กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ หลังประสบผลสำเร็จในปีที่ผ่านมาสามารถพัฒนาและผลักดันให้สหกรณ์เป็นจุดศูนย์รวบรวมและจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีร้านค้าสหกรณ์เข้าร่วมโครงการมากถึง 94 แห่ง ใน 42 จังหวัด เพิ่มปริมาณธุรกิจหมุนเวียนในระบบสหกรณ์กว่า 86 ล้านบาท พร้อมขยายผลยกระดับคุณภาพผลผลิตและคัดสรรสินค้าปลอดภัย ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค คาดจะช่วยสร้างรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเดินหน้าขยายผลโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งกรมฯได้ผลักดันให้สหกรณ์เป็นจุดจำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิก และยกระดับธุรกิจสหกรณ์การเกษตรให้เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรมอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งใช้หลักของ“ตลาดนำการผลิต” ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตที่ทำหน้าที่รวบรวม แปรรูป รวมถึงบริหารจัดการสินค้าเกษตรของสมาชิกและเกษตรกรในชุมชนต่างๆ จนเกิดการเชื่อมโยงไปสู่ผู้บริโภค ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต จนสามารถขยายช่องทางการตลาดและเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์และสินค้าคุณภาพของสหกรณ์เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “สด สะอาด ปลอดภัย Fresh From Farm by Co-op สดจากฟาร์มถึงมือคุณ” จากผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา มีสหกรณ์การเกษตรและร้านสหกรณ์เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 94 แห่ง ใน 42 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 10 จังหวัด 18 แห่ง ภาคกลาง 14 จังหวัด 31 แห่ง ภาคใต้ 10 จังหวัด 20 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด 25 แห่ง ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนา อบรมให้ความรู้ ด้านการบริหารซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เทคนิคการจัดร้านค้า การพัฒนาการให้บริการ การจัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิต และร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ให้กับร้านค้าสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เปิดตัวซูเปอร์มาร์เก็ต 10 แห่ง เพื่อขยายผลและประชาสัมพันธ์โครงการฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างร้านค้าสหกรณ์กับเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิต และการแสดงสินค้าจากเครือข่ายและกลุ่มอาชีพ ในพื้นที่ต่างๆ จากผลการขับเคลื่อนการดำเนินการส่งผลให้มีปริมาณธุรกิจหมุนเวียนในระบบสหกรณ์ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 86,390,082 บาท มีมูลค่าธุรกิจเฉลี่ยเดือนละประมาณ 8 ล้านบาท เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ ซึ่งมีสหกรณ์ที่เป็นผู้ผลิตได้นำสินค้าและผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์แล้ว 170 แห่ง ซึ่งสินค้าหลักที่นำมาจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ได้แก่ ข้าวสาร นม ไข่ไก่ กาแฟ ผักสด ผลไม้ สินค้าประมงแปรรูป และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เป็นต้น สำหรับในปี 2564 มีร้านค้าสหกรณ์สนใจเข้าร่วมโครงการ 155 แห่ง ซึ่งมีทั้งสหกรณ์เดิมที่ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว ในปีที่ผ่านมาและอีกส่วนหนึ่งเป็นสหกรณ์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมในปีนี้ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้วางแนวทางขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อให้มีการขยายผลโครงการไปยังทุกจังหวัด โดยจะจัดประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางในการดำเนินงานและเผยแพร่แนวคิดในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เพื่อเชิญชวนสหกรณ์ต่างๆ ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จะมีการอบรมบ่มเพาะเพื่อเสริมศักยภาพโดยการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์และผู้แทนสหกรณ์ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยกระบวนการคิดในเชิงสร้างสรรค์และมีการพัฒนาด้านการออกแบบรูปลักษณ์สินค้าในแบบ Design Thinking เพื่อพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้เครื่องมือ Business Model Canvas เพื่อวางแผนกำหนดทิศทางธุรกิจ สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ และจะมีการอบรมด้านการตลาดออนไลน์เพื่อนำไปใช้พัฒนาซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ สามารถกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้รวดเร็วและทั่วถึง ในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งต่อยอดการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจระหว่างสหกรณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพการคัดสรรสินค้าและบริการ เน้นการผลิตสินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัย ราคายุติธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกและผู้บริโภคต่อไป