นับแต่อดีตจนปัจจุบัน กาลเวลาได้พาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน แต่อาจจะมีบางสิ่งที่ทำให้เราได้ศึกษาถึงร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปกรรม ผ่านลวดลายปูนปั้นภายในอาคารอนุรักษ์อาคารต่างๆ ทว่าคนมักจะมุ่งเน้นถึง “มูลค่า” มากกว่า “คุณค่า” ของสถาปัตยกรรม ที่จารึกภายใต้สีน้ำมันที่ทาทับ ทำให้อดีตที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นอดีตที่ไม่มีใครรู้หรือจดจำ อาคารสีชาดทอดตัวตามแนวโค้งต่อเนื่องระหว่างถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุ ด้วยโครงสร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีกันสาดยาวต่อเนื่องแนวอาคาร หลังคามุงกระเบื้องว่าวทรงจั่ว ชั้นบนมีหน้าต่างบานไม้แบบลูกฟักกระดานดุน ใต้ซุ้มหน้าต่างมีธรณีปูนปั้นรองรับ ส่วนชั้นล่างมีประตูไม้บานเฟี้ยมแบบลูกฟักกระดานดุน เหนือบานประตูมีช่องลมติดไม้ซีกเป็นระยะ ที่ยังคงเอกลักษณ์และคุณค่าของอาคารอนุรักษ์ ผ่านสายตาของนักท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสาย สร้างแลนด์มาร์คบนถนนสายวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีการบูรณะแล้วก็ตาม "มุ่งเน้นการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อย่างเหมาะสม เป็นธรรม และคำนึงถึงการสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่ามูลค่า" จากภารกิจหลักของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ถ่ายทอดผ่านหนังสือรายงานประจำปีของสำนักงานทรัพย์สินฯ ปี 2559 ในบทที่ 1 ภารกิจที่มุ่งมั่นทำด้วยใจ อย่างสมดุล หนึ่งในภารกิจหลักของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ การปรับปรุงบูรณะอาคารต่างๆ ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ โดยหนึ่งในนั้นมีอาคารริมถนนพระอาทิตย์จำนวน 34 คูหา บนถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุ ถูกตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการสร้างอาคารตึกแถวสองชั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการขยายอาณาเขต พัฒนาความเจริญของพระนคร อาคารในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองในด้านการท่องเที่ยวและบริการ แต่ด้วยอายุการใช้งานทำให้กลุ่มอาคารมีความทรุดโทรม สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซม เพื่อให้พื้นที่บริเวณถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุ ยังคงอยู่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองจากอดีตสู่ปัจจุบัน จากภารกิจหลักข้างต้น สู่การต่อยอดผ่านกิจกรรม "วาดตึกเก่า เล่าเรื่องกรุง" เพื่อส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนไทย ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาของชาติ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านเนื้อหาในรายงานประจำปีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้แก่นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะศิลปกรรม วิทยาลัยเพาะช่าง อีกทั้งได้รับเกียรติจากศิลปินที่มีชื่อเสียงมามอบความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลายท่าน อาทิ รศ.ธีรศักดิ์ วงศ์คำแน่น (ผู้วาดสารานุกรมภาพลายเส้น สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์) นายการุญ เจียมวิริยะเสถียร (ศิลปินผู้เล่าเรื่องผ่านภาพวาดในมุมกว้าง เจ้าของเพจ Zillustration) และนายทรงพล สังข์สวน (นักวาด Storyboard ให้กับภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Workshop วาดภาพ ณ สวนสันติชัยปราการ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับตลอดทั้งวัน จากการเยี่ยมชมอาคารอนุรักษ์ในมุมมองต่างๆ ผ่านภาพวาด เช่น พิพิธบางลำพู อาคาร 34 คูหา ป้อมพระสุเมรุ บ้านเลขที่ 19 วังมะลิวัลย์ หรือวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น เป็นต้น ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม และตระหนักถึงความเป็นไทย อีกทั้งยังสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ไปถ่ายทอดให้เกิดการแพร่หลาย สู่การกระตุ้นสังคมภาพรวมให้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง เกรซ - อิษฏ์อาณิก อัศวานันท์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า จากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และได้รู้จักเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัย จากการเยี่ยมชมอาคารอนุรักษ์ ทำให้ทราบว่าแต่ละสถานที่มีประวัติและความเป็นมาอย่างไร รวมถึงทำให้พวกเราซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงคุณค่าผ่านภาพวาดของพวกเรา ด้าน เปา -ทรงพล ยิ่งผล นักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บอกว่า รู้สึกดีใจที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ให้เข้าร่วม เพราะเป็นโอกาสหายากที่จะได้เข้าไปชมสถานที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง และก็เห็นว่ามีเรื่องราวมากมายให้ผมได้เรียนรู้ และหวังว่าจะมีกิจกรรมเช่นนี้อีก เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้แบบเดียวกับผมและเพื่อนๆ แท้จริงแล้ว ไม่ใช่แค่เพียงอาคารอนุรักษ์บนถนนพระอาทิตย์ที่ควรได้รับการดูแล ยังมีสถาปัตยกรรมอีกหลายแห่งที่รอให้เราไปศึกษา บางแห่งอาจต้องรับการเยียวยา ซึ่งหน้าที่ในการอนุรักษ์ไม่ใช่หน้าที่ของใครเพียงคนเดียว หรือเพียงองค์กรเดียว หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญและช่วยกันดูแลรักษา เพื่อให้ประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ให้ลูกหลานสืบต่อไป