ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น
ภาพ: สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล
"ราชรถ ราชยาน งามวิจิตรในงานประณีตศิลป์
เนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ รัชกาลที่ 9"
แม้ว่าช่วงเวลานี้พระมหาพิชัยราชรถอยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ ทว่าเบื้องหน้าของผู้ที่เข้าไปชมแล้วอดไม่ได้ที่ต้องบันทึกภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ด้วยในความวิจิตรงดงามขององค์ราชรถ
ในความวิจิตรงดงามขององค์ราชรถที่อยู่เบื้องหน้าเวลานี้ มาจากเบื้องหลังในงานประณีตศิลป์ของงานช่างสิบหมู่กำลังดำเนินการปิดทองประดับกระจก และเก็บรายละเอียดขององค์ราชรถ ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง ช่างใช้พู่กันจุมน้ำยายางรักบรรจงแต่งแต้มลงรักปิดทองเทพพนม ส่วนด้านในสุดกำลังปิดทองประดับกระจกล้อรถพระมหาพิชัยราชรถ ทั้งหมดดำเนินการอยู่ภายในโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถที่จะใช้ในริ้วกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ออกจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ประวัติพระมหาพิชัยราชรถองค์นี้ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดให้สร้างขึ้น
“เพื่อการพระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ใน พ.ศ.2338 โดยโปรดให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณีที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา คือมีขนาดสูง 1,120 เซนติเมตร ยาว 1,530 เซนติเมตร งานพระเมรุ พ.ศ. 2339 ...นับจากนั้นมาพระมหาพิชัยราชรถได้ถูกกำหนดให้เป็นราชรถเฉพาะอัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตลอดมา”
(องค์ความรู้ , ราชรถ ราชยาน , งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ. 2539)
ในความวิจิตรศิลป์ของพระมหาพิชัยราชรถ ช่างในสมัยนั้นได้สร้างขึ้นด้วยความพิถีพิถันเต็มไปด้วยจินตนาการที่มุ่งถึงสัญลักษณ์แห่งสวรรค์ คือเขาพระสุเมรุเป็นสำคัญ และส่วนต่างๆ ของราชรถกล่าวได้ว่า ช่างได้ใช้ลายประดับได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่ฐานล่างขึ้นไปถึงยอด เป็นต้นว่า ตัวราชรถส่วนล่าง ที่มีส่วนหน้าเรียกว่า เกรินรถ ด้านหลังเรียก ท้ายเกริน ในสองส่วนนี้ด้านหน้าแกะสลักเป็นลายกระหนกนาคประดับส่วน แปรก และท้ายแกะสลักเป็นกระหนกนาง สำหรับประดับเป็นหางนาค ในส่วนของฐานบุษบก ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 เป็นฐานชั้นล่างของตัวบุษบก มักเรียกว่า เกรินรถ ตรงกลางหัวเกรินและท้ายเกรินเป็นชั้นเบญจา ประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่าพนมมือ (เทพพนม) เรียงกันเป็นระยะๆ (อ้างแล้ว)
อย่างไรก็ดี ในความวิจิตรงดงามของพระมหาพิชัยราชรถ จะนำเสนอภายหลังเมื่อบูรณะเสร็จแล้วทั้งองค์ราชรถ
สำหรับความคืบหน้าการบูรณะพระมหาพิชัยราชรถในเวลานี้ ยุนีย์ ธีระนันท์ หัวหน้ากลุ่มงานช่างปิดทองประดับกระจก สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า ได้ทำการปิดทองประดับกระจกส่วนประกอบภาพรวมทั้งองค์เสร็จแล้ว ยังเหลืองานประดับเทพพนม จำนวน 140 องค์ บริเวณส่วนเกรินทั้ง 3 ชั้น ที่อยู่ระหว่างการทำพื้น โดยในส่วนของเทพพนมจะต้องลงรัก 5 ครั้ง ก่อนที่จะปิดทอง และขณะนี้อยู่ระหว่างการลงรัก
นอกจากนี้ มีงานปิดทองล้อพระมหาพิชัยราชรถ จำนวน 4 ล้อ ที่กรมสรรพาวุธทหารบกดำเนินการจัดสร้างใหม่ ล่าสุดได้ปิดทองเสร็จเรียบร้อยแล้ว 1 ล้อ ส่วนที่เหลือจะทยอยดำเนินการเมื่อแล้วเสร็จจะประดับกระจกใหม่ก่อนที่จะนำไปติดตั้งยังองค์มหาพระพิชัยราชรถ คาดว่างานที่เหลือจะแล้วเสร็จปลายเดือนสิงหาคม
