกษาวิถีทางของช้างป่า ว่าจะทำอย่างไร อบจ. จึงต้องเข้ามาเอาใจใส่ดูแลปัญหาเรื่องนี้ และให้ความสำคัญไว้เป็นลำดับต้นๆ ในการแก้ไขปัญหา โดยอาจจำเป็นถึงขั้นมีการฝังชิพ หรือมีเครื่องมือติดตามตัวช้างป่าไว้ หากสามารถทำได้จะทราบตำแหน่งของช้างป่าว่าอยู่ตรงไหน ในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และป้องกันอันตรายต่อชาวบ้านที่อาจตรวจสอบดูโขลงช้างได้จากโทรศัพท์มือถือ
การเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค.63 นี้ จึงเป็นการแข่งขันกันในเชิงนโยบายที่ "กลุ่มฉะเชิงเทราก้าวหน้า" ได้นำนโยบายทั้ง 8 ข้อ ที่ได้รับข้อมูลประสบการณ์มาจากการเก็บเกี่ยวความต้องการจากพี่น้องประชาชนมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จึงอยากฝากถึงชาว จ.ฉะเชิงเทรา ให้มองย้อนกลับไปดูในห้วงระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมานั้น อบจ.ฉะเชิงเทรา มีผลงานอะไรบ้าง เป็นที่ประทับใจต่อพี่น้องประชาชนอย่างเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่ หากนำมาเปรียบเทียบกับ 8 นโยบายหลัก ที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้นว่าเป็นอย่างไร จึงอยากฝากให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้ง 566,024 คน ได้ใช้ดุลยพินิจ และออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันให้มากๆ และช่วยกันระวังอย่าให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะจะส่งผลต่อการบริหารงานในจังหวัดของเรา เพื่อจะได้นำเงินงบประมาณจำนวนกว่า 1 พันล้านบาทมาใช้ในการพัฒนาในสิ่งที่ถูกต้องตามความต้องการให้แก่คนทั่วทั้งจังหวัด
และขอทิ้งท้ายไว้ ไปถึงยังพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับคติการใช้ชีวิตของตนว่ามี 3 กตัญญู คือ "กตัญญูต่อแผ่นดิน กตัญญูต่อถิ่นเกิด และกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ" หากชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ จะถือว่าพี่น้องประชาชนเป็นผู้มีพระคุณที่ไว้วางใจ ฉะนั้นจะต้องทำงานให้แก่ผู้มีพระคุณและสอดคล้องกับนโยบายทั้ง 8 ข้อที่ได้เปิดให้ประชาชนทราบ ภายใต้สโลแกน "เข้าถึงคนรุ่นใหม่ เข้าใจคนรุ่นเก่า" ที่จะถูกนำมายึดโยงไว้กับนโยบายทั้ง 8 ข้อเป็นสำคัญ
++++++++++++++++