“ประเทศจีนมีฉายาว่าประเทศเครื่องเคลือบดินเผา สุดยอดการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาอยู่ที่เมืองแห่งนี้” เป็นเวลาช้านานมาแล้ว จิ่งเต๋อเจิ้นมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกในการผลิตเครื่องเคลือบดินเผา โดยมีระบบการผลิตที่สมบูรณ์ กรรมวิธีการผลิตที่ล้ำเลิศ และผลงานที่วิจิตรงดงาม จิ่งเต๋อเจิ้น ถือกำเนิดจากเครื่องเคลือบดินเผา ตั้งตัวด้วยเครื่องเคลือบดินเผา เจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วยเครื่องเคลือบดินเผา และได้รับชื่อเมืองจากเครื่องเคลือบดินเผาอีกด้วย โดยพัฒนาจากตำบลเล็ก ๆ ที่เผาผลิตเครื่องเคลือบดินเผา มาเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ทั้งในจีนและโลก เป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่ได้รับการยกย่องและชื่นชมจากทั่วโลก ไม่เพียงแต่มีส่วนเกื้อกูลต่อวัฒนธรรมของจีนเท่านั้น หากยังได้สร้างคุณูปการต่ออารยธรรมมนุษยชาติอีกด้วย พัฒนาการเครื่องเคลือบดินเผาของจีน เครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่ค้นพบในปัจจุบันคือ เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในถ้ำเซียนเหริน อำเภอว่านเหนียน มณฑลเจียงซีของจีน ซึ่งห่างจากปัจจุบันกว่า 20,000 ปี สมัยราชวงศ์ซังเมื่อ 3,000 ปีก่อน เครื่องเคลือบดินเผาที่เผาผลิตในมณฑลเจ้อเจียงและมณฑลเจียงซี ถือเป็นผลงานขั้นต้นของการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของจีน นอกจากนี้ ยังได้ขุดค้นพบเครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวราชวงศ์ซังและราชวงศ์โจว (ประมาณค.ศ.1600 ก่อนคริสต์กาล – ค.ศ. 256 ก่อนคริสต์กาล)จากซากเตาเผาเสี่ยวเซียนถาน อำเภอซ่างหยวี เมืองเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียงอีกด้วย ถึงราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25 – ค.ศ.220) เครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวจากเตาเผาหงโจว มณฑลเจียงซี ได้บรรลุมาตรฐานเครื่องเคลือบดินเผาอย่างแท้จริง ต่อมาในสมัยสามก๊ก ราชวงศ์จิ้น และราชวงศ์เหนือ-ใต้ (ค.ศ.220 – ค.ศ.589) การผลิตเครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวเจริญรุ่งเรืองขึ้นที่ภาคใต้ของจีน โดยมีชิ้นงานจากเตาเผาเยว่ มณฑลเจ้อเจียงมีความก้าวหน้าที่สุด สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง (ค.ศ.581 – ค.ศ.907) เครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวจากเตาเผาเยว่มีความโดดเด่นที่ภาคใต้ของจีน ส่วนเครื่องเคลือบดินเผาสีขาวจากเตาเผาสิงมีความโดดเด่นที่ภาคเหนือของจีน ซึ่งก่อรูปขึ้นเป็นโครงสร้างเครื่องเคลือบดินเผาของจีนที่ว่า “เขียวใต้ขาวเหนือ” ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960 – ค.ศ.1279) เป็นยุคที่เครื่องเคลือบดินเผาของจีนพัฒนาก้าวหน้าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีเตาเผา “ติ้ง หรู่ กวน เกอ จวิน” จำนวน 5 เตาโด่งดังขึ้นพร้อมกัน ศิลปะเครื่องเคลือบดินเผาได้ขจัดขีดจำกัดในอดีตที่เคลือบเป็นสีโทน เริ่มมีการเคลือบสีดำ สีขาวอมสีเขียว และหลายสี ราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271 – ค.