“นายช่างศิลปกรรมอาวุโส” สำนักช่างสิบหมู่เผยออกแบบ“ยอดพรหมพักตร์” ประดับยอดบนสุดพระจิตกาธาน ภายในบุษบกองค์ประธานพระเมรุมาศ ยึดแบบศิลปะบรมครูช่างกรมศิลป์ ยุคร.6 – 7 ผสมผสานเป็นศิลปะร่วมสมัยยุคร.9 นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการออกแบบลวดลายศิลปกรรมที่ใช้ประดับบริเวณส่วนยอดบนสุดของพระจิตกาธาน หรือเชิงตะกอน จัดสร้างสำหรับใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประดิษฐานอยู่บนฐานชาลาชั้นบนสุดภายในบุษบกองค์ประธานพระเมรุมาศ ถือเป็นส่วนยอดที่ใช้สำหรับปักเหนือชั้นบนสุดที่เป็นระบายชั้นที่ 9 ของพระจิตกาธานซึ่งประดับด้วยดอกไม้และเครื่องสด สำหรับการออกแบบครั้งนี้ ดำเนินการตามแบบโบราณราชประเพณี และผสมผสานกับศิลปกรรมสมัยใหม่เป็นศิลปะร่วมสมัยที่สื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ในยุคสมัยของรัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นยอดพรหมพักตร์ โดยศึกษาจากต้นแบบลวดลายของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลป์ไชย) ข้าราชการกรมศิลปากรในสมัยรัชกาลที่ 6 – 7 ที่มีความเชี่ยวชาญงานเขียนลายไทย โดยยอดพรหมพักตร์ที่ออกแบบนั้นจะแกะสลักด้วยไม้จันทน์ ประกอบด้วยส่วนตัวฐานที่เป็นชั้นบัวปากปลิง เหนือขึ้นมาเป็นลูกแก้วทรงอกไก่ จากนั้นเป็นจงกลหรือกลีบบัว เหนือจงกลเป็นหน้าพรหมพักตร์ ซึ่งจะเขียนให้มีหน้าตาเหมือนกันทั้ง 4 ด้าน มีเครื่องประดับของพระกรรณเป็นกำเจียกจอนห้อยเฟื่องอุบะลงมา ถัดจากหน้าพรหมพักตร์ขึ้นไปเป็นมงกุฎยอดทรงน้ำเต้า มีทั้งหมด 5 ยอด และปลายสุดเป็นปลียอด ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างต้นแบบ “พระเทวาภินิมมิต ถือเป็นบรมครูด้านงานเขียนลายไทยของกรมศิลปากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างมาก ที่สำคัญท่านยังได้ถวายความรู้การเขียนลายไทยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยลักษณะของหน้าพรหมเป็นเทพยดาตามแบบฉบับโบราณสมัยรัชกาลที่ 7 ผสมผสานกับสมัยใหม่ให้เป็นหน้าที่มีความร่วมสมัยไม่ใช้ไทยแบบโบราณมาก ถือเป็นรูปแบบที่นิยมสมัยเริ่มเรียนวิวัฒนาการจากโบราณสู่สมัยใหม่ อย่างเช่น จิตรกรรมที่วัดพระแก้ว ยังรักษาความเป็นไทยประเพณีช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 แต่พอมาสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการเขียนใหม่ มีพระเทวาภินิมมิตเป็นผู้ดูแลและภาพจิตรกรรมนั้นเริ่มมีแสงเงา อีกท่านได้เขียนตำราลายไทยมีทั้งลวดลายและภาพเพื่อให้ช่างรุ่นถัดมาได้ศึกษา กลายเป็นต้นแบบที่ใช้ในกรมศิลป์จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ยอดพรหมพักตร์ที่ออกแบบครั้งนี้จะมีความพิเศษ เป็นศิลปะช่วงเริ่มต้นรัชกาลที่ 9” นายสมชาย นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กล่าว