ยกให้เป็น “ภูมิรัฐศาสตร์” หรือถึงขั้นเป็น “ยุทธภูมิ” แห่ง “ใหม่” ที่บรรดาชาติมหาอำนาจ พี่เบิ้มน้อยใหญ่ ต่างจับตาจ้องมอง เตรียมความพร้อมที่จะมาลงชิงชัย แสวงหาความเป็นใหญ่
สำหรับ “อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific)” อันเป็นพื้นที่ที่รวม “ภูมิภาคต่างๆ ของสองน่านน้ำมหาสมุทร” บนผืนพิภพของโลกใบนี้ ผนวกเข้าไว้ด้วยกัน
นั่นคือ “มหาสมุทรอินเดีย” และ “มหาสมุทรแปซิฟิก”
ผนวกสองน่านน้ำมหาสมุทรเข้าไปด้วยเช่นนี้ ก็ทำให้กินพื้นที่หลายภาคส่วนของภูมิภาคต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เอเชียใต้ และอาจลากรวมถึงเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือตะวันออกกลาง อีกต่างหากด้วย
เมื่อใหญ่ยิ่ง และยิ่งใหญ่ กันเยี่ยงนี้ มหาอำนาจตะวันตก ที่นำโดย “สหรัฐอเมริกา” เจ้าของฉายา “พญาอินทรี” เลยกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ สำหรับการคืบคลานเข้ามา “ปักธง” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อสกัดกั้นอิทธิพล หรือปิดล้อม “พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่” นั่นเอง
การดำเนินการ ก็ผ่าน “ความร่วมมือทางการทหารกับชาติต่างๆ” ที่ไปชักชวนมาร่วมวงไพบูลย์ด้วย
ที่นับว่าเริ่มมีชื่อเรียกกันติดปาก ยกตัวอย่างเช่น “จตุภาคีคว็อด” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “คว็อด (Quad)” กอปรชาติสมาชิก ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย
ผู้นำกลุ่มก็มิใช่ใครที่ไหนอื่น ก็คือ สหรัฐฯ นั่นเอง จับมือทางการทหารกับ 3 ชาติที่เหลือ คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาติเหล่านี้ ล้วนมีปัญหากับการขยายอิทธิพลของพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่
ไม่ว่าจะเป็น “สหรัฐฯ” ในที่ฐานะคู่แข่งขันความเป็นมหาอำนาจโลกกับจีน
ส่วน “ญี่ปุ่น” เจ้าของฉายาแดนซามูไร ก็มีปัญหาพิพาททางดินแดนกับจีนแผ่นดินใหญ่ ในกรณีการครอบครอง “หมู่เกาะเซนกากุ” ในภาษาญี่ปุ่น หรืออีกชื่อ คือ “หมู่เกาะเตียวหยู” ในภาษาจีน ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ใน “ทะเลจีนตะวันออก” น่านน้ำที่กางกั้นระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับญี่ปุ่น ที่ต่างฝ่าย ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะดังกล่าว
ขณะที่ “ออสเตรเลีย” ฉายาแดนจิงโจ้ ก็มีปัญหาระหองระแหงกับจีนแผ่นดินใหญ่ จากกรณีที่พญามังกรจีน สยายกรงเล็บ คือ อิทธิพล ขยายจาก “ทะเลจีนใต้” สู่ “มหาสมุทรแปซฟิกตอนใต้” ซึ่งบรรดาประเทศเกาะแก่งต่างๆ ในพื้นที่แห่งนั้น เช่น หมู่เกาะโซโลมอน หมู่เกาะตองกา เป็นต้น เป็นย่านที่อยู่ใต้เงาอิทธิพลของ “ออสเตรเลีย” ในฐานะ “พี่ใหญ่” ของภูมิภาคดังกล่าวมาแต่ไหนแต่ไร แบบชนิดที่พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ปาดตัดหน้าจิงโจ้กันเห็นๆ
รวมถึง “อินเดีย” แดนภารตะ ที่เพิ่งกระทบกระทั่งทางการทหาร กับจีนแผ่นดินใหญ่ จากปัญหาพิพาททางดินแดน ระหว่างพรมแดนของประเทศทั้งสอง
โดยที่ผ่านมา สมาชิกจตุภาคีคว็อดทั้ง 4 ชาติ ก็ระดมกำลังทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ประดามี “ออกแผน” ซ้อมรบกันทั้งในท้องน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก และน่านน้ำมหาสมุทรอินเดีย เป็นประจำกันอยู่เนือง นับตั้งแต่ความร่วมมือข้างต้น เริ่มสถาปนาเมื่อปี 2551 เป็นต้นมา
ล่าสุด ได้มีสองชาติพี่เบิ้มใหญ่แห่งภูมิภาคยุโรปตะวันตก มีความสนใจที่จะตบเท้าเข้ามายัง “อินโด-แปซิฟิก” แห่งนี้
นั่นคือ “เยอรมนี” เมืองเบียร์ กับ “ฝรั่งเศส” แดนน้ำหอม
โดยในส่วนของ “เยอรมนี” นั้น จากการเปิดเผยของ “นางอันเนเกรต ครัมป์ -คาร์เรนบาวเออร์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ระบุว่า กองทัพเยอรมนีมีแผนการที่จะระดมกองเรือรบมาตระเวนในน่านน้ำ “อินโด-แปซิฟิก” คือ มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ในปีหน้า
เบื้องต้นก็จะมาตระเวนที่ท้องน้ำของมหาสมุทรอินเดียก่อน
พร้อมกันนี้ นางอันเนเกรต ครัมป์-คาร์เรนบาวเออร์ ยังเผยด้วยว่า การดำเนินยุทธศาสตร์ทางการทหารของเยอรมนีในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงอินโด-แปซิฟิก จะดุเดือดเลือดพล่านเข้มข้นขึ้นนับตั้งแต่ปี 2021 (พ.ศ. 2564) นี้ เป็นต้นไป
นั่นหมายถึงว่า เยอรมนีจะระดมงบประมาณมายังด้านกลาโหมเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่า ประเทศในช่วงขวบปี 2020 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ต้องประสบกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด -19 อย่างหนักก็ตาม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี ยังเปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลเบอร์ลิน สนใจที่จะตบเท้าเข้ามายัง “อินโด-แปซิฟิก” ด้วยว่า เพื่อให้เยอรมนีมีสถานภาพ ตัวตน บนภูมิภาคแห่งนี้ รวมถึงเพื่อต้านทานอิทธิพลจีนแผ่นดินใหญ่ ทางการเบอร์ลินกำลังจับตาจ้องมองความเคลื่อนไหวของพญามังกร
ขณะที่ “ฝรั่งเศส” แดนน้ำหอม ก็มีแผนที่จะกรีธาทัพทางนาวีส่วนหนึ่ง มายัง “อินโด-แปซิฟิก” เช่นกัน ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกับเยอรมนี ท่ามกลางผลประโยชน์ของฝรั่งเศส และประชาชนชาวน้ำหอมที่อยู่ในภูมิภาคแห่งนี้มากกว่า 2 แสนคน
โดยปรากฏการณ์ที่บรรดาชาติมหาอำนาจตบเท้าเข้ามาข้างต้น ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า บรรยากาศเหมือนกับการก่อร่างสร้างกลุ่มเฉกเช่นองค์การนาโตในยุโรป ในการปิดล้อมอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย เมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในครั้งนี้เป็นการปิดล้อมจีนแผ่นดินใหญ่ และอาจจะเรียกเป็น “นาโตแห่งเอเชีย” ก็ว่าได้