ศ.1368) เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของจีน โดยสืบทอดศิลปะดั้งเดิมและมุ่งสู่อนาคต และมีการจัดตั้ง “สำนักงานเครื่องเคลือบดินเผาฝูเหลียง” ขึ้นที่จิ่งเต๋อเจิ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการผลิตและการพัฒนาเครื่องเคลือบดินเผาในจิ่งเต๋อเจิ้นอย่างยิ่ง ในช่วงนั้น เตาเผาเครื่องเคลือบดินเผาในพื้นที่ต่าง ๆ ของจีนเริ่มซบเซาลง มีแต่เตาเผาในจิ่งเต๋อเจิ้นได้สร้างนวัตกรรมและพัฒนาอย่างรอบด้าน และโดดเด่นเป็นพิเศษ ราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1368 – ค.ศ.1911) เป็นยุคที่การผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของจิ่งเต๋อเจิ้นเฟื่องฟูที่สุด โดยมีปริมาณการผลิตมากที่สุดและมีคุณภาพดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ จิ่งเต๋อเจิ้นกลายเป็นศูนย์กลางผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของจีน และได้ครองความเป็นเมืองแห่งเครื่องเคลือบดินเผาอีกด้วย ประวัติผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของจิ่งเต๋อเจิ้น เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นมีประวัติผลิตเครื่องเคลือบดินเผามายาวนาน หนังสือประวัติศาสตร์บันทึกว่า “การผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ตำบลซินผิง (ชื่อเดิมของจิ่งเต๋อเจิ้น) เริ่มขึ้นตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น(ค.ศ.202 ก่อนคริสตกาล - ค.ศ.220)” เครื่องเคลือบดินเผาจากซินผิง ถูกจัดเป็นเครื่องราชบรรณาการในสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ (ค.ศ.220 – ค.ศ.589) เมื่อค.ศ.621 ราชวงศ์ถัง นายเถา ยวี่ จากชางหนัน (ชื่อเดิมอีกชื่อหนึ่งของจิ่งเต๋อเจิ้น) ได้นำเครื่องเคลือบดินเผาที่ตนเองผลิตถวายแด่พระราชวัง ชิ้นงานนี้มีสีเขียวอบสีขาว สดใสและเนียนเรียบเหมือนหยก จึงได้รับการขนานนามว่า “เครื่องหยกเทียม” ข้อมูลทางโบราณคดีระบุว่า เครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวที่เผาผลิตจากจิ่งเต๋อเจิ้นในสมัยอู่ไต้ (ค.ศ.907 – ค.ศ.960) มีปริมาณมากและมีคุณภาพสูง สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960 – ค.ศ.1279) เครื่องเคลือบดินเผาเขียวจากจิ่งเต๋อเจิ้นมีชื่อเสียงด้วยเครื่องเคลือบดินเผาเขียวที่ละเอียดประณีต และงดงาม โดยสีเคลือบมีสีขาวอมสีเขียว ในสีเขียวมีสีขาว สวยใสเงาลื่นเหมือนหยก ผสมผสานกรรมวิธีการสลักลวดลายและการพิมพ์ลายก่อนเคลือบสี ทำให้ลวดลายของชิ้นงานยิ่งโดดเด่นและงดงาม เครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวเมื่อเผยแพร่สู่โลกแล้ว ก็ได้รับความนิยมชมชอบจากราชนิกุล ผู้ดี และปัญญาชนอย่างมาก โดยจักรพรรดิเจินจง ราชวงศ์ซ่ง ทรงพระราชทาน “จิ่งเต๋อ” ชื่อรัชกาลให้เป็นชื่อใหม่ของจิ่งเต๋อเจิ้น เครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว กุบไลข่าน ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หยวน ทรงมีพระราชโองการให้ตั้ง “สำนักงานเครื่องเคลือบดินเผาฝูเหลียง” ขึ้นที่จิ่งเต๋อเจิ้นเมื่อ ค.ศ.1278 เพื่อกำกับดูแลการเผาผลิตเครื่องเคลือบดินเผาสำหรับราชสำนักโดยเฉพาะ ภายใต้การควบคุมของสำนักงานดังกล่าว จิ่งเต๋อเจิ้นประสบความสำเร็จในการใช้หินพอร์สเลน (Porcelain Stone) และดินขาวเป็นวัตถุดิบ เผาผลิตเครื่องเคลือบดินเผาชิ้นใหญ่ที่สง่างาม นอกจากนั้น ยังมีการเล่นสีที่หลากหลายขึ้น โดยมี สีขาวไข่ สีลายคราม สีแดงผสมในเคลือบ พื้นสีน้ำเงินประกอบด้วยลายสีขาว สีน้ำเงินขนนกยูง และเทคนิคการสลักลายแบบนูนบนรูปทรง เป็นต้น ต้นราชวงศ์หมิง ราชสำนักสร้างโรงงานเครื่องเคลือบดินเผาหลวงขึ้นที่จิ่งเต๋อเจิ้น โดยจัดส่งขุนนางไปควบคุมการผลิต และทุ่มเงินทุนและแรงงานจำนวนมากอย่างไม่ลังเลเพื่อผลิตเครื่องบูชาและเครื่องใช้ประจำวันให้แก่ราชสำนักและเจ้าขุนมูลนาย ทั้งนี้ เครื่องเคลือบดินเผาถือเครื่องลายครามเป็นหลัก รัชกาลหย่งเล่อและรัชกาลซวนเต๋อ รางวงศ์หมิงเป็นยุคทองของการผลิตเครื่องลายคราม เทคนิคการเผาผลิตเครื่องลายครามได้บรรถึงระดับสุดยอด หลังจากนั้น เครื่องเคลือบดินเผาหลากสีได้รับความนิยม ที่โดดเด่นที่สุดคือเครื่องเคลือบดินเผาชนิด “โต่ไฉ่” แห่งรัชกาลเฉิงฮั่ว ที่เขียนลายครามใต้เคลือบก่อน แล้วนำไปเผา เสร็จแล้ว วาดลายหลากสีบนเคลือบอีก ชิ้นงานที่เป็นตัวแทนคือ ถ้วยเหล้าลายไก่ศิลปะ “โต่ไฉ่” รัชกาลเฉิงฮั่ว ดูสวยงามประณีต และมีคุณค่า หลังรัชกาลเจียจิ้ง เริ่มมีการให้เตาเผาเอกชนผลิตเครื่องเคลือบดินเผา “ชินเซี่ยน” ที่ใช้ในราชสำนักโดยเฉพาะ ระบบ “ราชสำนักออกเงินทุนและให้เอกชนรับผิดชอบการผลิต” ได้กระตุ้นการพัฒนาของเตาเผาเอกชน เตาเผาทั้งรัฐและเอกชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันและเปิดรับวัฒนธรรมของกันและกันอย่างกว้างขวาง การสร้างนวัตกรรมอย่างกล้าหาญเป็นกระแสนิยม ถือเป็น “ความมหัศจรรย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน” ถึงราชวงศ์ชิง ราชสำนักได้สร้างโรงงานเตาเผาหลวงขึ้น และจัดส่งขุนนางไปควบคุมการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาให้ราชสำนักโดยเฉพาะ ขุนนางควบคุมการผลิตที่มีชื่อเสียงที่สุดชื่อว่า ถัง อิง เขาส่งเสริมให้ผลิตเครื่องเคลือบดินเผาอย่างมีความหลากหลาย ละเอียดประณีต และงดงาม ด้วยเหตุนี้ เตาเผาหลวงจึงถูกเรียกว่า “เตาเผาตระกูลถัง” นอกจากนี้ จักรพรรดิยังทรงพระราชโองการให้ขุนนางถัง อิง เรียบเรียงหนังสือเรื่อง “เล่าเรื่องการเผาผลิตเครื่องเคลือบดินเผาด้วยภาพ” โดยบรรยายสรุป 20 ขั้นตอนในการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาอย่างละเอียด ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของจีน  โรงงานเตาเผาหลวง ขุนนางถัง อิง ซากเหมืองหินขาวเกาหลิ่ง โบราณสถานอนุรักษ์ระดับชาติ ศิลปะเครื่องเคลือบดินเผาดั้งเดิม การผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของจิ่งเต๋อเจิ้น มีการแบ่งงานทางวิชาการอย่างเข้มงวด โดยมีขั้นตอนการผลิตจำนวน 72 ขั้นตอน ซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วนเป็นสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง วัตถุดิบ ซึ่งรวมถึงหินพอร์ซเลน (porcelain stone) ดินขาว น้ำยาเคลือบ และภาชนะที่บรรจุรูปทรงในเตาเผา เป็นต้น แขนงงานที่เกี่ยวข้องมี ร้านขายดินขาว ร้านขายขี้เถ้า โรงงานผลิตภาชนะบรรจุรูปทรงในเตาเผา