หน.กลุ่มงานช่างปิดทองฯ ยังไล่เรียงความคืบหน้าการบูรณะราชรถพระนำ สำหรับสมเด็จพระสังฆราชอ่านพระอภิธรรม อยู่ระหว่างปิดทองและประดับกระจกส่วนฐานเขียง และฐานแข้งสิงห์ รวมทั้งส่วนด้านข้างสองข้าง งานปิดทองและประดับกระจกจะทยอยดำเนินการไล่ๆ กันไปตามลำดับ และยังมีส่วนประกอบที่เสียหายบางส่วนกำลังดำเนินการอยู่ที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม จะทยอยนำมาประกอบเพื่อให้ช่างทำการทำพื้นและปิดทองประดับกระจก เมื่อแล้วเสร็จช่างไม้จะเข้าไปประดับส่วนประกอบที่เป็นกระหนก กระจังรวน กระจังตาอ้อย พนักลูกกรง
“ส่วนล้อที่จัดสร้างขึ้นใหม่ 4 ล้อ โดยกรมสรรพาวุธทหารบกได้จัดทำส่งมอบแล้ว ช่างอยู่ระหว่างทำพื้น จากนั้นจะปิดทองประดับกระจก ส่วนเกรินบันไดนาคจากการตรวจสอบเสียหายไม่มากมีเพียงทองชำรุดและกระจกหลุดบางส่วน เมื่อดำเนินการพระมหาพิชัยราชรถและราชรถน้อยเสร็จแล้ว จะดำเนินการซ่อมแซมเกรินทั้ง 2 องค์ และพระยานมาศสามลำคานตามลำดับ” (10 ก.ค. 60)
แวะไปที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม ที่นี่มากด้วยเหล่าช่างศิลปกรรมของแต่ละสาขา และจิตอาสาเข้ามาร่วมปฏิบัติงานกลุ่มสาขานั้นๆ ในส่วนของงานเครื่องประกอบราชยาน มีทั้งเย็บผ้าลาย ผ้าตาดทองลายทองแผ่ลวด ปักไหมโลหะ ผ้าระบายฉัตร ธงสามชายงอนราชรถ ไปจนถึงลงรักปิดทอง
ขณะที่งานบูรณปฏิสังขรณ์พระที่นั่งราเชนทรยาน ที่จะใช้ในการอัญเชิญพระบรมอัฐิ อีกหนึ่งของงานประณีตศิลป์ หลังจากดำเนินการบูรณะใหม่ทั้งองค์ สุภาภรณ์ สายประสิทธิ์ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ตอนนี้เหลือเพียงปิดทองครุฑ 14 ตัว กระจังปฏิญาณ และกระจังรวน 13 ตัว ในส่วนประกอบอื่นๆ ดำเนินการปิดทองเสร็จแล้วมาประกอบทั้งคันทวย พนักพิง กาบพรหมศร กระจังมุม กระจังตาอ้อย และกำลังดำเนินการปิดทองเม็ดบริเวณส่วนเสา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม
ในส่วนของพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ใช้ในการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร เริ่มดำเนินการทำพื้นสีบริเวณส่วนหลังคา
การบูรณะพระที่นั่งราเชนทรยาน ราชรถนั้นจะใช้วัสดุเดิม หุ่นเป็นของเดิม เพียงแต่มาทำไม้เสริมให้แข็งแรง และลงรักปิดทอง ซึ่งการดำเนินงานก็เหมือนกับเราได้ทำการแกะสลักใหม่อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะมีการลอกลวดลายคมชัด ขัดแต่งผิว เหมือนกับสมัยที่แรกสร้าง การดำเนินงานทุกขั้นตอนจะพยายามทำออกมาให้องค์พระที่นั่งเหมือนเดิมมากที่สุด เช่นเดียวกับพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยทำควบคู่กันไป เหมือนกับเราได้สร้างราชรถใหม่ไปพร้อมๆ กันทั้ง 2 องค์
‘สุภาภรณ์’ ยังกล่าวถึงจิตอาสาเข้ามาร่วมปฏิบัติงานทั้ง 2 ส่วนนี้ “ลำพังแค่ช่างสิบหมู่ที่ดำเนินงานในส่วนนี้มีเพียง 7 คน ซึ่งงานครั้งนี้ถือว่าได้รับความร่วมมือจากจิตอาสาเข้ามาช่วยทำงานในแต่ละวัน 30 คน ทั้งงานลงรัก เตรียมพื้นผิวราชรถ งานเย็บผ้าทองแผ่ลวด ยิ่งวันเสาร์ – อาทิตย์ด้วยแล้ว จะมีจิตอาสามาช่วยงานมากยิ่งขึ้น บางคนเข้ามาช่วยงานจนถึงเวลา 21.00 น. ทำให้งานคืบหน้าไปมาก” และกล่าวทิ้งท้าย “ช่างสิบหมู่และจิตอาสาต่างภูมิใจที่ได้มีโอกาสถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9”
ทั้งช่างสิบหมู่และจิตอาสาหลากสาขาอาชีพต่างร่วมใจกันอย่างสุดฝีมือ ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อที่ให้งานประณีตศิลป์ออกมาอย่างงามวิจิตรและสมพระเกียรติที่สุด
ส่วนพื้นที่นี้นำภาพงานช่างและจิตอาสามาให้ชมกันเพียงบางส่วนของการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน ความวิจิตรที่อยู่เบื้องหน้า เบื้องหลังในงานประณีตศิลป์ เนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9