4 บิ๊กขบวนการสหกรณ์ ร่วมพลังจัดกิจกรรม “วันออมแห่งชาติ ประจำปี 2563” ส่งเสริมการออมสมาชิก-นักเรียน-ประชาชน “อลงกรณ์” ชูระบบสหกรณ์ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ต่อยอดพัฒนาประเทศ
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน “วันออมแห่งชาติ ประจำปี 2563” ซึ่งชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ร่วมกับสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสค.) บริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และสหกรณ์ทั่วประเทศ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมให้กับสมาชิกสหกรณ์ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยมีสมาชิกสหกรณ์ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ผนึกกำลังร่วมกับ สสท. ชสอ. ชสค. และบริษัทสหประกันชีวิตฯ ถือเป็นบิ๊ก 4 ของขบวนการสหกรณ์ด้านการออมเงิน ที่จะได้มีการจัดตั้งสถาบันสหกรณ์ (Co-op Academy) ในเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อสนับสนุนด้านองค์ความรู้เทคโนโลยี โดยปัจจุบัน มีการนำฟินเทค (Fintech) มาใช้กับการเงินในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งสหกรณ์ได้ก้าวเข้าสายุคดิจิทัล และจะใช่เครื่องมือเหล่านี้ส่งเสริมการออม รวมทั้งกิจกรรมอบรมบ่มเพาะสมาชิกสหกรณ์ ทั้งนี้ ปีนี้จะเป็นปีสำคัญ เพราะเป็นก้าวใหม่สู่มิติใหม่ของขวนการสหกรณ์ ที่จะเดินหน้าตามเป้าหมาย ที่ต้องการให้สหกรณ์เป็นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
หากดูตัวเลขการออมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในรูปบัญชีเงินฝาก โดยส่วนใหญ่การออมระบบเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ แม้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 80 ล้านบัญชี แต่มีจำนวนเงินออมต่ำมาก ซึ่งบัญชี 80% มีเงินออมเพียง 3,000 กว่าบาท 4 ล้านกว่าบัญชี มีเงินเฉลี่ยต่ำกว่า 50 บาท เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เงินออมเป็นตัวชี้วัดให้เห็นถึงสุขภาพทางเศรษฐกิจ และยิ่งเจอวิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้มีผลกระทบมากขึ้น เพราะรายได้ลดลง เศรษฐกิจหดตัว ก็ไม่เหลือเงินออม แต่มีเพียงระบบสหกรณ์เท่านั้น ที่มีจำนวนเฉลี่ยของเงินออมในรูปของหุ้น หรือเงินฝาก สูงกว่า 100 เท่า และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งได้พิสูจน์แล้วใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤตโควิด-19 สหกรณ์ยังคงอยู่ได้ แทบไม่มีล้มหายตายจาก ในขณะที่ระบบสถาบันการเงินอื่นๆ ทั่วโลกล้มจำนวนมาก
ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นศักยภาพของสหกรณ์ และหวังว่าจะร่วมเสริมสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา คือ “โมเดลเศรษฐกิจสหกรณ์” หรือ “Co-op Academy” อย่างน้อยการเริ่มต้นด้วยสมาชิก 12 ล้านครัวเรือน ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของประชาชนทั้งประเทศ และมีอุดมการณ์ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญทุกคนเป็นเจ้าของสถาบันการเงิน การออม ซึ่งมีความมั่นคง และมีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการออม การเงิน ดังนั้น ขบวนการสหกรณ์ จะเป็นตัวพิศุจน์ให้เห็นในการก้าวสู่การเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ทางเศรษฐกิจ และสังคม ในการฟื้นฟู และต่อยอดการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่า
ด้านพล.ต.ท.วิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล ประธานกรรมการดำเนินการ ชสอ. กล่าวว่า ในปี 2562 สหกรณ์ไทยเงินออมกว่า 2.44 ล้านล้านบาท และเงินออมเฉลี่ยต่อสมาชิกกว่า 207,000 บาท โดย ชสอ. ได้จัดงานวันออมแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยในระยะแรกร่วมกับ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้กิจกรรมวันออมแห่งชาติ ได้แก่ กิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล FSCT Savings Run ครั้งที่ 1 ณ บริเวณลานทะเลสาบเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมเดิน-วิ่งฯ มอบให้มูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อซื้อเครื่องมือแพทย์สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ และกิจกรรมสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ “ใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า ทางรอดหลังวิกฤตโควิด–19” โดยนายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เจ้าของแบรนด์ศิริวัฒน์แซนด์วิช อดีตนักธุรกิจพันล้านและพลิกฟื้นจากวิกฤติต้มยำกุ้ง และ ทอล์คโชว์ “คุณค่าของการออม ทางรอดหลังวิกฤตโควิด–19” โดยดร.อภิชาติ ดำดี นักพูดระดับชาติ ทายาทสหกรณ์ และการมอบโล่เกียรติคุณให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีการส่งเสริมการออม ประจำปี 2563 โดยตั้งเป้าการรณรงค์ให้สหกรณ์ทั่วประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการออมในภาคสหกรณ์เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท
ขณะที่นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการ สสท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์บริการ สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า และสหกรณ์นิคม รวมทั้งสิ้นกว่า 8,000 สหกรณ์ สมาชิกกว่า 12 ล้านคน โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นสหกรณ์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการออมโดยตรง อย่างไรก็ตามสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ อีกทั้ง 5 ประเภท ก็ได้ดำเนินการส่งเสริมการออมให้กับสมาชิกเช่นเดียวกัน แม้จะมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของสหกรณ์ที่แตกต่างจากสหกรณ์ออมทรัพย์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรนำของขบวนการสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ไปสู่ความเข้มแข็ง โดยร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมของขบวนการสหกรณ์