สทนช. ลงพื้นที่ติดตามแผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จ.เชียงใหม่ เล็งต่อยอดแก้มลิงขยายผลพื้นที่แล้งซ้ำซาก พร้อมดึงรูปแบบการผันน้ำแม่กวง-แม่งัด จ.เชียงใหม่ ต่อยอดการผันน้ำเขื่อนศรีฯ แก้แล้งซ้ำซากในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี  เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าแผนการพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจุดแรกได้เดินทางไปยังโครงแก้มลิงบริเวณพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ต.แม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยมีนายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 บรรยายสรุปผลการดำเนินโครงการ จากนั้นในช่วงบ่ายเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานหลังตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางเพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้วย  ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี ‪2561-2563‬) พบว่า มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 1,035 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 108,542 ไร่ ครอบคลุม 182,966 ครัวเรือน ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 0.35 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่วนในปี 2564 มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 1,645 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มความจุกักเก็บ 0.84 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 37,370 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 5,949 ครัวเรือน รวมถึงโครงแก้มลิงบริเวณพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จำนวน 6 แห่ง ที่ได้รับงบประมาณดำเนินการในปี 61-62‬ ปริมาณความจุรวม 3.72 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการโดยกรมชลประทาน และกองทัพบก ปัจจุบันดำเนินแล้วเสร็จทั้งหมด สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งให้กับประชาชน โดยเฉพาะการตัดยอดน้ำในลำน้ำแม่แตงก่อนไหลเข้าท่วมพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ รวมถึงช่วยปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่เดือนละ 6 แสน ลบ.ม.   “โครงแก้มลิงบริเวณพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง นับเป็นโครงการที่จะเป็นรูปแบบในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบอื่น เช่น ภาคตะวันตก จ.กาญจบุรี ที่ประสบภัยแล้งอย่างมากใน 5 อำเภอ ซึ่งได้มีการวางโครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ โดยโครงการมี 2 ระยะ ระยะแรกเป็นการสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่ช่วยพื้นที่ได้ 78,500 ไร่ ซึ่งเน้นย้ำให้กรมชลประทานเร่งสำรวจออกแบบให้แล้วเสร็จเพื่อตั้งของบประมาณดำเนินการในปี’65 ส่วนระยะที่ 2 เป็นอุโมงค์ผันน้ำเหมือนโครงการผันน้ำแม่งัด-แม่กวง จ.เชียงใหม่ พื้นที่ได้รับประโยชน์ 415,000 ไร่ ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมก่อน และจะดำเนินการพัฒนาในระยะต่อไป โดยโครงการศึกษานี้จะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้” ดร.สมเกียรติ กล่าว  ขณะที่โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหนึ่งในโครงการที่รับการจัดสรรงบกลางตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่รัฐบาลมีแนวทางในการขยายผลให้ครอบคลุมตำบลละอย่างน้อย 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 1,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อกักเก็บน้ำที่เหลือจากระบบน้ำผิวดิน ชะลอการท่วมขัง ซึ่งหากทำเป็นระบบที่ครอบคลุมเป็นพื้นที่กว้างและมีปริมาณการเติมน้ำที่มากพอก็จะสามารถเพิ่มเติมน้ำให้กับชั้นน้ำบาดาลที่อยู่ลึกลงไปได้ โดยภาคเหนือ 220 แห่ง อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ 30 แห่ง ครอบคลุม 14 อำเภอ 30 ตำบล