“วิษณุ” เผย “นายกฯ” เซ็นรับรองร่างพ.ร.บ.ประชามติแล้ว ห่วงจัดคำถามพ่วง ร่วมเลือกตั้ง อบจ. ยังไม่มีวี่แวว ชี้ จัดแยกไม่คุ้ม เปลืองงบ 3 พันล้าน เมื่อเวลา 15.10 น. วันที่ 4 พ.ย. ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เซ็นรับรองร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ และส่งไปยังรัฐสภาแล้ว ซึ่งมีเนื้อหาตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างมา และเมื่อกฎหมายนี้ออกมาเมื่อไหร่ก็สามารถไปลงประชามติได้ โดยประเด็นหลัก คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ขณะนี้คำถามจึงมีข้อเดียวคือ ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขผ่านวาระ 3 แล้วนี้หรือไม่ นี่คือคำถามที่กกต. ตั้ง ส่วนจะมีคำถามพ่วงอะไรนั้น ใครจะเป็นคนตั้งก็แล้วแต่ ไม่ใช่เรื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นมติครม. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 116 โดยครม.เป็นคนขอให้มีการลงประชามติ ยกเว้นประชามติว่าเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันนี้เป็นภาคบังคับ ครม. ไม่เกี่ยว เมื่อถามว่า คำถามพ่วงในการทำประชามติ จะเป็นข้อเสนอจากคณะกรรมการชุดนี้ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าไม่ใช่ข้อเสนอจากคณะกรรมการชุดนี้ มันจะกลายเป็นว่ารัฐบาลเป็นคนตั้งคำถามพ่วง ซึ่งจะดูไม่ดี แต่ถ้าเป็นคณะกรรมการชุดนี้ ก็จะเป็นการสิ้นข้อสงสัย เพราะอำนาจในการตั้งคำถามประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 เป็นอำนาจของครม. แต่ห้ามอยู่ 2 อย่าง คือการตั้งคำถามที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และการตั้งคำถามที่เกี่ยวกับตัวบุคคล เมื่อถามว่า โอกาสที่จะตั้งคำถามพ่วง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายก อบจ. เป็นไปได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เราเคยพูดกันมาก่อนหน้านี้ แต่ถึงวันนี้ตนยังห่วง เพราะเหลือเวลาอีก 50 วันก็ถึงวันเลือกตั้ง อบจ. แต่ยังไม่เห็นวี่แววลู่ทาง ถ้าเร่งก็อาจจะได้ แต่ถ้าช้าก็อาจจะไม่ทัน เพราะเริ่มต้นต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในการตั้งคำถามก่อน เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับการลงประชามติเมื่อครั้งที่ผ่านมา ที่มีการพูดกันว่า ประชาชนยังไม่มีการอ่านรัฐธรรมนูญกันเลย ยังไม่เข้าใจอะไร แล้วไปให้เขาออกเสียงกันได้อย่างไร ซึ่งถ้าหากจัดพร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ. มันก็จะคุ้ม แต่ถ้าไปจัดแยกอีก มันก็จะเสียงบประมาณอีก 3 พันล้านบาท ซึ่งไม่คุ้ม ยืนยันว่าถ้าเร่งกันก็อาจจะได้ แต่ตนไม่กล้าบอกว่าจะทันหรือไม่ทัน ซึ่งถ้าวันนี้มีคำถามแล้วก็อาจจะทัน แต่คณะกรรมการยังไม่มีเลย ส่วนที่มีคนเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เฉพาะกิจ 1 ฉบับ ใช้เฉพาะคราวนี้ ก็ยังเป็นไปได้ แต่ใครจะเป็นคนร่าง ตนก็ร่างได้แต่เดี๋ยวจะเป็นที่ไม่ยอมรับ เพราะถ้าหากออกเป็น พ.ร.ก. กำหนดแล้ว ใครจะไม่มีโอกาสแก้สักคำ เพราะฉะนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์นั่นแหละที่ควรจะทำ เสนอมาแล้วรัฐบาลก็รับ แล้วจะไปออกให้ ส่วนข้อจำกัดที่การออก พ.ร.ก. ต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนนั้น ก็พอหาทางที่จะปรับให้เข้ากับเหตุได้ เพราะเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศเขาเรียกร้อง ก็พอจะไปได้