เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 11 พ.ย.63 ที่ กก.1 บก.ปปป. (บก.ปปป.กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและ ประพฤติมิชอบ) ชั้น 4 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายบัณฑิต (สงวนนามสกุล) เดินทางมาติดตามทวงถามความคืบหน้าคดีที่มาร้องเรียนไว้ แต่ไม่พบเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงถือวิสาสะเดินเข้าไปภายในสำนักงานโดยพละการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 มาพบเข้าจึงเชิญออกมาภายนอก แจ้งว่าภายในเป็นพื้นที่ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า เพราะมีข้อมูลทางราชการและรายละเอียดคดีทุจริตต่างๆ จำนวนมาก บุคคลภายนอกหรือคนที่จะมาร้องทุกข์จะต้องติดต่อตามลำดับขั้นตอนก่อน ทำให้นายบัณฑิต ไม่พอใจ ใช้โทรศัพท์มือถือไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวทันที พร้อมกับพูดตะโกนตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. จนประชาชนที่มาติดต่อราชการตกใจ เมื่อไม่สามารถพูดคุยทำความเข้าใจได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปปป. จึงประสานแจ้งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่รับผิดชอบอาคารสถานที่ ทั้งชาย-หญิง จำนวนกว่า 10 นาย มาควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อย แต่นายบัณฑิต กลับแสดงความไม่พอใจใช้มือถือไลฟ์สดทั้งตำรวจและ รปภ.รายงานเหตุการณ์ผ่านเฟซบุ๊กหาว่า รปภ.จะมาทำร้ายตน ทั้งที่ รปภ.ได้ใช้ความอดทนเชิญออกนอกพื้นที่ จนนายบัณฑิต เดินตะโกนไปตลอดเส้นทางจากชั้น 4 จนถึงประตู 1 ชั้นสอง ออกไปยืนตะโกนเสียงดังกล่าวหาว่าถูกกลั่นแกล้ง จากนั้นนายบัณฑิตได้โทรศัพท์แจ้งเหตุไปยัง 191 เพื่อขอให้ส่งตำรวจสายตรวจมาช่วยเหลือ อ้างว่าเขามาติดต่อราชการแต่ถูก รปภ.ศูนย์ราขการกลั่นแกล้งไม่ให้เข้าพื้นที่ จนเวลาผ่านไป 10 นาที เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สน.ทุ่งสองห้อง 2 นายเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ เมื่อสอบถามทั้ง รปภ. ตำรวจ กก.1 บก.ปปป. รวมทั้งนายบัณฑิต ผู้ที่แจ้งเหตุ ต่างก็บอกเหตุการณ์ให้ตำรวจสายตรวจทราบว่าสาเหตุมาจากอะไร นายบัณฑิต ดื้อดึงจะเข้าภายในอาคารเอ ศูนย์ราชการฯ อีกรอบ ทางตำรวจสายตรวจแนะนำว่า รปภ.ของบริษัทฯ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลอาคารสถานที่ก็ขออนุญาตเขา ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ทำให้นายบัณฑิต ไม่พอใจตำรวจสายตรวจทั้งสองนายพร้อมกับพูดตะโกนข่มขู่ว่าจะไปแจ้งความดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เอาผิดด้วย ก่อนจะเรียกรถแท๊กซี่กลับออกไป ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับตัวนายบัณฑิต เคยมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. (กองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) รวมทั้งร้องเรียนผู้บังคับบัญชา กล่าวหาพนักงานสอบสวนว่าไม่รับแจ้งความ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ร้องเรียน บก.ปปป. กว่า 10 ครั้ง ร้องเรียนกรมที่ดิน 4-5 ครั้ง ทุกครั้งจะไลฟ์สดรายงานเหตุการณ์ที่ตนเองได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าพนักงาน รวมทั้งลูกจ้างที่ทำหน้าที่รับเรื่องตลอดมา จะมีเหตุกระทบกระทั้งใช้วาจาคำพูดที่รุนแรงกดดันการทำงาน จนเจ้าหน้าที่หลายคนต้องหนีไม่กล้ารับเรื่อง สำหรับสาเหตุที่นายบัณฑิต เพียรมาแจ้งความ บก.ปปป. และ ปอท.เกิดจากมูลหนี้จำนวนกว่า 10 ล้านบาท ที่นายบัณฑิต กับเพื่อนร่วมกันกู้ธนาคารเมื่อปี 2538 ยอดกู้จริงประมาณ 4-5 ล้านบาท โดนเอาบ้านทาวน์โฮมแฝดไปจำนองแบงค์ไว้ ซึ่งขณะที่ทำสัญญากู้ตัวนายบัณฑิตเองมีสภาพล้มละลาย แต่ปิดบังข้อมูลไว้ ทำให้ธนาคารอนุมัติเงินกู้ หลังจากนั้นไม่มีเงินชำระหนี้ ธนาคารจึงยึดบ้านทาวน์โฮมที่จำนองไว้ นายบัณฑิตจึงร้องศาล ว่าตนเป็นบุคคลล้มละลายไม่ต้องรับผิดหนี้ดังกล่าว ศาลตัดสินให้นายบัณฑิต ไม่ต้องรับสภาพหนี้ที่กู้ ส่วนผู้กู้ร่วมต้องรับผิดชอบแทน ทำให้นายบัณฑิตไม่พอใจคำตัดสินของศาล จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ บก.ปอท.และ บก.ปปป. รวมทั้ง กรมที่ดิน และหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายแห่ง