จัดแสดงผลงานนิทรรศการ  Nirantar 2020 2nd Online International Art Exhibitionประเทศอินเดีย จากผู้ส่งผลงานกว่า 700 ชิ้นทั่วโลก อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ประกอบด้วย อาจารย์ศิวะ อินทะโคตร อาจารย์ประจำหลักสูตรทัศนศิลป์  และนักศึกษาสาขาวิชาทัศนศิลป์ วิชาเอกภาพพิมพ์ ชั้นปีที่ 4 น.ส.มาเรียม สืบเหม น.ส.ศศิมา เร๊ะดุมหลี ภายใต้การควบคุมดูแลของ อาจารย์วารี แสงสุวอได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ Nirantar 2020 2nd Online International Art Exhibition ประเทศอินเดีย ร่วมกับผลงานจากศิลปินรับเชิญ 6 ท่าน และผลงานที่ได้รับคัดเลือกจากผู้ส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือกกว่า 700 ผลงาน  จากอินเดีย (ประเทศผู้จัด) และจาก 46 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผลงานที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 458 ผลงาน จัดแสดงระหว่างวันที่ 5-30 กันยายน 2563 https://www.nirantarart.com/ สำหรับผลงานของ อาจารย์ศิวะ อินทะโคตร มีชื่อผลงานว่า สลาย (Crumble) ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ เป็นผลงานในชุดการสร้างสรรค์ที่ต้องการแสดงออกถึงความงามที่ตั้งอยู่บนความเสื่อมสลายของสิ่งต่างๆ  ในผลงานชิ้นนี้ต้องการแสดงความงามของหญิงสาวในอากัปกิริยาที่กำลังเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยในแบบเสี้ยววินาที ในความเคลื่อนไหวนั้นมีความงามที่เป็นทั้งความงามในกิริยาอาการที่ดูเป็นธรรมชาติ ความงามของใบหน้า และความงามของร่างกายในวัยหนุ่มสาว แต่ในขณะเดียวกัน ความงามที่ว่ามาทั้งหมดนั้นก็เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งความงามของท่าทางที่เคลื่อนไหวและความงามของวัยหนุ่มสาว ต่างก็มีความเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมสลายรอคอยอยู่ทุกขณะ ผลงานชิ้นนี้ จึงเป็นเหมือนการบันทึกความงามที่ควบคู่กับความเปลี่ยนแปลง ที่ต้องการสะท้อนถึงสัจจะความจริงของสรรพสิ่งและชีวิต ผลงานของ น.ส.มาเรียม สืบเหม มีแนวความคิดเกี่ยวกับความอบอุ่น ซึ่งเป็นสิ่งนามธรรมไม่สามารถมองเห็นได้ แต่สามารถรับรู้ได้ด้วยความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ล้วนต้องการความอบอุ่น จึงถ่ายทอดความอบอุ่นอันเป็นนามธรรมนี้เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยใช้สัญญะ (สัญลักษณ์) ของแมวซึ่งเป็นสัตว์ใกล้ตัว ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวและการดำรงชีวิตคล้ายคลึงกับมนุษย์ ผ่านกระบวนการเทคนิคภาพพิมพ์กัดกรดโลหะ ดั่งความรู้สึกที่อบอวลไปด้วยความรัก แต่ฝังลึกผ่านเนื้อโลหะแข็ง ประดุจดังความรักที่ไม่มีขอบเขตกั้น ผลงานของ น.ส.ศศิมา เร๊ะดุมหลี มีแนวความคิดจากความประทับใจในลวดลายของแผ่นไม้เก่าๆ จึงได้นำแผ่นไม้บางๆ ที่เก่ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นผลงาน เนื่องจากชื่นชอบในเรื่องของลวดลายบนแผ่นไม้ สีและเส้นต่างๆ ของเนื้อไม้ที่เกิดจากการแปรสภาพของธรรมชาติ และความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จึงมีความชอบและประทับใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยได้นำวัสดุแผ่นไม้นี้นำมาทำเป็นผลงานศิลปะภาพพิมพ์วัสดุ (Collagraph)