โปรย : “ปัญหาน้ำท่วมกับปัญหาภัยแล้ง จะกระทบกับภาคเกษตรโดยตรง ซึ่งเป็นตัวผลิตอาหารของโลก เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้ว อย่างกรณีประเทศไทยตัวเลขจากกรมอุตินิยมวิทยา เมื่อปี 1970 อุณหภูมิอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียส ปัจจุบันอยู่ที่ 44 องศาเซลเซียส ผ่านมาแค่ 40 ปี อุณหภูมิขึ้นไปอยู่ที่ 44 โอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็น 50 องศาจะเร็วกว่าเยอะ เพราะโลกใช้เวลาในการปรับตัว มาถึงจุดที่ทะยานขึ้นเร็ว หน้าร้อนก็จะร้อนจัด หน้าหนาวก็จะหนาวจัดทุกอย่างมันเปลี่ยนขั้วหมด” เรื่อง : จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์ หมายเหตุ : “ปรานต์ สยามวาลา” นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐ” ถึงสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก สร้างความเสียหาย เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรง โดยล่าสุดได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นในสองซีกโลกภายในวันเดียวกัน ทั้งที่อิตาลี ขนาด 6.2 แมกนิจูดในเวลาเช้าเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ขณะที่ในช่วงเย็นของวันเดียวกันเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 แมกนิจูด ใกล้กับเมืองพุกามของประเทศเมียนมา ทั้งนี้แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ถึงกรุงเทพฯ จากอาคารสูงหลายแห่งในวันที่ 24 ส.ค.เช่นกัน ดังนั้นวันนี้ “สยามรัฐ” จึงได้นำเสนอมุมมอง ความรู้ ความเข้าใจ ต่อสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ จากผู้เชี่ยวชาญ มีสาระที่น่าสนใจดังนี้ - สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีอะไรที่เราต้องศึกษา เรียนรู้เพื่อหาทางป้องกัน ปัจจุบันพบว่าปัญหาภัยพิบัติประเภทต่างๆที่เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยหมดแล้ว ทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว การกัดเซาะชายฝั่ง ภัยแล้ง สึนามิและดินถล่ม สาเหตุหลักมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ทุกอย่างรุนแรงขึ้น เพราะเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก จากการเพิ่มขึ้นสูงของก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ และก๊าซมีเทน ซึ่งข้อมูลล่าสุดมีความน่ากังวล ว่า ปี 2025-2030ประชากร 4 พันล้านคน เสี่ยงที่จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ชายฝั่งเข้าไปในพื้นที่ ที่สูงขึ้น ถึงขนาดที่ ADB ตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการย้ายถิ่นฐานเพราะภัยพิบัติ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เขาคุยกันไปถึงขั้นนั้นแล้ว ถ้าเกิดขึ้น ที่กรุงเทพฯไม่เหลือนะครับ ภาคกลางประเทศไทยไม่เหลือนะ อยู่ใต้น้ำหมด นักธรณีวิทยาสามารถบอกได้ว่า ในอดีตจากกรุงเทพฯถึงหนองคายยังมีสัตว์ทะเล ในอดีตมันมีมาหมดแล้ว เพียงแต่ต้องย้อนกลับไปดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นและตอนนี้กำลังเกิดขึ้นอีกแล้ว ผมเคยได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญของเนเธอแลนด์ ว่าสำหรับเมืองไทยนั้นง่ายมาก คือทำเขื่อนกั้นอ่าวไทยจากจังหวัดตราด จนถึงประจวบคีรีขันธ์ แต่ปรากกฏว่า พอเราจะทำจริงๆ เอาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมจากอเมริกามา ได้บอกว่า ถ้าทำเขื่อนผิดไป น้ำอ่าวไทยนี่จะเน่าเลย เพราะว่าน้ำเสียของไทยออกไปสู่อ่าวไทยเยอะมาก ซึ่งก็ต้องมาบำบัดก่อน ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็พยายามจะสร้างโครงการนี้ ร่วมกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล และผู้เชี่ยวชาญของอเมริกา เพื่อตรวจสอบว่า มันมีสารพิษในอาหารทะเลที่คนกินไป ก็สามารถจะตรวจสอบได้ว่าเป็นสารพิษมาจากอุตสาหกรรมอะไร มีการทดลองสุ่มตัวอย่างสั้นๆ ปรากฏว่า ร้อยละ 60 เปอร์เซ็นต์มาจากภาคเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง ที่สารพิษเหล่านี้ลงไปถึงอ่าวไทย ดังนั้นจึงอยากสนับสนุนให้ภาครัฐกลับมาช่วยดูเรื่องนี้ด้วย ระบบของอเมริกากับไทยมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในการควบคุมมลพิษ ของไทย เรียกว่าเป็นระบบ “หว่านแห” คือการสร้างกฎครอบคลุมทั้งหมด มีจุดอ่อนคือ ประการแรก ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมันกว้าง ประการที่สอง คือค่าใช้จ่ายสูง เพราะทุกคนทำไม่ทันก็ต้องมีระบบป้องกันหมดเลย จึงแพงโดยใช่เหตุ ขณะที่ทางอเมริกาเขากลับกัน เขาไปดูสัตว์น้ำที่มีผลกระทบกับชีวิตมนุษย์ ก็เอาสัตว์น้ำเหล่านี้มาศึกษาก็จะรู้ว่าสารพิษที่สัตว์น้ำได้รับนั้นมาจากอะไร สารพิษประเภทใด ใช้กับอุตสาหกรรมใด และย้อนกลับไปดูว่าจะควบคุมอุสาหกรรมนี้อย่างไร แทนที่จะหว่านแหกำหนดว่าสารพิษประเภทนี้ต้องมีค่าไม่เกินเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่พยายามจะบอกและเน้นมากๆ สำหรับปัญหาจากน้ำแข็งที่ละลายเร็วมาก แหล่งน้ำจืดจากน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือกรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกา พอน้ำจืดละลายลงมา ความเค็มเป็นตัวที่แลกเปลี่ยนความร้อน-เย็น พอน้ำจืดละลายทำให้ความเค็มน้อยลง ส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเป็นไปได้อย่างไม่ปกติ คือเชื่องช้าลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พื้นที่หนาวก็หนาวจัด ที่ร้อนก็ร้อนจัด อย่างที่เขาเรียกว่า Extreme Event คือร้อนก็ร้อนสุดขั้ว หนาวก็หนาวสุดขั้ว ไม่ท่วมก็แล้ง แต่นักวิทยาศาสตร์มองว่าในอนาคตจะแล้งมากกว่าท่วม ปัญหาน้ำท่วมกับปัญหาภัยแล้ง จะกระทบกับภาคเกษตรโดยตรง ซึ่งเป็นตัวผลิตอาหารของโลก เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้ว อย่างกรณีประเทศไทยตัวเลขจากกรมอุตินิยมวิทยา เมื่อปี 1970 อุณหภูมิอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียส ปัจจุบันอยู่ที่ 44 องศาเซลเซียส ผ่านมาแค่ 40 ปี อุณหภูมิขึ้นไปอยู่ที่ 44 โอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็น 50 องศาจะเร็วกว่าเยอะ เพราะโลกใช้เวลาในการปรับตัว มาถึงจุดที่ทะยานขึ้นเร็ว หน้าร้อนก็จะร้อนจัด หน้าหนาวก็จะหนาวจัดทุกอย่างมันเปลี่ยนขั้วหมด อย่างปรากฏการณ์เป็นบันทึกโลกคือ วันดีคืนดีเกิดพายุหนักก่อตัวกันพร้อมกัน 6 ลูกในวันเดียวกันคือ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2515 เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิด แต่ที่เกิดขึ้นเพราะเอลนิโญ่ ส่วนแผ่นดินไหวจะกระทบกับประเทศไทยอย่างไรนั้น ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้ตั้งอยู่ในแนว “วงแหวนไฟ” หรือ Ring of Fire เหมือนหลายๆ ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกที่จะเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง แต่ก็ขนาบประเทศไทยทางทิศตะวันตกไปทางเมียนมา เวลาเราพูดถึงไทยมักจะพูดถึงรอยเลื่อนหรือร่องแผ่นดินไหว ถ้าเปรียบเทียบความสำคัญ เป็นแค่ “เส้นเลือดฝอย” ทำไมเราไม่ดูเส้นเลือดใหญ่ที่วงแหวนไฟ อย่างที่เชียงรายที่เคยเกิดแผ่นดินไหวเป็นแค่เส้นเลือดฝอย สิ่งที่น่ากลัวสำหรับกรุงเทพฯโดยเฉพาะ เพราะกรุงเทพฯเป็นดินอ่อน เหมือนวุ้นกะทิ มีอะไรมากระทบมันยิ่งแกว่ง ทางสมาคมฯเคยจัดสัมมนาใหญ่เรื่องผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาร่วมสัมมนาก็ถามเขาง่ายๆว่า กรุงเทพฯ อันตรายไหม เขาตอบเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า “It 's not if but when” ( มันก็ไม่ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ) ทุกคนกลัวกันหมด ที่สรุปก็คือว่า ถ้ามันเกิดแผ่นดินไหวในแถบอันดามันที่เป็นแนวขนานกับกรุงเทพฯ มีความรุนแรงระดับ 9 แม็กนิจูด หรือที่รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ระดับ 7 แม็กนิจูด ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ตึกสูงในกทม.นี่เละเลย -เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่พม่าในกทม.ก็รับรู้ถึงความสั่นสะเทือน อันนั้นเกิดขึ้นทางเหนือ อยู่ไกลและความรุนแรงแค่ 6.2 แม็กนิจูด อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่เคยเกิดแผ่นดินไหวในพม่า แรงสั่นสะเทือนที่จ.สุรินทร์น้อยกว่ากรุงเทพฯ 6-7 เท่า เป็นเพราะผลกระทบสภาพดินอ่อน ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก แต่ถ้าอยู่แถวศรีสวัสดิ์ ที่เขากลัวว่าเขื่อนจะแตกแล้วน้ำจะท่วมกทม. ซึ่งจุดนี้ คุณไม่ต้องไปรอน้ำหรอก ตึกล้มแน่นอน ไม่ถึงนาทีคลื่นแผ่นดินไหวก็มาถึงแล้ว น่ากลัวกว่าเยอะ ปัญหาคือก่อนหน้านี้ตึกสูงในกทม. ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว เพิ่งจะมีเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ที่ทางภาครัฐเองออกกฎหมายควบคุมอาคารสูงว่าต้องออกแบบป้องกันแผ่นดินไหวด้วย แต่โอกาสเสี่ยงสำหรับตุกที่สร้างมาก่อนหน้านี้ จะไม่มีการป้องกันแผ่นดินไหวเลย ในต่างประเทศเขาต้องปรับสภาพกันใหม่ อย่างที่ญี่ปุ่นเขาทำมาแล้ว เพราะเรื่องแผ่นดินไหวระยะไกล นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งมารู้เมื่อปี 1985 จากการผลกระทบที่เม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ที่อยู่ห่างจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหว 400 กิโลเมตร แต่ตึกสูง 1ใน 3ของเมือง ได้รับความเสียหายถ้าไม่ถล่มก็ต้องทุบทิ้ง คนตายไปหมื่นคนแต่ต้องเข้าใจว่า เมื่อปี 1985 สมัยนั้นตึกสูงมีไม่กี่ตึก นักวิทยาศาสตร์เขาเอาเม็กซิโกซิตี้ มาเทียบกับกรุงเทพฯ ที่มีสภาพดินอ่อน โครงสร้างของเมืองเหมือนกัน บางจุดความสั่นสะเทือนถ้ามากระทบกับแผ่นดินอ่อน มันจะเพิ่มขึ้นไปอีก 14 เท่า ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯที่เป็นดินอ่อน แต่เป็นภาคกลาง ที่ลุ่มทั้งหมด ที่น่ากลัวมากกว่านั้นก็คือเมื่อเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น แผ่นดินไหวระดับ9 ริกเตอร์วันเดียวกัน กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียแผ่นดินไหวระดับ 7 ริกเตอร์ ก็มีการศึกษาไปถึงชั้นหินหนืด หรือแม็กมา (สารเหลวร้อน)พบว่า เมื่อแผ่นดินไหวด้วยคุณสมบัติที่มีความเหลวเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนความรุนแรงจึงพุ่งไปได้ และได้ข้อสรุปว่า เหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นกับที่ไปเกิดที่มอสโก เป็นอันเดียวกัน ส่วนที่อิตาลีกับเมียนมาร์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนั้น ต้องรอผลการศึกษาก่อน เพราะการตรวจสอบต้องใช้เวลาเป็นปี เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ที่ไครสต์เชิร์ช เดือนก.พ.2554 เห็นได้ชัดว่าระบบเศรษฐกิจวินาศสันตะโร ฉะนั้นเราควรให้ความสำคัญกับการดูแลให้เกิดความยั่งยืน ส่วนที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ เชียงราย เมื่อปี 2557 ทางสมาคมฯได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญของโลก คือ มิยาโมโตอินเตอร์เนชั่นแนล ประเมินความสูญเสียที่สำรวจมาพบบ้าน 475 หลัง วัด 138 และโรงเรียน 56 แห่งคือ ที่ต้องทุบทิ้งไม่สามารถกลับไปซ่อมแซมเพื่อใช้ได้อีก ความจริงมันมีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะมีคนเสียชีวิตเพียง 1 คน จริงๆเราควรจะเรียนรู้จากตรงนี้ ภาครัฐไม่ได้เข้าไปดูเลย มิยาโมโตฯ มองว่ามีเด็กนักเรียนประมาณ3 ล้านคนจาก 9,000โรงเรียนในประเทศไทยสุ่มเสี่ยงกับแผ่นดินไหว ก็คือพื้นที่แถบตะวันตก รวมทั้งกรุงเทพฯด้วย ตอนนี้กองทุนจากยูเอ็น และเวิลด์แบงก์ เน้นหนักเสริมความยืดหยุ่นให้กับโรงเรียนในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงแผ่นดินไหว เพราะเขารู้ว่าเด็กคือความหวังของประเทศ และของอนาคต เพราะฉะนั้นจึงเน้นความสำคัญตรงนี้ เพราะเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเขาสามารถซ่อมได้ คนไทยส่วนใหญ่จะคิดว่าสร้างไปแล้วจะแก้ไขได้อย่างไร แต่ความจริงเทคโลโลยีมันไปไกลแล้ว สามารถที่ปรับแก้ไขตึกเก่าได้ เรื่องนี้ขอฝากประชาสัมพันธ์ ว่าทางสมาคมฯกำลังผลักดันให้โรงเรียนปลอดภัย ขอให้รัฐบาลญี่ปุ่น ช่วยจัดคอนเสิร์ตความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบ 130สัมพันธภาพระหว่างประเทศ ญี่ปุ่น ซึ่งจะให้ความสำคัญกับโครงการนี้ โดยได้เตรียมจัดคอนเสิร์ตบรรดาศิลปินใหญ่ของญี่ปุ่น ระดับศิลปินแห่งชาติที่เมืองไทย เพื่อระดมทุนมาดำเนินการ ซึ่งตรงนี้เราทำทั้ง 9พันโรงเรียนไม่ได้ แต่เราต้องการสร้างจิตสำนึกให้กับสังคม และสะท้อนให้รัฐบาลเห็นว่า มีวิธีทำง่ายๆ และราคาถูก ต่อโรงเรียนราคา 3 ล้านเพื่อป้องกันเหตุ นอกจากนี้เรายังได้ไปพูดคุยกับไจก้า ซึ่ง เขาพร้อมที่จะช่วยเหลือทางด้านเทคนิคถ้ารัฐบาลไทยขอมา