นายสุจินต์ มีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 ( อพท.8) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้แนวความคิดเปิดประตูสู่ความ Creative กับการท่องเที่ยวมุมมองใหม่ ด้วยการนำ 8 ชุมชน ที่ อพท. ได้เข้าไปพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มาร่วมออกบูธ ณ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โดยมีประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวให้ความสนใจจำนวนมาก สำหรับกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของกิจกรรมการท่องเที่ยว ในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ให้เป็นที่รู้จักสู่สาธารณะมากขึ้น
สำหรับการออกบูธครั้งนี้ อพท. ได้นำ 8 กิจกรรมจาก 8 ชุมชนมาจัดแสดง เริ่มจากจังหวัดเพชรบุรี นำกิจกรรมตอกกระดาษ (ลายหนังใหญ่) ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี กิจกรรมทำขนมตาล ชุมชนถ้ำรงค์ กิจกรรมปูนปั้น ลายประจำยาม กลุ่มศิลปะปูนปั้นอาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ กิจกรรมทำยำหัวโหนด ชุมชนบ้านไร่กร่าง กิจกรรมทำขนมหวานบ้านน้อย (ข้าวตู) ชุมชนบ้านน้อย กิจกรรมพิมพ์ผ้าลายทอง กลุ่มลูกหว้า (วัดใหญ่สุวรรณาราม) และของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ กิจกรรมทำซี่โครงหมูอบสับปะรด ชุมชนอ่าวน้อย กิจกรรมทำกระดาษจากใบสับปะรดและขี้ช้างป่ากุยบุรี ชุมชนบ้านรวมไทย
“ทุกกิจกรรมที่นำมาเสนอในการออกบูธนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้เข้ามาสัมผัสและทดลองทำ ซึ่งทาง อพท. ได้พัฒนาขึ้นมาจากภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชน โดยใช้องค์ความรู้ด้านการจัดการอย่างเป็นระบบ และการอบรมชุมชนในเรื่องของการนำเสนอ จึงสามารถนำมาประกอบเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ ดูของจริงและลงมือทำสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่การเดินทางของนักท่องเที่ยว ซึ่งหากนักท่องเที่ยวสนใจสามารถโทรศัพท์นัดกับชุมชนเพื่อแวะเข้าไปทำกิจกรรมได้” นายสุจินต์ กล่าว
นอกจากนั้นประโยชน์ของการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ยังช่วยให้เกิดการสืบสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน สามารถปรับเข้ากับยุคสมัยได้ และชุมชนสามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา จึงเป็นการสืบสานภูมิปัญญา อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นให้คงอยู่ โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ ช่วยส่งเสริมให้เกิดรายได้ในชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นการท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าไปมีส่วนร่วมในประสบการณ์ทางวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีความจดจำ ประทับใจ และในท้ายที่สุดจะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในกิจกรรมของแต่ละชุมชน ด้วยการเรียนรู้ ดูของจริง และลงมือทำกิจกรรมการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชน