รายงาน: ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ตามรอยศาสตร์พระราชา สืบสาน รักษา ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจฐานราก
โครงการชุมชนคุณธรรมฯ เป็นการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทาง และนำพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) อันเป็นฐานรากของสังคมชุมชนท้องถิ่นมาเกื้อหนุนในการขับเคลื่อนของงาน ระยะแรกนั้นโครงการมุ่งไปที่การส่งเสริมชุมชนด้านศีลธรรม หรือที่เรียกหมู่บ้านศีล 5 โดยกรมการศาสนาดำเนินการกิจกรรม จากนั้นโครงการได้เสริมเนื้องานด้านวัฒนธรรม แล้วต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ด้วยการส่งเสริมท่องเที่ยวในรูป บวร On Tour เรียนรู้เชิงวิถีวัฒนธรรมชุมชน ตลอดจนวิถีเชิงเกษตร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเยือน เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจชุมชน
ในจำนวนชุมชนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว พบว่าชุมชนวิถีชาติพันธุ์ เดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีธรรม โดยสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยนำชุมชนไปสู่ความเข้มแข็งอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือพลังบวร มีผู้นำชุมชน บ้านได้แก่ปราชญ์ชาวบ้าน วัดได้แก่พระสงฆ์ โรงเรียนได้แก่ครู อีกหน่วยงานราชการท้องถิ่น เช่นอบต. และคนในชุมชนที่ร่วมกันทำให้ชุมชนของตนเข้มแข็งทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ตัวอย่าง ชุมชนบ้านสำโรงเกียรติ ตำบลสำโรงเกียรติ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนถิ่นไทยเขมร อยู่รวมกันแบบเครือญาติ ยังคงอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมเขมรท้องถิ่น การละเล่นพื้นบ้าน “มะม็วด” มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สร้างรายได้จากการทอผ้าไหม ผ้าทอมือ ตะกร้าหวาย เสื่อต้นไหล เป็นชุมชนที่ยึดมั่นศาสนา ดำเนินชีวิตแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ชุมชนวัดนาหนอง ตำบลดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นชุมชนไท-ยวน มีอาชีพเกษตรเป็นหลัก จุดขายอยู่ที่สะพานนาข้าว-นาบัว ใครมาเยือนต้องมาเช็คอินถ่ายรูป มีต๋าหลาด (ตลาด) ให้เลือกซื้ออาหารไท-ยวน สินค้าเกษตร หัตถกรรมหลากหลายที่คนในชุมชนนำมาวางจำหน่าย (เสาร์-อาทิตย์) เดินออกจากตลาด ข้ามถนน เข้าวัดชมศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน นิทรรศการแสดงทอผ้าจกของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวน ถ้าไม่ปวดเมื่อย เดินขึ้นบันไดนาค 130 ขั้น สักการะรอยพระพุทธบาท หากมีเวลาเหลือนั่งรถหรือขี่จักรยานเที่ยวชมไร่แสวงสุข เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เกิดติดใจมีโฮมสเตย์ให้พักค้างแรม นับว่าเป็นชุมชนไท – ยวน ที่มีการบริหารจัดการด้านท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนได้อย่างครอบคลุมทีเดียว และดำเนินชีวิตแนววิถีพอเพียง
ชุมชนวัดฝั่งคลอง ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เป็นชุมชนชาวไทยพวน ที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ประเพณี มีการรวมตัวกันของ 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านฝั่งคลอง ชุมชนบ้านท่าแดง ชุมชนบ้านเกาะหวาย และชุมชนบ้านใหม่ โดยมีวัดฝั่งคลองเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางวัฒนธรรม มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ในความเป็นชุมชนนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินชีวิต ที่นี่มีผู้มาเยือนทัศนศึกษาไม่ขาดสาย
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่สัมผัสชุมชนชาติพันธุ์ ด้าน ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงมีแผนงานขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมตามรอยศาสตร์พระราชาเพื่อชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นที่ชุมชนต้นแบบนำร่องจังหวัดละ 1 ชุมชน รวม 76 ชุมชน และพร้อมขยายเป้าหมายเป็น 1,000 ชุมชน ในอนาคต
“นอกจากโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวรแล้ว ยังวางแผนจะต่อยอดจุดแข็งของชุมชน ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจฐานราก เช่น โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือ CPOT รวมถึงโครงการบวร On Tour แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน 76 จังหวัด ที่แต่ละชุมชนจะมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักและไปเยือน ทั้งได้สัมผัสการเกษตรแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการสร้างงานสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง” ดร.ยุพา ปลัดก.วัฒนธรรม กล่าว
วิถีชาติพันธุ์ตามรอยวิถีพอเพียง วธ.ขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมฯ ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจฐานราก