ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: ดินแดนชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ในมุมโบราณคดีมีการสำรวจพบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่บ่อยครั้งตามเพิงผา ถ้ำ และหมู่เกาะต่างๆ จากข้อมูลของกรมศิลปากร มีการค้นพบและสำรวจแหล่งภาพเขียนสีบริเวณอ่าวพังงา-อ่าวลึก ของนักวิชาการไทยและต่างชาติ โดยในปี พ.ศ.2530 – 2531 ภายใต้การดำเนินงานของโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี (ภาคใต้) ได้ทำการสำรวจแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณชายฝั่งตะวันตกของประเทศ พบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มเติมอีกจำนวนหลายแห่ง หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต (เดิม) มีการแจ้งพบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดพังงา กระบี่ และตรัง จึงดำเนินการสำรวจซ้ำแหล่งเดิมเพื่อตรวจสอบสภาพของแหล่งภาพเขียนสี และสำรวจแหล่งที่พบใหม่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กระทั่งเดือนสิงหาคม 2563 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้รับการประสานจากอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา ขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ร่วมสำรวจภาพเขียนสีโบราณ สำนักฯ จึงดำเนินการสำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ในระหว่างวันที่ 27 – 28 ตุลาคม 2563 โดยสำรวจแหล่งเดิมและสำรวจพบแหล่งใหม่ รวมจำนวน 11 แหล่ง กลุ่มภาพสีแดงรูปบุคคลและสัตว์ เพิงผาเกาะทะลุนอก ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับนักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ตรวจแหล่งภาพเขียนสีตามที่มีการสำรวจพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา โดยสำรวจภาพเขียนสีโบราณแหล่งเดิม 6 แห่ง ได้แก่ เกาะปันหยี ถ้ำนาค เขารายา เขาเขียน1 เขาเขียน2 เขาพระอาดเฒ่า และสำรวจภาพเขียนสีโบราณที่พบใหม่ 5 แหล่ง ได้แก่ เกาะทะลุนอก เกาะเขาเต่า ถ้ำนกกระเรียน เกาะไข่ และเกาะยางแดง รวม 11 แหล่ง อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ภาพเขียนสีตามเพิงผาหรือถ้ำบริเวณอ่าวพังงา รวมถึงบริเวณฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมดที่สำรวจพบแล้วมีมากกว่า 30 แห่ง เขียนขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แสดงออกถึงวิถีชีวิตและการใช้พื้นที่ของผู้คนเมื่อราว 3,000 – 5,000 ปีมาแล้ว เช่น ภาพบุคคล ภาพสัตว์บกและสัตว์น้ำ ภาพลวดลายเรขาคณิต นับว่าเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญมาก จึงได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งภาพเขียนสี (ศิลปะถ้ำ) ฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพเขียนสีในเขตพื้นที่ จ.กระบี่และพังงาอย่างเป็นระบบ “ทั้งนี้ นำองค์ความรู้เหล่านั้นมาเป็นพื้นฐานต่อยอดในเชิงพัฒนา เช่น จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) การพัฒนาสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ รวมทั้งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ระลึก จะนำมาซึ่งการเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจมีการกระจายรายได้ให้กับชุมชนที่ร่วมกันดูแล” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว แน่ล่ะ ยังคงมีภาพเขียนสีโบราณตามเพิงผา-ถ้ำและหมู่เกาะต่างๆ อันดามัน อยู่อีกจำนวนหลายแหล่งที่รอการสำรวจ ภาพสัตว์สี่เท้าสีดำเขียนทับกลุ่มภาพสีแดง เพิงผาเกาะเขาเต่า ภาพลายเส้นคู่คล้ายรูปสี่เหลี่ยม บริเวณโพรงถ้ำเกาะไข่ เกาะไข่ แผนที่แสดงตำแหน่งแหล่งภาพเขียนสีในพื้นที่อ่าวพังงา