และโรงงานอิฐที่ใช้ในการทำเตาเผา เป็นต้น สอง ปั้นขึ้นรูป ขั้นตอนที่สำคัญรวมถึง นวดดิน สร้างรูปทรง ทำแม่พิมพ์ ขัดเรียบรูปทรง วาดลายบนรูปทรง เคลือบสี และสร้างฐานของรูปทรง เป็นต้น สาม เผาผลิต ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การสร้างและบูรณะซ่อมแซมเตาเผากับการขนส่งและจัดวางรูปทรงในเตาเผา ขั้นตอนการเผาผลิต 3 ขั้นตอนได้แก่ ขนส่งรูปทรงและจัดวางในเตาเผา การเผา และการเปิดเตาเผา และสี่ วาดภาพและทาสี (ในอดีตเรียกว่า “หงเตี้ยน”) นอกจากนี้ ยังมีสาขาอาชีพบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องเคลือบดินเผา เช่น ร้านขายฟืน ร้านขายถ่าน ร้านขายมีดสลักรูปทรง ร้านขายจานหมุน ร้านซ่อมแม่พิมพ์ ร้านขายสี ร้านขายพู่กัน ห้างเครื่องเคลือบดินเผา ร้านเครื่องเคลือบดินเผา ร้านขายหญ้าแห้ง บริษัทขายเรือ และคาราวานเรือ เป็นต้น  ปั้นรูปทรง ขัดเรียบรูปทรง วาดลายคราม วาดภาพและลงสี ครองตำแหน่งเมืองเครื่องเคลือบดินเผาของโลก จิ่งเต๋อเจิ้น มีทรัพยากรธรรมชาติที่ได้เปรียบในการผลิตเครื่องเคลือบดินเผา โดยมีเหมืองหินพอร์ซเลนและเหมืองดินขาวซึ่งเป็นวัตถุดิบของการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาอย่างอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ จิ่งเต๋อเจิ้นยังมีแม่น้ำลกคลองหลายสาย โดยแม่น้ำชางเจียง เป็นทางน้ำสำคัญในการลำเลียงขนส่งเครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นออกไปจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ราชวงศ์ถังจนถึงปัจจุบัน จิ่งเต๋อเจิ้นผลิตเครื่องเคลือบดินเผามาโดยตลอด เป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่มีประวัติยาวนานที่สุด มีขนาดการผลิตใหญ่ที่สุด มีระบบอุตสาหกรรมการผลิตสมบูรณ์ที่สุด และมีผลิตภัณฑ์สวยงามที่สุดในจีน และเป็นที่หายากในโลกอีกด้วย ราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีนล้วนให้ความสำคัญกับการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาในจิ่งเต๋อเจิ้น เมื่อค.ศ.1004 จักรพรรดิเจินจง แห่งราชวงศ์ซ่ง ทรงจัดส่งขุนนางไปกำกับดูแลการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่จิ่งเต๋อเจิ้น เพื่อนำไปถวายราชสำนัก และทรงพระราชทานชื่อรัชกาลของพระองค์ที่ว่า “จิ่งเต๋อ” ให้เป็นชื่อของแหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาแห่งนี้ ราชวงศ์หยวนได้จัดตั้ง “สำนักงานเครื่องเคลือบดินเผาฝูเหลียง” ขึ้นที่จิ่งเต๋อเจิ้น ราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีการตั้งโรงงานเตาเผาหลวงขึ้นที่จิ่งเต๋อเจิ้น ซึ่งได้ผลักดันการผลิตและการพัฒนาเครื่องเคลือบดินเผาเป็นอย่างมาก จิ่งเต๋อเจิ้นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญแห่งหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเลแต่โบราณกาล ซึ่งไม่เพียงแต่ได้จำหน่ายเครื่องเคลือบดินเผาที่สวยงามไปยังโพ้นทะเลเท่านั้น หากยังได้เผยแพร่ศิลปะหัตถกรรมเครื่องเคลือบดินเผาอันยอดเยี่ยม ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วย จนพัฒนาเป็นเมืองเครื่องเคลือบดินเผาที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นที่เก็บสะสมในพิพิธภัณฑ์ เครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้น ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960 – ค.