กระแสความต้องการครูต่างชาติของโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบ English Program (EP) หรือ International Program (IP) หรือ Intensive English Program (IEP) ในปัจจุบันมีสูงขึ้นมาก หรือแม้กระทั่งในโรงเรียนที่จัดการสอนแบบปกติทั่วไปก็ยังต้องการครูต่างชาติเพื่อสอนวิชาภาษาอังกฤษ ให้เทียบเท่าระดับนานาชาติ ยกระดับความสามารถทางภาษา (Language proficiency) และถือเป็นภารกิจที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา ( สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2562) เพราะครูต่างชาติจะสามารถสร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กนักเรียนได้เป็นอย่างมาก เด็กๆ จะกระตือรือร้นที่จะพูดภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับครูต่างชาติ ซึ่งถือเป็นการสร้างสีสันให้กับโรงเรียน
จากข่าวของโรงเรียนแห่งหนึ่งครูชาวต่างชาติได้ลงโทษและทำร้ายนักเรียน หลังจากตรวจสอบแล้วก็พบว่า ครูชาวต่างชาติคนนี้เป็นนักท่องเที่ยว ไม่ใช่ครู และไม่มีเอกสารทางราชการที่ถูกต้อง แต่ที่โรงเรียนต้องรับนักท่องเที่ยวคนนี้เข้ามาเป็นครู เพราะโรงเรียนหาครูไม่ได้ ปัญหาที่เราพบในวันนี้ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวน ความต้องการครูต่างชาติ อีกครั้ง
การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ หรือภาษาที่ 2 จะเกิดขึ้นได้ ได้ผลดี และเร็วที่สุดนั้น ครูต้องจัดให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับภาษาที่เรียนอย่างสม่ำเสมอและมากที่สุด ในการเรียนรู้ภาษาใหม่ ผู้เรียนจะเริ่มต้นจากการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน โรงเรียนจึงต้องจัดกิจกรรมและบรรยากาศที่สร้างให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับภาษาตามขั้นตอนการเรียนรู้ของภาษา วิธีการเรียนรู้จากครูเจ้าของภาษาหรือครูที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน จึงเป็นทางเลือกอันดับแรกของโรงเรียนที่จัดการสอนแบบ EP, IEP, IP หรือโรงเรียนที่เน้นการสอนภาษาอังกฤษ การรับครูต่างชาติจึงมีแผนการรับมากขึ้นถึง 140% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (www.thaimescenter.com)
จากปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านสื่อสารมวลชน ทำให้เราต้องช่วยกันคิดทบทวนว่า ครูที่ได้มามีคุณภาพไหมและเหมาะกับเด็กๆ ของเราหรือไม่ คำตอบสำหรับคำถามแรกนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก ครูที่ได้มามีคุณภาพในการสอนภาษาอังกฤษมากน้อยเพียงใด
บริษัทที่นำเข้าครูต่างชาติแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ครูที่เป็นเจ้าของภาษา เช่น ครูชาวอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ไม่สนใจที่จะเข้ามาสอนในประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี หากได้ครูเจ้าของภาษาในกลุ่มนี้มาสอนในประเทศไทย ก็มักจะมาสอนได้ไม่นาน เพราะมาเพื่อการท่องเที่ยวหรือมาเพื่อใช้เป็นบันไดก้าวไปสู่ความเป็นครู ครูกลุ่มแรกนี้จึงหายาก เมื่อครูกลุ่มแรกหายาก โรงเรียนหรือบริษัทจึงต้องหาครูจากชาวต่างชาติ
กลุ่มที่สอง ครูกลุ่มนี้เป็นครูที่มาจากประเทศที่ใช้หรือมีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าครูไทย เช่น ครูชาวฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย แอฟริกา หรือจากยุโรปบางประเทศ จึงนำมาสู่คำถาม ประเด็นที่ 2 ครูที่ได้มาจากกลุ่มนี้ ประเทศของเขามีมาตรฐานและคุณภาพการจัดการศึกษาดีกว่าประเทศไทยของเราหรือไม่
และที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือ ครูกลุ่มที่สาม ขอเพียงแค่เป็นชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษได้ ครูกลุ่มนี้น่าจะมีคุณภาพน้อยที่สุด เพราะไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องวิธีสอน จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการเรียนรู้ของผู้เรียน ไม่เคยได้ทำงานสัมผัสกับเด็กนักเรียนมาก่อน และที่สำคัญไม่ได้รับการบ่มเพาะให้มีความเป็นครู เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพราะรู้กระแสความต้องการของการศึกษาไทย ได้รับการยอมรับจากโรงเรียนในประเทศไทย และมีรายได้ดีกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศของตัวเอง เมื่อพิจารณามาถึงตรงนี้ เราทุกคนคงจะมองเห็นปัญหานี้ชัดเจนขึ้นแล้ว
กระทรวงศึกษาธิการซึ่งถือเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลการจัดการศึกษาของประเทศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ขอความร่วมมือไปยังสถานทูตต่างๆ เพื่อค้นหาครูสอนภาษาอังกฤษ โดยการจัดประชุม อภิปราย พูดคุยและขอความช่วยเหลือ ซึ่งก็มีตัวแทนจากสถานทูตต่าง ๆ เข้ามาร่วมมากกว่า 20 แห่ง แต่ก็ช่วยได้แค่ระดับสร้างความเข้าใจและตระหนัก หลายๆ โครงการ จึงเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ยั่งยืนถาวร เพราะเป็นเพียงการจ้างบุคคลที่พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว มาพูดให้นักเรียนได้ฟังเท่านั้น
ปัญหาการขาดแคลนครูภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ จึงยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนต่าง ๆ ที่มีโครงการพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนแล้วเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น จึงยังคงต้องจ้างครูจากกลุ่มที่สอง คือ ครูชาวฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศในทวีปแอฟริกาเข้ามาสอน คำถามสำคัญ คือ ครูต่างชาติกลุ่มที่สองเหล่านี้ ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนไทย? มีความเป็นครูไหม? เข้าใจวัฒนธรรมและการเรียนรู้ของเด็กไทยหรือเปล่า
หากเราไม่สามารถหาครูที่เป็นเจ้าของภาษาที่แท้จริงมาสอนได้แล้ว เราสามารถพัฒนาคนไทยที่มีความสามารถและทักษะทางภาษาอังกฤษมาเป็นครูได้หรือไม่ เราสามารถพัฒนาให้เป็นครูที่มีความสามารถเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับครูกลุ่มที่ 1 ได้หรือเปล่า
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยมีคนไทยที่เก่งภาษาอังกฤษจำนวนมาก บางส่วนมีโอกาสได้ไปเรียนต่อในประเทศที่เป็นเจ้าของภาษา ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ไม่ได้ด้อยไปกว่าเจ้าของภาษาเลย แล้วคนไทยที่เก่งภาษาอังกฤษเหล่านี้อยู่ที่ไหนที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ มักจะเลือกอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูงและเป็นอาชีพที่ต้องใช้ภาษาในการสื่อสาร เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (แอร์ สจ๊วต) พนักงานโรงแรม ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ดีมากและที่สำคัญคือภาษาที่เขาใช้เป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตจริง ภาษาในโลกของงานและการประกอบอาชีพอย่างแท้จริง รวมถึงเป็นคนที่มีจิตบริการเป็นเลิศ แล้วเราจะพัฒนาให้คนที่สนใจอยากจะเป็นครูในกลุ่มนี้ มาเป็นครูภาษาอังกฤษได้หรือไม่ จากวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบ สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 5.16% แตะ 3.67 แสนคน ยอดคนตกงานเพราะปิดกิจการพุ่งถึง 965% และระดับการศึกษาของผู้ว่างงานพบว่า อันดับหนึ่ง คือ ผู้ที่จบอุดมศึกษาหรือระดับปริญญาตรี (Isranews, 2563) นักศึกษาท่านหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสสอน ได้นิเทศการสอน ได้สัมผัสความเป็นครูของเขา เป็นคนไทยที่โรงเรียนจ้างสอนในตำแหน่งครูชาวต่างชาติโดยได้รับเงินเดือนเทียบเท่ากับครูชาวต่างชาติ สอนคู่กับครูคนไทยในห้องเดียวกัน โดยใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในห้องเรียนตลอดเวลา มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดี น่าสนใจ มีความเป็นครูสูง โดยที่นักเรียนในห้องเรียนก็ไม่รู้เลยว่าครูท่านนี้เป็นคนไทย เด็กๆ เข้าใจกันว่าเป็นครูชาวต่างชาติมาโดยตลอด เพราะครูพูดภาษาอังกฤษได้ดี สำเนียงดีกว่าครูต่างชาติหลายคนที่โรงเรียนจ้างมาสอน
เพราะเหตุใด ประเทศเราไม่พัฒนาและส่งเสริมคนไทยที่เก่งภาษาอังกฤษให้มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ทั้งที่คนไทยกลุ่มนี้ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าครูชาวต่างชาติบางคนที่โรงเรียนจ้างกันอยู่การเอาใจใส่ดูแลนักเรียน การให้ความรักความเมตตากับนักเรียน เทคนิควิธีการสอนการจัดกิจกรรม วัฒนธรรมประเพณี ค่านิยม ความอ่อนน้อม สุภาพ นุ่มนวล คนไทยเท่านั้นที่จะเข้าใจคนไทย และส่งต่อความเป็นไทยให้ลูกหลานคนไทยด้วยกัน หรืออย่างน้อยที่สุด ครูแอร์ ครูสจ๊วต ครูพนักงานโรงแรมเหล่านี้ ก็ยังมีจิตสำนึกของความเป็นคนไทย จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศชาติและมีส่วนช่วยพัฒนาเยาวชนของชาติ ให้เจริญเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น เรามาร่วมกันสร้างครูภาษาอังกฤษคนไทยที่เข้าใจหลักสูตร เข้าใจผู้เรียน มีเทคนิคการสอนที่ดีน่าสนใจ สนุกสนาน มีความเป็นครู ที่เด็กๆ เรียนด้วยแล้ว เด็กๆ จะสามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตได้จริงแบบครู แล้วจ้างให้สอนภาษาอังกฤษในตำแหน่งครูต่างชาติที่ไม่ใช้ภาษาไทยในห้องเรียน ทดแทนครูต่างชาติที่หายาก หรือหาได้แต่ขาดคุณภาพ ขาดความเข้าใจในบริบทของความเป็นไทยอย่างแท้จริงกันดีกว่าครับ ดร. สิทธิพร เอี่ยมเสน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เอกสารอ้างอิง สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (2562). คู่มือแนวทางการจัดการเรียนการสอน ภาษาอังกฤษตามความเข้มข้น 3 ระดับสู่สากล. สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศธ. อัฐพงศ์ ภณนรเศรษฐ์. (2563). แนวทางการแก้ไขการขาดแคลนครูภาษาอังกฤษในไทย. จาก www.thaimescenter.com เข้าถึงเมื่อ 30 กันยายน 2563 Isranews. (2563). สถิติฯ เผยผู้ว่างงานเดือน ธ.ค. เพิ่ม 5.16%. จาก www.isranews.org. เข้าถึงเมื่อ 30 กันยายน 2563