พาดผ่านทางช้างเผือก ประกอบจาก 22 ภาพถ่าย รวมหลายเนบิวลา NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “จิตรกรรมแห่ง #กลุ่มดาวหงส์ ในอวกาศ จังหวะการสะบัดแปรงฝุ่นไปตามพื้นที่ว่างระหว่างดวงดาวและการเรืองแสงของเมฆแก๊ส ทำให้ทั่วระนาบกาแล็กซีทางช้างเผือกดูคล้ายจิตรกรรมที่สวยงามแบบนี้ ภาพนี้เป็นภาพถ่ายในบริเวณกลุ่มดาวหงส์ ประกอบขึ้นจากภาพถ่ายทั้งหมด 22 ภาพ และเก็บข้อมูลกว่า 180 ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่บนท้องฟ้าเป็นมุมกว้างประมาณ 24 องศา ในภาพนี้มีเนบิวลาที่น่าสนใจมากมาย เราจะนำพาทุกท่าน ไปชมความสวยงามและความน่าสนใจของแต่ละเนบิวลาในภาพนี้กัน “กลุ่มดาวหงส์” หรือ “กางเขนเหนือ” เป็นกลุ่มดาวที่พาดผ่านทางช้างเผือกพอดี ในประเทศไทยจะสามารถมองเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม จนถึงเดือนธันวาคม...ในกลุ่มดาวหงส์มีดาวเดเนบ (Deneb) เป็นดาวที่สว่างที่สุด คำว่าเดเนปแปลว่า “หางหงส์” และดาวดวงนี้ก็อยู่ในตำแหน่งของหางหงส์พอดี ดาวเดเนปอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง เป็นดาวที่มีขนาดใหญ่ สว่างและร้อนแรงมาก กลุ่มดาวหงส์ยังเป็นที่อยู่ของเนบิวลาหลายแห่ง เริ่มจาก “เนบิวลาถุงถ่านหินทางเหนือ (Northern Coal Sack)” ซึ่งเป็นเนบิวลามืด ที่ทอดตัวออกจากดาวเดเนบ ทางด้านซ้ายของดาวเดเนบ เราจะพบกับเนบิวลาอีกสองแห่ง คือ เนบิวลานกพิลิแกน (IC5070) และเนบิวลาทวีปอเมริกาเหนือ (NGC7000) ที่มีรูปร่างคล้ายกับแผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งสองเนบิวลานี้เป็นเนบิวลาเปล่งแสงที่ถูกคั่นด้วยฝุ่นและแก๊สที่หนาทึบ ทั้งสองเนบิวลานี้ห่างจากโลกประมาณ 1,500 ปีแสง สีที่เห็นในเนบิวลาทั้งสองนี้เป็นผลจากอะตอมไฮโดรเจนและซัลเฟอร์ (กำมะถัน) ได้รับความร้อนจากดาวฤกษ์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ถัดลงมาจาก เนบิวลาถุงถ่านหินทางเหนือ (Northern Coal Sack) จะพบเนบิวลาเปล่งแสง 2 แห่ง เนบิวลาแห่งแรกชื่อว่า “เนบิวลาผีเสื้อ” (IC1318) เป็นเนบิวลาที่ถูกแถบมืดของฝุ่นในอวกาศแบ่งออกเป็นสองชิ้น ทำให้มีลักษณะคล้ายกับปีกที่กางออก และเนบิวลาอีกแห่ง คือ “เนบิวลาเสี้ยวจันทร์” (Crescent Nebula) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 5,000 ปีแสง เนบิวลานี้ประกอบด้วยอะตอมของไฮโดรเจนและออกซิเจน ด้านล่าง ปลายปีกขวาของกลุ่มดาวหงส์ จะเห็นเนบิวลาที่ชื่อว่า “เนบิวลาผ้าคลุมไหล่ (Veil Nebula)” เป็นเศษซากของการระเบิดของดาวฤกษ์มวลมาก หรือซูเปอร์โนวา (Supernova) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,400 ปีแสง เนบิวลาผ้าคลุมไหล่ประกอบด้วยอะตอมของไฮโดรเจนและออกซิเจนเช่นเดียวกับเนบิวลาเสี้ยวจันทร์ เนบิวลาเปล่งแสง (Emission nebula) เป็นเนบิวลาที่มีแสงสว่างในตัวเอง ซึ่งแสงที่เปล่งออกมาเกิดจากอะตอมของธาตุที่เป็นองค์ประกอบในเนบิวลา ได้รับความร้อนจากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เคียงแล้วคายพลังงานออกมา ซึ่งแต่ละสีที่แตกต่างกัน เกิดจากธาตุที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง สามารถดูภาพประกอบเพิ่มเติมได้ในคอมเมนต์ใต้ภาพ เรียบเรียง : พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ------------------------ อ้างอิง : [1] https://apod.nasa.gov/apod/ap200826.html... [2] https://apod.nasa.gov/apod/ap191031.html [3] https://www.constellation-guide.com/pelican-nebula/