ศ.1279) ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ชื่อดังในโลกต่างมีการเก็บสะสมเครื่องเคลือบดินเผาสีขาวอมสีเขียวแห่งรางชวงค์ซ่งจากจิ่งเต่อเจิ้น ราชสำนักราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271 – ค.ศ.1368) ให้ความสำคัญกับการค้าต่างประเทศ การส่งออกเครื่องเคลือบดินเผามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและมีคุณภาพสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราชวงศ์ซ่ง เพื่อสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในประเทศอิสลาม จิ่งเต๋อเจิ้นได้ผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่เป็นภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มเป็นชิ้นใหญ่ ซึ่งรวมถึงไห ขวด และจานเป็นต้น พระราชวังทอปกาปิ (Topkapi) ประเทศตุรกี และ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิหร่าน ต่างได้เก็บสะสมภาชนะเครื่องลายครามชิ้นใหญ่แห่งราชวงศ์หยวนที่ล้ำค่าเป็นจำนวนค่อนข้างมาก นอกจากนั้น กองทุน Percival David Foundation of Chinese Art ประเทศอังกฤษได้เก็บสะสมแจกันเครื่องลายครามแบบมีหูที่เป็นรูปทรงหัวช้างและมีลวดลายมังกรและเมฆที่ผลิตจากจิ่งเต๋อเจิ้นแห่งราชวงศ์หยวน ซึ่งเป็นเครื่องลายครามแบบมาตรฐานของเครื่องลายคราม “รัชกาลจื้อเจิ้ง” ราชวงศ์หยวน หลังศตวรรษที่ 16 ประเทศอังกฤษ โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น พากันจัดตั้ง “บริษัทอินเดียตะวันออก” ขึ้น เพื่อจัดการจำหน่ายเครื่องเคลือบดินเผาจากจิ่งเต๋อเจิ้นไปยังยุโรปและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ต้นศตวรรษที่ 18 ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน เป็นต้นได้เปิดหอการค้าที่เมืองกวางโจวตามลำดับ ซึ่งทำให้ยอดจำหน่ายเครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นในยุโรปเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์อังกฤษ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิตัน (Metropolitan Museum of Art) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พิพิธภัณฑ์นวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว พิพิธภัณฑ์กีเมต์ ฝรั่งเศส และพิพิธภัณฑ์เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ต่างได้เก็บสะสมเครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นที่วิจิตรงดงามแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงเป็นจำนวนมาก ชิ้นงานที่สำคัญ มีเครื่องลายครามและเครื่องเคลือบดินเผาชนิดการวาดภาพบนเคลือบ ลวดลายประดับของเครื่องเคลือบดินเผามีทั้งลวดลายดั้งเดิมของจีน และก็มีภาพวาดแบบยุโรปอีกด้วย ซึ่งรวมถึง ภาพตราประจำตระกูลของตะวันตก ภาพเรือลำ และภาพท่าเรือ เป็นต้น หมอนรูปสาวสวยนอนตะแคง เครื่องเคลือบดินเผาสีขาวอมเขียวจิ่งเต๋อเจิ้น ราชวงศ์ซ่ง (เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์เมโทรโพลิตัน นครนิวยอร์ก  สหรัฐอเมริกา) ภาชนะบรรจุน้ำมันหอมระเหย เครื่องเคลือบดินเผาสีขาวอมเขียวจิ่งเต๋อเจิ้น ราชวงศ์ซ่งใต้ (เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานซิสโก  สหรัฐอเมริกา)  จานใหญ่ขอบรอมบอยด์ (Rhomboid) ลายเมฆ เครื่องลายครามจิ่งเต๋อเจิ้น ราชวงศ์หยวน (เก็บสะสมไว้ในพระราชวังทอปกาปิ ประเทศตุรกี) แจกันแบบมีหูที่เป็นรูปหัวช้างประกอบด้วยลายมังกรและเมฆ เครื่องลายครามจิ่งเต๋อเจิ้น ราชวงศ์หยวน (เก็บสะสมไว้ในกองทุน Percival David Foundation of Chinese Art ประเทศอังกฤษ) ถ้วยเหล้าลายไก่สีซ้อนไต่ไฉ่รัชกาลเฉิงฮั่ว (เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ)  ชามขาสูงลายสัตว์มงคลกลางทะเล เครื่องลายครามประกอบด้วยสีแดงจิ่งเต๋อเจิ้น รัชกาลเจิ้งถ่ง ราชวงศ์หมิง (เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิตันน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) ไหมีฝา ลายปลาและสาหร่าย  เครื่องลายคราม 5 สี รัชกาลเจียจิ้ง ราชวงศ์หมิง (เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะอินเดียนาโปลิส สหรัฐอเมริกา) จานลายลูกท้อ 5 ลูก เครื่องเคลือบดินเผาชนิดฟามิลล์ โรส (Famille Rose) ราชวงศ์ชิง (เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์) ชามฐานสูง ลายดอกและทัศนียภาพภูเขาลำน้ำ เครื่องเคลือบโลหะ  รัชกาลเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง (เก็บสะสมไว้ในหอศิลป์ Freer & Sackler สหรัฐอเมริกา) (มีฐานที่ตั้งชาม)   จานลายภาพตราประจำตระกูล เครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้น รัชกาลเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง (เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ) นวัตกรรมเครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นร่วมสมัย หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้น เครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นได้เพิ่มพลังชีวิตใหม่ ด้านการปั้นขึ้นรูป ได้คิดประดิษฐ์วิธีการปั้นด้วยเครื่องจักร ซึ่งได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นเป้นอย่างมาก ด้านลวดลายประดับ ก็มีการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น นายหวัง ปู้ “ราชาเครื่องเคลือบดินเผา” ได้ริเริ่มเทคนิค “การเคลือบลายครามให้มีตื้นลึกหนาจางอย่างอิสระเสรี” และเทคนิค “แต้มแต่งดอกท้อ” นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคการปะติดลวดลายที่อยู่บนกระดาษให้อยู่บนรูปทรง เทคนิคการผสมสีในเคลือบ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นเทคนิคที่ไม่เคยมีมาก่อน สำหรับชิ้นงานที่เคลือบสีด้วยอุณหภูมิสูงมีการเคลือบหลากสี ซึ่งรวมถึงสีรุ้ง สีขนนกหงส์ สีม่วงกุหลาบ และสีแดงพลอย เป็นต้น สีเคลือบเหล่านี้สะดุดตาดั่งอัญมณี ตลอดจนวิธีการให้เคลือบเปลี่ยนสีระหว่างการเผาด้วยอุณหภูมิสูง ต่างได้ยกระดับศิลปะเครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นให้สูงยิ่งขึ้น การวิเคราะห์ผลงานร่วมสมัย นกอินทรีย์บนแผ่นกระเบื้องลายคราม (ของนายหวัง  ปู้ “ราชาเครื่องลายคราม” ) นกอินทรีย์ในภาพ ยืนอยู่บนหินผากลางทะเลอย่างมั่นคง ดวงจันทร์ตก ดวงตะวันขึ้น มีให้เห็นอย่างไม่ชัดเจน คลื่นทะเลทับซ้อน เหมือนเมฆเหิน ส่วนสีลายครามในภาพมีระดับชั้นเข้มจางสลับเปลี่ยนอย่างชัดเจน จิตรกรสะบัดพู่กันอย่างอิสระเสรี โดยปลายพู่กันเปียกบ้างแห้งบ้าง บางครั้งเส้นขาดเป็นจุด ๆ บางครั้งเส้นหนามั่นคง เรียบง่ายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า จิตรกรสังเกตธรรมชาติอย่างละเอียด และเชี่ยวชาญในการใช้พู่กันและน้ำหมึก จานศิลปะเคลือบสีรุ้ง (ของนางเติ้ง ซีผิง ผู้สืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติของจีน) “จานศิลปะเคลือบสีรุ้ง” เคลือบด้วยอุณหภูมิสูงในกระบวนการเผา โดยมีรัศมีหลากสีและแสงสะท้อนจากโลหะสาดทั่วผิวจานโดยขยายจากจุดใจกลางของจานไปสู่ขอบจาน ศิลปินใช้การเปลี่ยนแปลงของสีเคลือบเสริมเอกลักษณ์ของชิ้นงาน และผสมผสานหลักวิทยาศาสตร์กับหลักศิลปะเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เครื่องเคลือบดินเผารหัส 7501 ลวดลายประดับแบบ “แต้มแต่งดอกท้อ” เครื่องเคลือบดินเผารหัส 7501 ลวดลายประดับแบบ “แต้มแต่งดอกท้อ” เครื่องเคลือบดินเผารหัส “7501” ก็คือ เครื่องเคลือบดินเผาที่ท่านเหมา เจ๋อตงอดีตผู้นำจีนใช้โดยเฉพาะ โดยมีอีกชื่อว่า “เครื่องเคลือบดินเผาจากเตาเผารัฐสีแดง” ซึ่งใช้ดินขาวอันล้ำค่าจากเมืองฝู่โจว มณฑลเจียงซี เป็นวัตถุดิบ ความหนาของรูปทรงเป็นแบบกึ่งบาง ชิ้นงานนี้ใสและลื่นเงาทั้งตัวเหมือนหยก ขาวสะอาดไร้มลทิน ดีดเบา ๆ มีเสียงไพเราะน่าฟัง เครื่องเคลือบดินเผาชนิด“แต้มแต่งดอกท้อ”มักจะเป็นลายดอกท้อหรือลายดอกบ๊วย ขั้นตอนการแต้มแต่งรวมถึงการออกแบบ แต้มสีขาว แต้มสีม่วงแดง วาดกิ่งไม้ วาดใบไม้ แต้มซ้ำ แต้มเกสร ลงสี จัดทำเครื่องหมายบนพื้นฐาน ตรวจสอบ และอบลวดลาย เป็นต้น หลังแต้มแต่งเสร็จแล้ว ชิ้นงานจะสวยงาม มีชีวิตชีวา อ่อนหวาน เป็นธรรมชาติ และมีคุณค่าทางศิลปะอย่างสูง เรือมังกรประติมากรรมเครื่องเคลือบดินเผาสมัยใหม่ (ของนายเจิง หลงเซิง ประติมากรเครื่องเคลือบดินเผาผู้มีชื่อเสียงร่วมสมัย) เรือลำนี้ปั้นและสลักด้วยหลายวิธี ได้แก่ ปั้น หยิก เจาะลึก ฝัง ขึ้นรูป แกะสลักแบบลอยตัว และแกะสลักแบบเล็กจิ๋ว เป็นต้น โดยได้แก้ไขปัญหาที่อัตราส่วนการหดตัวของรูปปั้น การแตกหัก และการแตกร้าวระหว่างการเผาด้วยอุณหภูมิสูง ซึ่งเป็นความยากลำบากทางเทคนิคในกระบวนการปั้นขึ้นรูปและการเผา เพื่อประสบความสำเร็จในการเผาครั้งเดียว สมัยโบราณ การจำหน่ายเครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นที่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่อาศัยการขนส่งทางเรือ การเปิดเส้นทางเดินเรือรอบโลกที่ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก – มหาสมุทรอินเดีย – มหาสมุทรแอตแลนติก ได้อำนวยความสะดวกแก่การค้าโลก ด้วยการเดินเรือพันลี้ สะท้อนให้เห็นว่า เครื่องเคลือบดินเผาจิ่งเต๋อเจิ้นในฐานะสินค้าโลกาภิวัตน์ชิ้นแรกในประวัติศาสตร์การค้าของมนุษยชาติ ได้เผยแพร่วัฒนธรรมจีนไปยังพื้นที่ ๆ ทั่วโลก (ผู้เขียนเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาแห่งประเทศจีนจิ่งเต๋อเจิ้น) เขียนโดย นายเฉิน ซิน แปลโดย นายจูน ฟาน หอหลงจู – สัญลักษณ์เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น