ยังคงเดินหน้า เพิ่มขีดความสามารถเกษตรกร ก้าวสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบ PGS พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ล่าสุด บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช ตอกย้ำแนวคิด “คนไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” ร่วมส่งต่อวิถีการทำเกษตรแบบยั่งยืนผ่าน “โครงการข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช” ในพื้นที่วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม เน้นความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรปลอดภัย สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้กินดี อยู่ดี มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มขีดความสามารถให้ชาวนาพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาเป็น นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ชมตลาด (อยาก)นัดโพนเชียงคาม * เน้นการทำเกษตรเชิงรุก ยกระดับจากมาตรฐาน GAP สู่เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS วิถีชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ปี 2562-2563 อินทัช ได้เข้ามาดำเนินโครงการข้าวเพื่อสุขภาพ ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลนาซ่าว โดยยกระดับการทำเกษตรจากการปฏิบัติที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practices – GAP) ไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System - PGS) ที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM เป็นระบบการรับรองคุณภาพโดยชุมชน การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน เครือข่ายผู้บริโภคและหน่วยงานในพื้นที่ ภายใต้หลักการพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเครือข่ายทางสังคม เป็นเครื่องมือในการพัฒนามาตรฐานการผลิต และสร้างพื้นที่การปลูกข้าวอินทรีย์ที่มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานรับรองของรัฐและเอกชน ได้มีโอกาสขยายช่องทางการตลาดได้มากขึ้น เกิดการขยายผลทำเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคม เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศได้รับการฟื้นฟู ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีสุขภาพดี สังคมเกิดความเข้มแข็ง ชมผลิตภัณฑ์จากแปลงเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรเข้าเป็นครอบครัวต้นแบบในการทำ PGS จำนวน 18 ครอบครัว พื้นที่ 60 ไร่ มีแนวโน้มผ่านการรับรองในระยะปรับเปลี่ยนจำนวน 51 ไร่ ผลผลิตประกอบด้วย ข้าว พืชหลังนา และอื่นๆ เช่น ถั่วลิสง มันเทศ มะขาม ไผ่หวาน ฯลฯ ส่วนสมาชิกชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาจนสามารถเป็นผู้ตรวจแปลงที่มีความรู้และได้รับการยอมรับจำนวน 8 คน สามารถทำหน้าที่ตรวจแปลงให้แก่สมาชิกร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยที่เป็นพี่เลี้ยง และผู้ให้มาตรฐานรับรองผลผลิต นอกจากนี้ ยังบูรณาการความร่วมมือการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลต่อ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ดูแลกระบวนการเพาะปลูกให้มีความปลอดภัย, สำนักงานพัฒนาที่ดิน อำเภอเชียงคาน ดูแลการปรับปรุงดินและการผลิตสารชีวภัณฑ์อินทรีย์ที่ใช้ในการทำเกษตร, มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย แนะนำความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเลย ช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นต้น ข้าวเหนียวอินทรีย์ ชาและข้าวพองทอดกรอบ * นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและมูลค่าสินค้าในแบรนด์ “โพนเชียงคาม” ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย นำความรู้ และงานวิจัยผนวกกับความสามารถในการผลิตของชุมชน มาพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเหนียวเป็นข้าวพองทอดกรอบ TAN TAN รสลาบ และรสน้ำอ้อยแมคคาเดเมีย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวภายใต้แบรนด์ “โพนเชียงคาม” จากต้นทุนข้าวกิโลกรัมละ 40 บาท สามารถทำ TAN TAN ได้ 13 กระปุกๆ ละ 60 บาท เพิ่มรายได้เป็น 780 บาท, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าในท้องถิ่นให้ได้คุณภาพ เช่น ชาเพื่อสุขภาพจากข้าวและพืชสมุนไพรที่ไม่ใช้สารเคมี การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยทดลองใช้แพลตฟอร์มมาช่วยในการทำงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยทำการตลาดออนไลน์ผ่านเพจ “โพนเชียงคาม” เพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ ขยายแนวคิดเรื่องการทำเกษตรปลอดภัย รวมถึงการขายผลิตผลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ, การใช้แอปพลิเคชัน Farm Manager ในการเช็คสภาพอากาศเป็นรายแปลง เพื่อช่วยวางแผนการทำนาอย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมทำธุง * ยกระดับวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรปลอดภัยแห่งใหม่ของตำบลนาซ่าว พัฒนาวิสาหกิจชุมชนฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS และตลาด (อยาก) นัดโพนเชียงคาม สำหรับซื้อหาสินค้าปลอดภัย และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ใช้ฐานทุนทรัพยากรและวิถีวัฒนธรรมมาบูรณาการกับกิจกรรมต่างๆ ในตลาด เช่น เพ้นท์หน้ากากผีขนน้ำ ทำธุงใยแมงมุม ลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน อาทิ ส้มตำด้องแด้ง และข้าวปุ้นฮ้อน ตลาดเริ่มเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 วันเสาร์ และอาทิตย์ (ติดตามรายละเอียดที่ FB: โพนเชียงคาม) เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่มายังตำบลนาซ่าว รวมถึงเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวหลักอื่นๆ ในอำเภอเชียงคานเพื่อบูรณาการการท่องเที่ยวให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งชุมชนนาซ่าว และเชียงคานเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กระจายรายได้สู่ชุมชน นักท่องเที่ยวได้มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ รองรับการพักผ่อน และการเรียนรู้เชิงเกษตร และวัฒนธรรม โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาเรียนรู้กว่า 2,000 คน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ และชุมชนรวมกว่า 800,000 บาท ทำเนียบ อารยะศิลปธร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าว นายทำเนียบ อารยะศิลปธร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าว กล่าวว่า “กลุ่มมีเป้าหมายหลักในการทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากเกษตรกรพื้นที่นี้ เมื่อก่อนใช้สารเคมีมาก ผมก็เลยรวมกลุ่มและปรึกษากับคณะกรรมการ ต่อไปนี้บ้านเราจะต้องไม่ใช้สารเคมี ซึ่งทางอินทัชได้เข้ามาสนับสนุน และมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยให้ความรู้เรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์แบบ PGS ทำให้สมาชิกและคณะกรรมการได้ทำงานร่วมกันทุกกระบวนการ ตั้งแต่เรื่องการทำเอกสาร การออกตรวจแปลง ตลอดจนการกำกับของคณะกรรมการ เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ยากไม่ง่าย อยู่ที่ความตั้งใจ ผมมั่นใจว่าวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าวจะเป็นต้นแบบของการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง รวมทั้งช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยได้ในระยะยาว” เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินทัช นายเท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่น เน้นการมีส่วนร่วม มีการรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา 2 ปี อินทัช ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ จนเกิดเป็นความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนตำบลนาซ่าวในวันนี้ ผมหวังว่าวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนนี้จะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้เห็นแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์ ผู้บริโภคมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าแบรนด์โพนเชียงคาม เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายอื่นสนใจหันมาทำเกษตรอินทรีย์ และมีคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสานการทำงาน เกิดความมั่นคงทางอาหาร และการพึ่งพาตนเองในชุมชน นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน” ชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการ จังหวัดเลย นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า “การที่อินทัชเข้ามาสนับสนุนการยกระดับชาวนาให้ปลูกข้าวแบบอินทรีย์ PGS นั้นเป็นสิ่งที่ดี และน่าชื่นชม เพราะการทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา ความอดทน และความซื่อสัตย์ของผู้ทำจึงจะสำเร็จ โดยที่นาซ่าวก็ได้ทำให้เห็นแล้วว่าเมื่อมีความตั้งใจจริงในการทำเพียง 2 ปี ก็เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมอันนี้ต้องขอชื่นชม และให้กำลังใจกัน อีกส่วนหนึ่งเมื่อมีผลผลิตอินทรีย์แล้ว การจัดการตลาดก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อทำให้เกษตรกรที่ตั้งใจทำสินค้าปลอดภัยสามารถขายได้ราคา ผมเองในฐานะตัวแทนหน่วยงานเจ้าบ้านที่เฝ้ามองการเติบโตของโครงการ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนับสนุนการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย พร้อมเป็นแบบอย่างของความยั่งยืนและการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนต่อไป” ตลอด 8 ปีของการดำเนินโครงการข้าวเพื่อสุขภาพ อินทัชยังคงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีให้กับชาวนาไทย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการปลูกข้าวที่ไม่ใช้สารเคมี และดึงศักยภาพการดำเนินชีวิต วิถีวัฒนธรรมและความร่วมมือของชุมชนมาเป็นกลไกการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม