เมื่อวันที่ 2 พ.ย.เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกให้กับประทศนั้นว่า เท่าที่ทราบมี 3 รูปแบบที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอมา คือแบบแรก จะมีตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ แบบที่สอง ตัดผู้ชุมนุมและผู้คัดค้านออกเหลือ 5 ฝ่าย โดยมีประธานรัฐสภาเป็นคนกลาง และแบบที่สาม เป็นเรื่องที่ประธานรัฐสภาต้องไปหาคนกลางและประกอบด้วยคนภายนอกทั้งหมด จึงเริ่มมีความชัดเจนขึ้นตามที่สภาบันพระปกเกล้าเสนอมา จึงต้องมาร่วมกันพิจารณา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะส.ส. รวมถึงส.ว. และรัฐบาลด้วย  จึงคิดว่าจะเห็นรูปร่างที่ชัดเจนนับจากวันนี้ไปไม่น่าจะเกิน1 สัปดาห์ก็น่าจะเรียบร้อย ซึ่งในวันพรุ่งนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร นัดพูดคุยในนวันที่ 3 พ.ย. เมื่อถามว่าท่าทีของฝ่ายค้านดูเหมือนจะไม่ตอบรับกับคณะกรรมการฯชุดนี้ นายวิรัชกล่าวว่า ฝ่ายค้านก็เหมิอนกับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนแรกก็บอกว่าไม่เห็นด้วย แต่พอมาตอนหลังก็บอกว่าให้เแสดงความจริงใจ รีบเอาเข้าพิจารณารัฐบาลก็แสดงความจริงใจทุกอย่างว่าหากรออีก 1 สัปดาห์ก็จะได้ร่างของไอลอว์ด้วย ส่วนฝ่ายค้านไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่คอยจะติว่าทั้งหมดทำถึงไหน จึงอยากให้ฝ่ายค้านไปอ่านดูว่าสิ่งที่รัฐบาลและส.ว.ทำไปนั้นได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อถามว่าข้อเสนอทั้ง 3 แบบของสถาบันพระปกเกล้าฯมองว่าแบบไหนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด นายวิรัชกล่าวว่าในส่วนของรัฐบาลไม่ขัดข้องว่าจะเป็นแบบไหนก็ได้ ถ้าเรามาร่วมกันแก้ปัญหา แต่คงต้องรอประธานสภา รวมทั้งตัวแทนของทุกฝ่ายว่าจะเห็นชอบรูปแบบไหน แต่หากคิดว่าตรงนั้นไม่ร่วม ตรงนี้ไม่ร่วมบ้านเมืองก็เดินไม่ได้ ดังนั้นอะไรก็ตามขอให้ร่วมและอะไรที่คิดว่าไม่ดีก็มาแก้ไข ในเมื่อบอกว่าสภาถือเป็นทางออกเราก็ต้องมาเอาสภาเป็นทางออก เมื่อถามต่อว่าฝ่ายค้านระบุว่าเงื่อนไขเดียวที่จะปรองดองได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกอย่างเดียว นายวิรัชกล่าวว่า ยิ่งตั้งเงื่อนไขว่านายกฯต้องลาออก หากส.ส.เขาย้อนกลับไปว่าฝ่ายค้านก็ลาออกด้วยก่อนหรือไม่ ก็จะทำให้ยุ่งไปใหญ่ ฉะนั้นอะไรที่เป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้ก็ควรจะทำ และอะไรที่เป็นเงื่อนไขเป็นความขัดแย้งก็อย่าไปทำ เมื่อเขาเสนอให้นายกฯลาออกตนก็เสนอไปแล้วว่านายกฯต้องอยู่ต่อเพื่อแก้ไขปัญหา  และยังเป็นผู้มีเสียงสนับสนุนจากสภามากที่สุด ส่วนผู้ชุมนุมก็เป็นผู้ชุมนุมวันนี้เราต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 67 ล้านคน  หากให้นายกฯลาออกแล้วสภาเลือกกลับเข้ามาใหม่จะทำอย่างไร มีอะไรตรงไหนที่ไม่ให้นายกฯมาลงสมัครรับเลือกตั้ง นายวิรัชกล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัฐชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ทำประชามติว่าสมควรให้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง 2 ปี ว่า ตนยังไม่รู้เรื่องนี้ แต่ถ้าจะทำประชามติเรายังมีช่องที่อาจลงทุนน้อยที่สุดคือพ่วงไปกับการเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ทุกเรื่อง อยู่ที่กฎหมายให้อำนาจ บางอย่างจะไปรวมกันไม่ได้  หากจะถามว่าผู้นุมนุมควรหยุดหรือไม่ก็สามารถทำประชามติได้